แด่โลกที่(มีเวลา)เป็นหนึ่งเดียว! 'ภารกิจบ้าบิ่นของนักคิด'ให้ทุกประเทศใช้เวลาร่วมกัน

การเดินทางข้ามเวลา ไม่ได้มีอยู่แค่ในนิยายเท่านั้น เพราะนอกจากอนาคตอันไกลพ้น และอดีตแล้ว เรายังเดินทางข้ามเขตไทม์โซนกันเป็นปกติ ก็แน่ล่ะ เพราะเวลาของแต่ละประเทศก็อยู่ในคนละไทม์โซน ข้ามประเทศทีก็ข้ามเวลาที มีเวลาที่แตกต่างกันไป แต่มันจะเป็นยังไงนะถ้าคนทั้งโลกได้ใช้เวลาร่วมกัน เอ แก 11 โมง ฉันก็ 11 โมง อย่าคิดว่านี่คือเรื่องเล่น ๆ เพราะมีนักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาตร์เสนอเรื่องนี้ขึ้นมาจริง ๆ !!



ภารกิจสุดบ้าบิ่นที่คิดจะเปลี่ยนเวลาทั้งโลกให้เป็นเวลาเดียวกันหมดนี้ เป็นไอเดียของ Steve Hanke นักเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานโดดเด่น และ Dick Henry ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins (โปร์ไฟล์ก็ไม่ธรรมดากันทั้งคู่เลยแฮะ)

'โลกที่มีเวลาเป็นหนึ่งเดียว'มันช่างดูเป็นภารกิจสุดบ้าบิ่น ก็เพราะใคร ๆ ก็เอาแต่คิดว่าเวลามันก็อยู่ของมันดี ๆ จะไปเปลี่ยนมันทำไม สากล มาตรฐานจักรวาลสุด ๆ อยู่แล้ว



แต่ 2 คนนี้เขาบอกว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไปนะ! (อ้าวหรอ ทำไมอ่ะ) อย่างประเทศเผด็จการสุดอินดี้อย่างพี่เกาหลีเหนือ เขาก็ไม่ยอมลดตัวมาใช้เวลาร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในโลกอย่างพวกเรา เขาเลยปรับเวลาในประเทศตัวเองให้ถอยหลังไป 30 นาทีซะอย่างนั้น โดยเวลาที่ถอยหลังไม่เหมือนชาวบ้านเขานี้ ถูกเรียกว่า'เปียงยางไทม์' 

เกาหลีเหนือจึงเป็นตัวอย่างของประเทศที่ทำให้เราเห็นว่าจริง ๆ แล้วเวลาก็ไม่ใช่แค่เรื่องแสง ธรรมชาติอย่างเดียวซะหน่อย แต่มีเรื่องของการเมือง และการกำหนดโดยรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวด้วยเหมือนกัน (เออ เป็นรัฐบาลนี่ก็ดีเนอะ นึกอยากจะกำหนดอะไรก็กำหนด)



อย่างไรก็ตาม'โลกที่มีเวลาเป็นหนึ่งเดียว'มันก็ดูบ้าบิ่นอยู่ดี ก็แหม ถ้าเราจะเที่ยวเปลี่ยนเวลาโลกไปทั่วอย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากเด็กเล่นหมุนนาฬิกาเล่นล่ะสิ นึกอยากจะเปียงยางไทม์ บางกอกไทม์ เสียมเรียบไทม์ ก็ทำได้หรือไงฮะ!?

พี่ ๆ คนเสนอเขาก็บอกว่า ฮัลโหลว ไอไม่ได้มั่วนะ แต่เวลาที่แบ่งจากไทม์โซนหลาย ๆ แบบที่ใช้ ๆ กันอยู่มันมีปัญหาจริง ๆ อย่างประเทศรัสเซียมีพื้นที่ 17.1 ล้านตารางกิโลเมตร แบ่งเวลาออกเป็น 11 ไทม์โซนแหนะ (หนึ่งประเทศ 11 เวลา แค่คิดก็รู้สึกดีใจที่ได้อยู่บนแผ่นดีนี้ละ) ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งมีพื้นที่ 9.597 ล้านตารางกิโลเมตรกลับมีไทม์โซนเดียว (อ้าว ไม่เห็นสมส่วนกันเลยอ่ะ)  หรือปัญหาสำคัญของชาวสเปนที่เหนื่อยตลอดเวลาก็เป็นเพราะว่าประเทศของเขาอยู่ในไทม์โซนที่ผิด




พี่ Hanke และ Henry  เขาเลยบอกว่าความยุ่งยากเหล่านี้จะหมดไป แทนที่เราจะมาพยายามจัดการความหลากหลายของเวลา เราก็ลบ ๆ มั้นทิ้งไปให้หมดเลยเส่ะ! แล้วก็ทำเวลาให้เป็น 'Universal Time' เวลาเดียวกันหมดทั้งโลกไปเลย (คุณพระ ช่างหาญกล้ามาก) ถ้ากรุงเทพฯ 7 โมงเช้า แฟนเราที่เกาหลีก็ 7 โมงเช้าเท่า ๆ กัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนดาวเคราะห์แห่งนี้ เราก็ได้ใช้เวลาร่วมกัน (โรแมนติกดีจัง)(มโนเก่งจังด้วย)



