เณรน้อยคืนจอ กับสาระที่คุณอาจจะไม่อยากรู้แต่เราอยากจะเล่า The Return Of Ikkyu-San The Animation



ช่วงหยุดยาวหลายวันก็นั่งพักผ่อนเฝ้าบ้าน อันเป็นคำสุภาพของคำว่าไม่มีเงินไปเที่ยว...ระหว่างที่ปล่อยให้เสียงทีวีดังตามหน้าที่อุปกรณ์ฆ่าเวลา เสียงเพลงอันแสนคุ้นเคยเพลงหนึ่งก็ดังขึ้น


*ซุคิ ซุคิ้ ซุคิ ซุคิ้ ซุคิ ซุคิ

อา อิ ชิ เต รุ

ซุคิ ซุคิ้ ซุคิ ซุคิ้ ซุคิ ซุคิ

อิค คิ อิว ซัง*

อาจจะเป็นการผันวรรณยุกต์ที่ผิดหลักภาษาไปบ้าง แต่ดีกว่า สุขิ จริงๆ นะ
จะรู้สึกถึงบุญ... สุขี อัตตานัง ปริหะรันตุ *พนมมือรับการแผ่เมตตา*



ขุ่นพระ!!! (ก็พระจริงๆ นะ) การ์ตูนอิคคิวซังกลับมาฉายอีกครั้งแล้วหรือนี่ นี่มันปี 2559 แล้วนะพี่น้อง อะไรทำให้อนิเมชั่นในความทรงจำของเด็กยุค 90s กลับมาฉายอีกครั้งล่ะเนี่ย ? พอเปิดทีวีทิ้งไว้อีกระยะก็ได้ความว่าทางช่องนำการ์ตูนเรื่องนี้มาฉายอีกครั้งอันเนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งเสริมศีลธรรมอันดีจึงเหมาะสมที่จะให้เด็กๆ ได้ชม

ยอมรับว่าฟังประโยคหลังสุดแล้วสะดุดใจนิดหน่อย แต่ก่อนจะเมาท์มอยจนชวนดราม่า เราย้อนกลับไปดูกันก่อนดีกว่าว่าที่มาของอนิเมชั่น อิคคิวซัง มีจุดเริ่มต้นจากอะไรกันแน่



ภาพวาดเหมือนของ อิคคิว โซจุน



อิคคิวซัง เป็นอนิเมชั่น ที่นำโครงเรื่องและตัวละครส่วนหนึ่งมาจาก พระนิกายเซน อิคคิว โซจุน อันเป็นพระสงฆ์ชื่อดังของทางญี่ปุ่นในด้านปฏิบัติตนดุจอลัชชี  ดังเช่น ท่านอิคคิวนั้นนิยมดื่มเหล้าและทำตัวเมามายเป็นประจำ ในชีวิตของท่านก็มีความสัมพันธ์กับหญิงสาวหลายคนเป็นอาทิ แต่ท่านเป็นผู้เข้าใจถึงคำสอนในนิกายเซนอย่างดี และการทำตัวดุจอลัชชีนั้นเกิดจากความเบื่อหน่ายของพระในยุคสมัยนั้นที่อยู่อย่างสุขสบายเนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านทรัพย์สินจากทั้งชาวบ้านทั่วไปหรือแม้แต่โชกุนก็ตาม ด้วยความที่เข้าถึงคำสอนอย่างมาก ท่านอิคคิวจึงได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสในวัดสำคัญของยุคมุโรมาจิไปในที่สุด 

ถ้าสนใจรายละเอียดเล็กน้อยจากประวัติศาสตร์จริงๆ ทางทีมงานมินิมอร์ขอแนะนำให้อ่าน
โดยคุณ Jedi Consular จากเว็บไซต์พันทิป จ้ะ



