ตามติดชีวิตชาวนา - ค้นหาที่มาของข้าวในจานด้วยแอพพลิเคชั่น Folkrice


            คนรุ่นใหม่ที่ออกสตาร์ทด้วยเงินไม่ได้ ก็ต้องสตาร์ทด้วยฝัน”
            แอ็คชั่น—อนุกูล ทรายเพชร กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการทำแอพฯ folkrice ที่เป็นตลาดกลางเสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างเกษตรกรและกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ซึ่งความฝันของเขาคือเรื่องข้าวและการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เนื่องจากเขาเติบโตมาในครอบครัวที่ทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก จึงอยากกลับไปเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด แต่เขาตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ไม่จน


            คนส่วนใหญ่มักมีคำถามว่า ทำไมเกษตรกรไทยถึงยังจน การเกษตรแบบยั่งยืนเป็นแบบไหน ออร์แกนิกคืออะไร จะแก้ปัญหาเกษตรกรได้อย่างไร แต่กลับไม่มีใครหาคำตอบอย่างจริงจัง เขาจึงต้องการตอบคำถามเหล่านี้ผ่านต้นทุนที่ตนเองมี ทั้งความรู้ด้านการตลาดและความรู้ด้านเทคโนโลยีจากเพื่อนที่สามารถทำซอฟต์แวร์เขียนโปรแกรมได้ นั่นคือ ก่อ—ธนานนท์ เงินถาวร จนเกิดเป็นไอเดียในการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับการทำการเกษตรของชาวนาไทยผ่านแอพลิเคชั่น ผ่านสื่อออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก พวกเขามั่นใจว่าแอพฯ นี้จะช่วยตอบคำถามที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างชัดเจน และรวดเร็วเพียงสแกน QR Code ที่อยู่นตัวสินค้า

            ธนานนท์เล่าว่า folkrice ได้รับแนวคิดมาจากโครงการหนึ่งในประเทศไต้หวันที่สนับสนุนให้คนนั่งรถไฟฟ้าไปซื้อสินค้าที่ฟาร์มเกษตรเพื่อให้ได้สินค้าราคาถูก และทำให้กำไรคืนสู่เกษตรกรโดยตรง เมื่อกลับมามองที่ไทยเรามีภาคการเกษตรขนาดใหญ่และเกษตรกรรายย่อยมากมายแต่คนส่วนใหญ่กลับซื้อสินค้าผ่านคนกลาง ทำให้กำไรไปไม่ถึงผู้ผลิต
            folkrice จึงสร้างเครื่องมือที่จะทำให้คนเมืองซื้อหาสินค้าจากเกษตรกรได้แบบตัวต่อตัว และชาวนายังมีพื้นที่สำหรับเล่าเรื่องราวของตัวเอง ให้คนเมืองที่ไม่เคยรู้จักการทำนาได้เห็นกระบวนการผลิต เห็นปัญหา เห็นความใส่ใจของผู้ผลิตอาหารได้ง่ายๆ ผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟน




            เพราะเป้าหมายที่ folkrice ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นคือการทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร โดยเริ่มจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่กำลังจะสูญพันธ์เพราะไม่มีคนกิน ไม่มีคนปลูก รวมถึงการสื่อสารให้คนเข้าใจและหันมาสนับสนุนเกษตรกรน้ำดี เพื่อทำให้อาชีพเกษตรกรมีความมั่นคง ส่งผลให้เกิดการเกษตรที่ยั่งยืนในสังคมไทย เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์จะหมดโลกไปเมื่อไหร่ แต่ในเมื่อเรามีทางเลือกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรได้ คงไม่เสียหายอะไรหากเราจะลองเลือกใช้หนทางนี้ดู

ติดตามความยั่งยืนของอาหารและการเกษตรในเมืองไทยที่ folkrice 


 จากคอลัมน์ Startup : giraffe Magazine 32— Robot Issue

อ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe