ซากุระ กลับมาแล้ว! จงกลับคืนสู่ความติ่ง CLAMP ของเจ้า เพราะภาคใหม่เตรียม RELEASE!


สาวน้อยเวทมนตร์สุดน่ารัก ที่มาพร้อมกับคอสตูมไม่เคยซ้ำซาก! ไม้คฑาสีชมพูติดปีก และบรรดาไพ่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังอันยากจะประเมินได้ คิโนะโมโตะ ซากุระ! ตัวละครจาก Card Captor Sakura ขวัญใจใครหลายๆ คนจากยุค 90s กลับมาอีกครั้งพร้อมหนังสือการ์ตูนภาคต่อ!  เพราะอะไรงานที่ผ่านไปนานแล้วตั้งหลายยยปี ถึงยังครองใจคนอยู่ ปริศนานี้คนที่จะไขได้ก็ต้องเป็นผู้เขียนอย่าง CLAMP เท่านั้นแหละ เราไปทำความรู้จักกลุ่มนักเขียนหญิงผู้ทรงอิทธิพลกัน



***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องผลงานการ์ตูนของ CLAMP***

(ภาพจาก : https://twitter.com/CLAMP_news/status/694762803404509185 )


ใช่แล้วพี่น้อง! การ์ตูนเรื่องนี้อายุ 20 ปีแล้ว *หายาย้อมผมแพร็บ* เมื่อนิตยสารการ์ตูน Nakayoshi ได้ลงประกาศยืนยันว่า Card Captor Sakura หรือ ชื่อลิขสิทธิ์ใน ประเทศไทยว่า ซากุระ มือปราบไพ่ทาโรต์ กำลังจะถูกเขียนภาคใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยเนื้อหาจะเป็นตอนที่ซากุระเข้าเรียนในชั้นมัธยมต้น  เพียงเท่านี้เหล่าเด็กที่เคยดูการ์ตูนในยุค  90 (รวมถึงเด็กไทยรุ่นหลังๆ ที่เคยได้ ชม) ออกมาแสดงความดีใจกันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว 

อะไรที่ทำ ให้พวกเขาดีใจเหรอ ? เราไม่คิดว่าเป็นเพราะการ์ตูนสาวน้อยเวทมนตร์กลับมาอีกครั้ง เพราะถ้าเอาเรื่องที่อยู่ในแนวคล้ายๆ กันอย่าง เซเลอร์มูน ก็กลับมาสร้างกระแสสาวน้อยเวทมนตร์กันตั้งแต่ปีก่อนแล้วนะ แต่มันหมายถึงการที่พวกเขาจะได้เห็นผลงานของกลุ่มนักเขียน CLAMP ต่างหาก

แล้วอะไรที่ทำให้งานของกลุ่มนักเขียนหญิงล้วนอย่าง CLAMP ได้รับความนิยมยาวนาน ? 
มินิมอร์คิดว่าเหตุผลที่จะกล่าวต่อไปนี้ ล่ะคือเหตุที่การ์ตูนพวกเขาฮิตติดลมข้ามยุคมาถึง ณ บัดนาว


1 - จับกระแสในยุคมาต่อยอดเป็นเรื่องราวใหม่


(ภาพจาก : http://www.s-break.jp/PRIZE/item030.html )

ถ้ามองผิวเผินอาจจะเห็นกันว่า CLAMP เขียนการ์ตูนตามใจตัวเอง แต่คงต้องบอกว่าถูกต้องแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ... เพราะในเรื่องที่ฮิตติดใจแฟนๆ นั้น แอบเกาะกระแสตลาดในแต่ละยุคอยู่ตลอดเลย 

อย่างเรื่อง X พลังล้างโลก ก็จับเอาประเด็นเรื่องคำทำนายที่ว่าโลกจะแตกในปี 1999 ที่ฮิตมาตลอดในช่วงยุค 90 หรือช่วงก่อน Y2K (ยังจำได้ไหม?) มาขยายประเด็นและตีความใหม่จนกลายสงครามระหว่าง มังกรฟ้า และ มังกรธรณีไป

ในทีมมินิมอร์มีคนที่เฝ้ารอปี1999 อย่างใจจดใจจ่อว่าจะมีเรื่องอู้หูอ้าหาอย่างในการ์ตูนเรื่อง X-1999 มั้ย สรุปคือไม่ เราผ่านมันมาได้ y2k เช่นกัน ใจหนึ่งของทีมงานผู้นั้นรู้สึกโล่งใจ แต่อีกใจที่ยังอ่อนเยาว์ *ใส่อีโมใสใส* รู้สึกเสียดายความแฟนตาซีเหลือเกิน *เอาชอล์กขีดพื้นทำตารางตั้งเตโดดเล่นแทนวางเขตอาคม* 