ภาพจาก : http://www.toei-anim.co.jp/lineup/tv/ikkyu/


กลับมาฝั่งอนิเมชั่นกันต่อ อิคคิวซัง ถูกสร้างโดย โตเอะ อนิเมชั่น บริษัทอนิเมชั่นยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ออกอากาศยาวจนถึง 28 มิถุนายน 2525 จำนวนตอนรวมกันมากถึง 296 ตอน และมีตอนพิเศษอีกจำนวนหนึ่ง (ทางทีวีไทยฉายปนกับตอนปกติ) ถือเป็นอนิเมชั่นที่ทาง โตเอะ อนิเมชั่น จัดทำจำนวนตอนมามากที่สุด ก่อนที่ 
One Piece จะทำลายสถิตินี้ในปี พ.ศ. 2550 เลยไม่แปลกนักที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่า "ทำไมตอนที่เคยดูมันไม่ซ้ำมาฉายใหม่สักที (ฟะ)"


ด้วยความที่เป็นการ์ตูนสดใสแทบจะไร้ความรุนแรง ทำให้อิคคิวซังได้รับการฉายไปหลายประเทศ ทั้งในโซนเอเซีย ไม่ว่าจะเป็น ไทย / มาเลเซีย / ไต้หวัน หรือแม้แต่จีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงบางประเทศในโซนยุโรปและอเมริกาใต้ด้วย เห็นได้ว่าจะบ้านเราหรือบ้านอื่นก็ค่อนข้างคิดตรงกันในจุดนี้ล่ะ

แต่ก็ใช่ว่าอิคคิวซังจะไม่พูดถึงความรุนแรงเสียเลย ตัวอย่างเช่นตอนที่เราได้นั่งดูในการรีรันครั้งนี้ เป็นตอนที่พูดถึงยุคสงคราม ซึ่งไพร่พลต่างอดอยากจากการก่อสงครามจนอิคคิวซังใช้ปัญญาของตนในการช่วยเหลือผู้คน แต่สุดท้ายวังวนของการรบก็ทำให้ประชาชนที่อดอยากต้องก้าวเข้าสู่สนามรบอยู่ดี ท้ายตอนอิคคิวซังจึงเลือกเดินไปกลางเมืองพร้อมนำกะโหลกใส่ปลายไม้ ถือเดินไปทั่วเมืองต่างไม้ขักขระ พร้อมเตือนใจในวันปีใหม่ เลยโดนประชาชนกลุ่มผู้มีอันจะกินปาหินใส่จนบาดเจ็บ... เจ็บตัวรุนแรงและได้บทเรียนมรณะสติด้วย *_/|\_ สาธุ* 


ไม้ขักขระ ก็คือไม้เท้าพร้อมสำหรับพระนิกายมหายาน
แบบที่เราเห็นพระถังซัมจั๋งถือติดตัวนั่นล่ะ

(ภาพจาก ภาพยนตร์ Monkey King 2)




กลับมาสู่โซนสาระที่เราอยากเล่ากันต่อ ถึงแม้หลายคนจะเข้าใจว่า อิคคิวซัง น่าจะเป็นหนังสือการ์ตูนมาก่อน แต่ในความจริงอิคคิวซัง เป็นอนิเมชั่นที่ไม่มีหนังสือการ์ตูนออกมาจำหน่ายแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้น อิคคิวซัง กลับถูกดัดแปลงเป็นสื่อแบบอื่นที่แม้แต่มินิมอร์ก็แปลกใจว่า มันเคยโดนดัดแปลงไปเป็นสิ่งเหล่านี้ด้วยเหรอ ? สิ่งที่เราค้นมาได้ก็มีของต่างๆ ดังนี้


ภาพจาก Amazon.com



เกมอิคคิวซังแนวตอบคำถาม บนเครื่อง Playstation 1 ในซีรี่ส์เกมราคาถูก ไม่แน่ใจว่าเป็นปริศนาธรรมหรือไม่






ละครทีวีคนแสดงที่ถูกจัดทำขึ้นสองตอน ทั้งยังได้ ฟุคุ สุซุกิ ดาราเด็กชื่อดังของญี่ปุ่นในยุคนี้มานำแสดงเป็น อิคคิวซัง ถ้าเทียบกับเมืองไทยก็ดังประมาณน้องแม็คล่ะ (ถ้าสนใจเรื่องราวของละครญี่ปุ่นก็อย่าลืมติดตาม Minimore Originals Sakura Drama  ที่จะเจาะลึกโลกละครของญี่ปุ่นกันได้เลย)