ตอนเด็ก ๆ ครูสอนว่าก่อนจะเชื่อหรือตัดสินอะไรให้ศึกษาหาข้อมูลก่อน  พี่ ๆ Hanke และ Henry เขาก็ไม่ได้จะมาพูดลอย ๆ เท่ ๆ เฉย ๆ จ้ะ เขาใช้เวลาศึกษาเรื่องนี้อยู่เป็นปี ๆ ก่อนจะบอกว่าการเปลี่ยนเป็นเวลาให้เหมือนกันทั้งหมดจะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น คอนเซปต์ของเวลาจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (ฟังดูเวรี่น่าตื่นเต้นสุด ๆ ไปเลยแฮะ) โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่เราเชื่อมโยงถึงกันตลอดเวลาอยู่แล้ว เวลาอันเป็นหนึ่งเดียวนี้จะทำให้เราติดต่อ ประชงประชุม ทำการค้า ได้ง่ายขึ้น อ่อ เรื่องการบินด้วยนะ (นั่นสิ อิเวลาที่ต่างกันของแต่ละประเทศนี่ทำคนตกเครื่องมานักต่อนักแล้ว ฮือออ)



Hanke และ Henry บอกว่าพวกเราไม่ใช่คนแรกซะหน่อยที่คิดจะเปลี่ยนเวลา ในแต่ละปีแต่ละประเทศก็มักจะเปลี่ยนเวลาด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจกันทั้งนั้น (อินโดนิเซียประเทศร่วมภูมิภาคของเราก็เปลี่ยนไปใช้เวลาเดียวกับสิงคโปร์เพราะประโยชน์ในการค้าขายด้วยนะ รู้ยัง)

ความพีคขั้นสุดของเฮีย 2 คนนี้คือเขาบอกว่า ก็ใช่ว่าการกำหนดเวลาแบบที่ใช้กันมีอยู่มาตั้งแต่โลกนี้ถือกำเนิดซะเมื่อไหร่ ไทม์โซนทั้งหลายก็ถูกกำหนดขึ้นด้วยมือมนุษย์เองนี่แหละ อย่างในอเมริกา การกำหนดเวลาก็เกิดขึ้นเพราะระบบขนส่งทางรถไฟและการโทรคมนาคมที่พัฒนาขึ้น แบ่งไทม์โซนกำหนดเวลาให้ชัดก็ง่ายต่อการขนส่ง



ทีนี้โลกมันไม่ได้อยู่ในยุคขนส่งด้วยรถไฟแล้วอ่ะแก เฮีย ๆ เขาบอกว่าอินเตอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนชุดความคิดของเรา เรื่องเวลาและพื้นที่ไปหมดสิ้นแล้ว (กินฮันนี่โทสต์อยู่อาฟเตอร์ยู กรุงเทพฯ ยังเอาไปอวดลงพื้นที่ในเฟซบุ๊กเห็นถึงลอนดอนเก๋ ๆ ได้เลย อินเตอร์เน็ตเชื่อมโลก เชื่อมเวลา เชื่อมพื้นที่จะตาย)

ดังนั้นถ้ามนุษย์เคยกำหนดเวลาเพราะความสะดวกในการขนส่งและสื่อสารในอดีต เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำไมเราจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการกำหนดเวลาให้ก้าวทันโลกบ้างไม่ได้ล่ะ? แค่เพราะเรากลัวที่จะเปลี่ยนแปลงน่ะเหรอ?  (โอ้โห อะไรจะก้าวหน้า ข้ามเวลา ข้ามโลกขนาดนั้น รักอ่ะ)



แม้แนวความคิดการใช้เวลาร่วมกันทั้งโลกยังเต็มไปด้วยข้อดีข้อเสียที่ต้องถกเถียงกันอีกมาก แต่ความดีงามของ Hanke และ Henry  คือการกล้าที่จะคิด กล้าที่จะเสนอหนทางการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับโลกที่หมุนไปอยู่ทุกวันอย่างไม่กลัวว่าจะโดนใครหาว่าบ้า

แหม ก็การมีคนแบบนี้นี่เอง เราถึงได้สิ่งใหม่ ๆ สารพัดสิ่ง (แม้แต่การกำหนดเวลาก็เถอะ ตอนนี้เราอาจอี๋กับแนวคิดการลบไทม์โซน แต่ในอดีตเราก็ไม่มีไทม์โซนมาก่อนเหมือนกันนี่นา) ดีไม่ดียังไงก็ถกเถียงกันต่อไปเนอะ แต่ที่แน่ ๆ ถ้ากลัวที่จะคิด จะฝัน จะถกเถียงหาทางออก โลกนี้ก็คงไม่มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นแน่ ๆ จ้ะ


ที่มา: washingtonpost.com

ภาพ:listaka.commirror.co.ukflightdutytimes.eublogs.discovermagazine.comtheguardian.compredatorslow.deviantart.com,sotonfreight.co.uk