(ภาพจาก : http://www.darkhorse.com/Books/16-763/
Magic-Knight-Rayearth-Omnibus-Edition )

ข้ามไปอีกเรื่องก็จะเป็น Magic Knight Rayearth เรื่องราวเกี่ยวกับ เด็กหญิงต่างโรงเรียนสามคนกลับโดนวาร์ปไปยังโลกต่างมิติ เซฟีโร่ ในฐานะผู้กล้าที่สามารถกอบกู้โลกต่างมิติใบนี้ได้ ในช่วงนั้นกระแสอนิเมชั่นแนวแฟนตาซีผจญภัยกับแนวหุ่นยนต์มีอยู่ในตลาดเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่ง Clamp ก็แต่งเรื่อง เรย์เอิร์ธ ออกมาตอบโจทย์ครบถ้วนตั้งแต่การเดินทางข้ามมิติไปโลกแฟนตาซีและช่วงท้ายตัวเอกก็ได้ใช้เทพจักรกลในการต่อสู้กับตัวร้ายของเรื่อง

เรื่องนี้นอกจากมีสาวๆ น่ารักและกล้าหาญ ยังมีหนุ่มหล่อเก่งกาจด้วย! แต่ทั้งหมดน่ะหลบไป ชิดในหน่อย เปิดทางให้ท่านโมโคนะ *โค้งคำนับทำมุม90องศา* โมโคนะคืออะไร? ไม่รู้! เป็นเทพเจ้า!? เป็นไอ้ตัวนุ่มนิ่มทรงคล้ายข้าวปั้น (ที่ไม่ผ่าน QC เพราะยาวไป) ร้องได้แต่ปู้วๆ? แต่เจ้าตัวนี้กลายเป็นมาสคอตเด่นตัวหนึ่งของ CLAMP ไปเลย...แล้วยังมีปรากฏตัวในเรื่องอื่นอีก อื้อหือ...


(ภาพจาก : www.tigatime.com )

หรือถ้ามาในช่วงปี 2000 ที่คนเราสามารถเสพติดเรื่องใดก็ตามได้โดยง่าย CLAMP ก็จัดเรื่อง xxxHolic ที่ดำเนินเรื่องให้ ยูโกะ หนึ่งในตัวเอกของเรื่องออกมาใช้พลังลี้ลับในการแก้ไขปัญหาการ ‘อาการติด’ กิจกรรมใดๆ ก็ตาม อย่างเช่น ติดเน็ต เป็นอาทิ ... อินเทรนด์ไม่มีตกจริงๆ ขอบอก *ทำไมอยู่ๆ ก็สะดุ้ง*

2 - รักไร้พรมแดน

ไม่ใช่พรหมแดน ท่านนี้ด้วย
(ภาพจาก : https://www.kkbox.com/ )


เปล่านะ เราไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรากำลังพูดถึงเรื่องคู่รักในจักรวาลที่ CLAMP เปิดพื้นที่ให้ความรักกว้างมากๆ เพราะทุกเรื่องจะต้องมีเรื่องรักๆ ให้คนอ่านลุ้นๆ เช่น รักระหว่างคนต่างศักดิ์ / รักระหว่างคนเพศเดียวกัน / รักข้ามเผ่าพันธุ์ หรือถ้าอธิบายสั้นๆคือ CLAMP ขยาย นิยามรัก ให้มากกว่าที่จะจบแค่ “คู่พระนางตกลงคบหากัน” แต่เป็น “ทั้งสอง(ไม่ว่าจะเพศ/เผ่าพันธุ์ไหน)ได้ตกลงคบหากัน” นั่นเอง

คู่รักเพศชายคู่นี้ ไม่ได้หยุดกันแค่การจิ้นของแฟนคลับนะ... It's official!