ภาพจาก http://rocketnews24.com/


ทางประเทศจีนก็จัดทำอนิเมชั่นเวอร์ชั่นภาพยนตร์ออกมาฉายในประเทศจีนนำตัวละครภาคดั้งเดิมมาพ่วงเข้ากับตัวละครใหม่ก็มี *ขอลิขสิทธิ์ทำใหม่ไม่ได้ก็อปนะเธอ*





อ้อ... นอกจากนี้อิคคิวซังยังเคยออกเป็นแผ่นวีซีดีถูกต้องลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยนะ!  แต่ตอนนี้อาจจะหาแผ่นของทางบริษัท EVS ดูแบบครบชุดยากสักนิดนะ 

แล้วถ้าขอให้ทีมงานมินิมอร์ชี้ช่องดูฟรีกันในอินเตอร์เน็ตนี่ #ไม่น่ารักเลย นะ *เรียกบอสจากกรมทรัพย์สินทางปัญญามาให้อ่านบทความ*


ภาพจากทวิตเตอร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา



ถือว่าเป็นเกร็ดเล็กน้อยต้อนรับการกลับมาของการฉายอิคคิวซังบนหน้าจอทีวีในไทย แม้ว่าในประเทศไทยเราจะไม่ค่อยยอมรับการเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจเกี่ยวกับการ์ตูน ไม่ว่าจะในแง่สื่อสิ่งพิมพ์หรืออนิเมชั่นก็ตามที  แต่บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคนหยิบยกเอาอิคคิวซังมาพูดว่าเป็นเรื่องสอนใจสำหรับเด็ก(และผู้ใหญ่) เสียอย่างนั้น!

แต่นั่นคงเป็นมุมมองที่แคบเกินไปเพราะเด็กยุค 90s ในวันก่อน ได้ก้าวมาเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานในตอนนี้ ส่งผลให้ เกม / การ์ตูน กลายเป็นกิจกรรมบันเทิงทางเลือกอย่างหนึ่ง ซึ่งในช่วงหลังมินิมอร์ก็เห็นอีกว่า กิจกรรมเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนสถานะจากเดิมที่เป็น วัฒนธรรมย่อย (Sub Culture) ที่ดูเป็นกลุ่มปิดไม่ค่อยมีคนนอกอยากย่างกราย จนกลายเป็น วัฒนธรรมป็อปที่กำลังจะมาถึง (Upcoming Pop Culture) และมีแนวโน้มที่จะเป็นวัฒนธรรมป๊อบหลักได้เลยนะ เห็นได้ชัดจากกิจกรรมต่างๆ ในบ้านเราที่มีกิจกรรมคาบเกี่ยวกับเรื่องเกม/การ์ตูนมากขึ้น ดูน่าสนุกไหมล่ะ 

ก่อนที่การ์ตูนจะกลายเป็นวัฒนธรรมอันแสนธรรมดา ละลาย แทรกซึมไปกับวิถีชีวิตของเรา อย่างเช่น อเมริกา หรือ ญี่ปุ่น ก่อนหน้านั้นเรามีเรื่องให้ต้องใส่ใจและช่วยกันพัฒนากันอีกแยะ 

Minimore Makers เองก็เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เพื่อนๆ ซึ่งมีความชอบเกี่ยวกับการ์ตูน ได้แสดงผลงานเหมือนกัน แล้วเราจะหาเรื่องราวสนุก เกี่ยวกับวัฒนธรรมการ์ตูนมาฝากอีก เพราะมินิมอร์เองก็โตมากับเพื่อนๆ ตัวการ์ตูนในหนังสือและบนจอโทรทัศน์ พร้อมๆ กับทุกคนไง :>


ที่มาข้อมูล
toei-anim.co.jp
rocketnews24.com
news.walkerplus.com