ล้ำกว่าขนมปังช่วยให้สอบได้ของโดเรมอน เลิศเกินหนัง The matrix ขอแสดงความยินดีกับมนุษย์ผู้ฝันใฝ่ถึงการรู้แบบไม่ต้องเรียน หรือเรียนแต่ไม่ต้องมาก! ก็สามารถรู้เยอะ รู้ดีไปหมด เพราะวันนี้นักวิทยาศาสตร์เขาค้นพบการป้อนความรู้เข้าสมองได้โดยตรงแบบไม่ต้องลำบากลำบนตรากตรำกันอีกต่อไป อะไรจะดี๊ดีขนาดนั้น
นักวิจัยจาก HRL Laboratories บอกเราว่าพวกเขาค้นพบวิธีการเอาความรู้เข้าสมองโดยตรงแล้วนะ แต่มันก็ไม่ได้เหมือนในหนังที่เราดู ๆ กันซะทีเดียว เพราะมันมีสเกลการทำงานที่เล็กกว่ากันมาก
ความมานะพยายามครั้งนี้เริ่มมาจากการที่พวกเขาเริ่มศึกษาสัญญานไฟฟ้าในสมองของนักบินฝึกหัด และขั้นตอนสุดตื่นเต้นคือแทนที่พวกเขาจะให้บรรดานักบินฝึกหัดเหล่านี้เรียนตามปกติ แล้วก็ฝึกกับโปรแกรมฝึกบินจำลอง พวกเขาป้อนความรู้วิชาการบินเบื้องต้นผ่านหมวกไฟ้ฟ้าเข้าไปในสมองโดยตรงซะเลย (คุณพระ เราเดินทางมาถึงจุดนี้จริง ๆ แล้วสินะ)
ผลที่ออกมาน่าตื่นเต้นยิ่งกว่าเพราะนักบินฝึกหัดเหล่านี้สามารถพัฒนาความสามารถในการบิน และเรียนรู้ได้ดีงามกว่านักบินกลุ่มที่ไม่ได้รับการป้อนข้อมูลถึง 33% (ถ้าเทียบเป็นเกรดสมัยเรียนมัธยม 33% นี่ชีวิตดี พ่อแม่ภูมิใจขึ้นอีกหลายระดับเลยนะเนี่ย)
ดร. Matthew Phillips หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมของการวิจัยครั้งนี้บอกอีกว่า แหม ถึงมันจะดูเหมือนนัง sci-fi ไปหน่อย แต่นี่คือพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบสมองของเราเชียวนะ (โถถ ไม่ต้องรอให้ ดร. บอก เราก็รู้จ้ะว่ามันเวรี่ยิ่งใหญ่)
คำตอบที่ทุกคนลุ้นให้ ดร. Phillips พูดออกมาที่สุดและเขาก็พูดจริง ๆ คือเขาเชื่อว่าการกระตุ้นสมองแบบนี้สามารถเอามาใช้กับการเรียนรู้หลาย ๆ อย่างได้ ทั้งการขับรถ การเรียนภาษา ที่สำคัญการเตรียมมตัวสอบ ! (โอ๊ย ฉันรักวิทยาศาสตร์)
วิธีการป้อนความรู้สู่สมองก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เริ่มจากการทาเจลใส ๆ เพื่อเป็นสื่อนำไฟฟ้าไว้ที่หัว แล้วก็สวมหมวกไฟฟ้าลงไป (เหมือนที่ดูในหนังเลยแฮะ) โดยผลจากการกระตุ้นนี้ข้อมูลก็จะอยู่กับเราไปหลายชั่วโมง (ก็น่าจะสอบเสร็จพอดีเนอะ) แต่มันก็ไม่ต่างจากการเรียนรู้ปกติที่ถ้าไม่ทำซ้ำมันก็จะเลือน ๆ ไป ถ้าอยากให้สิ่งที่ถูกกระตุ้นอยู่คงทนเป็นวัน หรือหลายสัปดาห์ก็จำเป็นต้องทำซ้ำบ่อย ๆ (หมายถึงมาป้อนความรู้เข้าสมองบ่อย ๆ หรือไม่ก็ทบทวนตัวเองบ่อย ๆ ไปด้วย)
ยังไม่จบเท่านั้น แม้ในความรู้สึกเรานี้จะดูเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน แต่นักวิจัยบอกว่าสมองส่วนที่ใช้ในการเรียนรู้ของเราทั้งเรื่องการจดจำ การพูดมันมีส่วนเฉพาะ แถมเป็นส่วนที่เล็กประมาณนิ้วก้อยเราเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาทำจึงเป็นเพียงการกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างลงไปในสมองส่วนการเรียนรู้เล็ก ๆ แค่นั้น (ใครจะว่าเล็กก็เล็กไป แต่สำหรับมนุษย์ที่มีปัญหาในการสอบมาตลอด นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กแน่ ๆ มินิมอร์มั่นใจ)
อย่างไรก็ตาม ดร.Phillips ก็บอกว่านี่ไม่ใช่แนวความคิดใหม่อะไรหรอกนะ 4,000 ปีก่อนในยุคอียิปต์โบราณ ก็มีการใช้ไฟฟ้าเพื่อการกระตุ้นหรือลดความเจ็บปวดอยู่แล้ว
ช่างน่าตื่นตะลึงจริง ๆ ถ้าใครสนใจอ่านเพิ่มเติมงานวิจัยก็ตีพิมพ์อยู่ใน Human Neuroscience จ้ะ แต่ก็เห็นแล้วเนอะว่าแม้จะเป็นกระตุ้นสัญญานไฟฟ้าเพื่อเรียนรู้ได้โดยตรง แต่ถ้าไม่ทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ จะกี่ล้านสัญญานไฟฟ้าก็คงช่วยไม่ได้ ระหว่างที่รอให้การ้ป้อนความรู้นี้ใช้ได้จริงทั่วไป ก็ป้อนความรู้ตัวเองด้วยวิธีปกติกันไปก่อน แล้วก็อย่าลืมทำซ้ำ ๆ ล่ะ จะได้เรียนรู้ได้เองแบบติดแน่นคงทนไม่ต้องรอพิ่งพาเครื่องมืออะไร แฮ่
ที่มา: telegraph.co.uk,mirror.co.uk, hrl.com
ภาพ: John Enete.