(ภาพจาก : www.dexchannel.com)


ตัวอย่างเช่น เรื่อง Card Captor Sakura มีความรักอยู่หลายคู่หลายแบบมาก เช่น ซากุระ กับ เชารัน  (คู่พระนาง) / โทโมโยะ กับ ซากุระ (รักข้างเดียวแถมเป็นเพศหญิงทั้งคู่)  /คุณโทยะ กับ คุณยูกิโตะ  (ผู้ชายรักกัน)  หรือ ถ้าช่วงต้นของเรื่องก็มีความเข้าใจผิดกันของตัวคู่พระนางที่ไปชอบตัวละครผู้ชายอายุมากกว่าอีกคนหนึ่ง จนเหมือนจะเป็นเรื่อง รักข้ามรุ่น กันอีกต่างหาก

Clover – หนึ่งในงานที่แฟนๆ หลายคนบอกว่าลุ่มลึกเหลือเกิน


ข้ามไปเรื่อง Chobits ก็มีคู่พระนางเป็น มนุษย์กับหุ่นยนต์ จนกลายเป็นการ์ตูนที่ตั้งคำถามเชิงปรัชญาว่าคุณจะสามารถรักสิ่งที่ "ไม่มีชีวิตได้หรือไม่" ซึ่งถ้าลงลึกไปเรื่องอื่นๆ ก็มีอะไรซับซ้อนกว่านี้อีกด้วย อย่างเรื่อง  Clover นี้พูดถึงความรักในแง่มุมลึก อย่างเช่น ถ้าคนที่รู้ตัวว่าจะต้องตายแน่ๆ ในวันหนึ่ง สุดท้ายเธอจะเลือกรักใครหรือไม่ หรืออีกตัวละครหนึ่งในเรื่องเดียวกัน ยอมเอาทั้งหน้าที่การงานและชีวิตตัวเองเข้ามาเสี่ยงเพื่อให้คนที่ตัวของเขาห่วงใยได้ใช้ชีวิตแบบที่สมควร  (ใครบอกว่าการ์ตูนเป็นแค่เรื่องของเด็กๆ นะ?)

อ๊ะๆ แต่เห็นเขียนเรื่องรักหลายมุมมองขนาดนี้ ขอโทษนะคะคุณผู้โช้มมม ฉากอัศจรรย์ของพวกเจ้าป้านี่แทบจะไม่เห็นอะไรเลยค่ะคู้น! ถูกใจคอละครไทยแบบยุคเก่าที่เห็นแค่ฉากตัวเอกอยู่แถวห้องนอนแล้วกล้องก็แพนขึ้นเหลือเกินค่าาาา!

ที่สำคัญคือ CLAMP ไม่เคยบอกว่าพฤติกรรมของคู่รักเหล่านี้ผิดแผกจากคนในสังคมทั่วไป พวกเขาเป็นแค่คนสองคนที่มีความรักความหวังดีให้กันและกันก็แค่นั้นเอง #LoveWon


3 - หักมุมอย่างไม่น่าเชื่อ


ลายเซ็นสำคัญของ CLAMP อีกหนึ่งอย่าง คงไม่พ้นเรื่องการเดินเรื่องที่หักมุมเกินคาดเดาจากช่วงต้นเรื่องที่ดำเนินมาในตอนแรก จนบางคนอาจจะต้องหัวหมุนและกลับไปดูใหม่แต่เริ่มว่า นี่คนเขียนแกแอบวางหมากมาตั้งแต่เริ่มหรือเปล่า

อย่างเรื่อง Magic Knight Rayearth ที่ตอนต้นขององก์แรกบอกเล่าว่ากลุ่มตัวเอกคือผู้กล้าที่ถูกเรียกตัวมาเพื่อปราบตัวร้ายเพื่อปกป้องโลกต่างมิติเอาไว้ ตามสไตล์การ์ตูนใสๆ แต่ตอนท้ายองก์ดังกล่าวกับเฉลยว่า แท้จริงแล้วคนทีเรียกตัวผู้กล้ามาน่ะ เรียกมาเพราะตัวเธออยากให้ตัวเอกทั้งสามมาสังหารเธอ เพื่อให้คนรักที่พยายามปกป้องเธอไม่ต้องมาลำบากกันอีก ...อึ้งเลยนะมาแบบนี้เนี่ย

หรือ X พลังล้างโลก ที่ชงมาว่า กลุ่มมังกรฟ้าของพระเอกเนี่ย เป็นกลุ่มปกป้องโลกนะเฟ้ย แต่กลุ่มมังกรธรณีเป็นตัวร้ายที่อยากกวาดล้างมนุษย์ให้หมดโลก พอเรื่องดำเนินไปถึงจุดหนึ่งเราถึงได้รู้ว่า ...ภาวะจริงๆ กลับด้านแฮะ เพราะมังกรฟ้าที่หมายช่วยมนุษย์ จะทำให้โลกนี้แย่ลง ส่วนมังกรธรณีน่ะอยากลดจำนวนประชากรเพื่อช่วยโลกได้ฟื้นตัวต่างหาก 


นึกว่าจะใสจนจบ มาหักมุมตอนหมอนี่โผล่มานี่ล่ะ
(ภาพจาก : http://shop.dexclub.com)


แม้แต่การ์ตูนแนวใสๆ อย่าง Card Captor Sakura ก็มีอะไรเซอร์ไพรส์คนอ่านเหมือนกันนะ จากที่เป็นการ์ตูนเด็กน้อยใสๆ ตอนหลังมาเฉลยว่า ที่เด็กหญิงซากุระต้องค่อยๆ เก็บการ์ดเนี่ยเพื่อให้เธอได้เก็บเลเวลและรับมือกับพลังยิ่งใหญ่แบบที่คนอ่านยังคาดไม่ถึงยังไงล่ะ 



...เซอร์ไพรส์กันรัวๆ เลยใช่ไหมล่ะคุณผู้อ่าน แต่เพราะแบบนี้แหละทำให้คนอ่านได้ลุ้นเสมอว่าทิศทางของเรื่องต่อๆ ไปจะออกมาในโทนไหนกันแน่!


4 - เปิดพื้นที่ให้ "จิ้น" เสมอ

แน่นอนว่าการ์ตูนทุกเรื่องย่อมมีแฟนติดตาม และเหล่าแฟน หรือ แฟนด้อม นี้ก็มักจะมีความชื่นชมของตัวเอง จนก่อให้เกิดการเขียนภาพวาด หรือ แต่งเรื่องกันเองตามแต่ความชอบของแต่ละท่าน ซึ่งนักเขียนบางคนก็ไม่ชอบกลุ่มแฟนที่ทำแบบนี้เท่าใดนัก

สึบาสะ สงครามเทพต่างมิติ การ์ตูนที่ CLAMP จัด "แฟนเซอร์วิส" หนักมาก


(ภาพจาก : http://www.tigatime.com)

แต่ CLAMP ไม่คิดแบบนั้น พวกเธอมีพื้นที่ให้แฟนด้อมให้สมหวังอยู่เสมอ เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากการ์ตูนเรื่อง Tsubasa: Reservoir Chronicle (สึบาสะ สงครามเทพต่างมิติ) ที่เล่นกับพลอทเดินทางข้ามโลกต่างมิติ และใช้ตัวละครที่เคยปรากฏตัวในผลงานเก่าๆ ให้กลับมาโลดแล่น และจับเอาคู่จิ้นที่แฟนคลับเชียร์มาให้คู่กันจริงๆ ซะเลยในเรื่องนี้ … ตัวอย่างเช่น คู่จิ้นจาก X พลังล้างโลก ที่ในเรื่องเดิมแทงเลยว่า ผู้ชายตายแน่นอน แต่มาใน Tsubasa บอกกันชัดเจนว่าในโลกคู่ขนาน พวกเขาแต่งงานกันมาหลายปีแล้วล่ะ  ...บ้าจริง มันฟินมากเลยพี่ชาย *จิกหมอน*


คุณนานาเสะ โอคาวะ ผู้ทำหน้าที่เขียนบทให้กับทีม CLAMP
ถ่ายภาพร่วมกับคอสเพลย์เยอร์ชาวไต้หวัน

(ภาพจาก :  http://www.animenewsnetwork.com/feature/2006-03-02/7)



ส่วนหนึ่งที่ CLAMP ไม่มีท่าทีต่อต้านกลุ่มแฟนคลับ แถมยังแอบหยอดแฟนเซอร์วิสให้บ่อยครั้ง คงเป็นเพราะกลุ่มของ CLAMP เองก็เริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักเขียนการ์ตูนในฐานะคนเขียนโดจินชิ (การ์ตูนทำมือ) นั่นเอง กลุ่มแฟนคลับนั้นก็คงไม่ต่างอะไรกับ รุ่นน้อง ของพวกเธอนั่นเอง 


5 – การทำงานแบบเป็นทีม


หัวข้อนี้อาจจะดูเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ยากยิ่ง และประเด็นนี้น่าจะเป็นแนวทางสำคัญหนึ่งที่ทำให้ทาง สมาชิกทั้ง 4 ของ Clamp อันประกอบไปด้วย คุณอาเกฮะ โอคาวะ / คุณโมโคนะ / คุณเนโกอิ สึบากิ / คุณอิการาชิ ซัทสึกิ สามารถรักษาความนิยมเอาไว้ได้ เนื่องจากการแบ่งส่วนงานกันทำแบบชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันพวกเธอก็สามารถสลับตำแหน่งกันเพื่อสร้างความแตกต่างทางผลงานด้วย

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราจะขยายภาพการทำงานของพวกเธอกันครับ เริ่มต้นจาก คุณอาเกฮะ โอคาวะ ทำหน้าที่เป็นผู้เขียนบทหลักของทีม คุณโมโคนะรับหน้าที่เป็นนักเขียนหลัก ส่วนคุณเนโกอิ และ คุณอิการาชิจะเป็นนักเขียนรอง แต่เมื่อโทนเรื่องที่ต้องการจะนำเสนอนั้นมีการเปลี่ยนแปลง คุณเนโกอิ หรือ คุณอิการาชิ ก็จะสลับมาเป็นคนเขียนรูปหลักแทน

จากการสังเกตของทีมงานมินิมอร์ ก็เห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นจริง เพราะเรื่องหลักๆ ที่คุณโมโคนะเป็นนักเขียนหลักจะมีลายเส้นแบบการ์ตูนยุค 90 ที่เส้นหนาเข้มเพื่อเน้นฉากแอคชั่นต่างๆ  หรือถ้าในเรื่อง Chobits หรือ Tsubasa : Resevoir Chronicle ที่ได้คุณซัทสึกิออกแบบตัวละครก็มีลายเส้นที่ดูบางลงและกระชับกระเฉงเหมาะสมกับเนื้อเรื่องขึ้น แต่ถ้าในเรื่อง Lawful Drug หรือ xxxHolic จะได้คุณเนโกอิเป็นผู้เขียนหลักลายเส้นจะพลิ้วไหวละม้ายไปทางนักออกแบบชุดแฟชั่นแทน 

ส่วนด้านเนื้อเรื่อง ถึงคุณอาเกฮะจะทำหน้าที่เหมือนผู้กำกับจนชวนคิดว่าจะเกิดอาการยึดอำนาจทางการเดินเรื่องหรือไม่ ก็ค้นพบว่าไม่ใช่แบบนั้นเพราะรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่าง ก็เกิดจากไอเดียของนักเขียนคนอื่นๆ อย่างเรื่อง Watashi no Sukinahito คุณซัทสึกิที่เป็นผู้เขียนภาพหลักก็เสนอพลอทเรื่องเพิ่มเติม และในบทสัมภาษณ์หลายๆ ครั้ง ของคุณโอคาวะ ก็มักจะพูดว่าหลายทีเนื้อเรื่องที่เธอคิดไว้ตอนแรกก็เปลี่ยนไปจากการที่เธอได้เห็นตัวละครโลดแล่นในบทบาท จนสุดท้ายเธอก็ปล่อยเรื่องราวให้เป็นไปตามครรลองของท้องเรื่องมากกว่าที่เธอจะฝืนบิดเรื่องกลับมาให้เป็นอย่างที่เธออยากเป็น


(ภาพจาก : http://goodsmile15th.jp/index_en.html)

และแน่นอน…การกลับมาครั้งใหม่ ย่อมมาพร้อมกับของเล่นชิ้นใหม่ๆ ด้วยล่ะ *ปาเงินใส่*

ใครอาจจะมองว่า เฮ้ย การ์ตูนยุค 90s กลับมา มันคงจะเชยไปแล้วล่ะ แต่เธอเอ๋ย...เด็ก 90s ในวันนั้น คือผู้ใหญ่ที่ทำงานมีเงินในวันนี้ มินิมอร์เชื่อว่าแม้เวลาจะผ่านไปเท่าไร แต่ความติ่งมันไม่หายไปกับเวลา แค่เปลี่ยนจากติ่งสายกรี๊ดเป็นติ่งสายเปย์เท่านั้นเอง! การ์ตูนตอนเด็กจะคัมแบ็คอีกกี่เรื่องก็มา! แต่อย่ามาปีเดียวกันหลายเรื่อง ขอเวลาเก็บเงินบ้าง โอเคนะ...



ที่มาข้อมูลเพิ่มเติม  
animenewsnetwork.com
animenewsnetwork.com (2)
rayearth.psynos.net
nytimes.com