ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญสุด ๆ จะติดต่อสื่อสารหรือหาข้อมูลต่าง ๆ ก็ต้องใช้อินเทอร์เน็ตทั้งนั้น การโดนปิดกั้นโดนเซนเซอร์จากรัฐเป็นเรื่องที่แสนจะน่าหงุดหงิด เรียกได้ว่ามีประเด็นนี้ออกมาทีไร ก็มีเสียงวิจารณ์ถล่มทลายทุกที วันนี้มินิมอร์เลยชวนมาคุยกับ ผิง - พัชราภรณ์ มาตกุล หญิงสาวผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่มีการปิดกั้นเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างประเทศจีนมากว่า 10 ปี (โหหห นานไปนะ)
มินิมอร์ : ที่จีนนี่เขาบล็อคอะไรกันบ้าง
ผิง: บล็อกแทบทุกอย่าง Google, Facebook , Twitter , IG พวก social network อื่นที่ฮิต ๆ ก็บล็อกหมด (มินิมอร์ : โห ลงแดงตายกันพอดี!)
มินิมอร์ : อื้อหือ บล็อคขนาดนี้คนที่นั่นเขาใช้อะไร แล้วเหลืออะไรให้เล่นกันบ้าง
ผิง : ที่จีนดีอย่างคือไม่ได้บล็อคอย่างเดียวแต่มีตัวทดแทนให้ด้วย อย่าง twitter ก็จะมี weibo ใช้แทนได้รูปแบบคล้ายกัน หรือ line ก็จะมี wechat ซึ่งมันสะดวกมากนะ แล้วก็จำเป็นมาก ใครที่จะต้องติดต่อสื่อสารกับคนจีนก็ต้องใช้ wechat นี่แหละ จริงๆ พวกตัวทดแทนนี่บางอันดีกว่าต้นฉบับอีก อย่างมีอันนึงจะคล้าย youtube ของจีน แต่ไม่มีติดลิขสิทธิ์ หนังใหม่ๆ ก็มี แล้วหนังก็ดูได้ทั้งแบบออนไลน์หรือจะโหลดไว้ดูแบบออฟไลน์ก็ได้
มินิมอร์ : แล้วถ้าอยากจะเล่นแบบคนอื่นบ้างล่ะ
ผิง: ถ้าอยากจะใช้งานเว็บต่างประเทศก็ใช้ VPN เล่นได้ อาจจะต้องยอมเสียเงินหน่อย
มินิมอร์ : แบบนี้คือเขาเฮี้ยบมากมั้ย ตรวจกันจริงจังเลยรึเปล่า
ผิง: ไม่ได้มีการตรวจสอบแบบจริงจัง อาจจะเป็นเพราะประเทศใหญ่ด้วยแหละ ถ้าจะมีก็คือโดนบล็อค IP บล็อค VPN บ้าง แต่มันก็เปลี่ยนใหม่เอาได้ไม่ยาก ไม่งั้นก็คือบล็อคเว็บนั้นไปเลย แต่มันก็มีคนโพสต์ขึ้นมาใหม่เรื่อย ๆ การบล็อคมันก็เลยไม่ได้ห้ามได้จริง ๆ หรอก แค่ทำให้ไม่สะดวกเฉย ๆ
(มินิมอร์ : แสดงว่าการบล็อคมันไม่ใช่ทางแก้ปัญหาสินะ หึ ๆ)
มินิมอร์ : แล้วคนที่นั่นคิดยังไงบ้างกับการเซนเซอร์หนักมากกกแบบนี้
ผิง : คนรุ่นเก่า ๆ ส่วนใหญ่เขาก็ดูเหมือนจะโอเคพอใจกับสิ่งที่มีอยู่นะ ให้ใช้เท่าไหนเท่านั้น ไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไรกันจริงจัง ก็มีคนที่อยากได้การเปิดกว้างมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่คิดว่าตัวเองควรจะมีสิทธิได้รู้อะไรภายนอกบ้าง (มินิมอร์ : ก็คนนี่เนอะ ไม่ใช่กบ จะให้ปิดตัวเองอยู่ในกะลาได้ไง)
มินิมอร์ : เรื่องการเมืองที่นู่นคุยกันแบบเปิดเผยได้แค่ไหน ตามเน็ตแซะได้มั้ย
ผิง: จริงๆ เรื่องรัฐบาลเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนกล้าเปิดเผยทางออนไลน์เท่าไร อย่างถามเรื่องการเมืองในแชทเขาก็จะไม่ตอบเลย เขาพูดกันว่าในจีนมันไม่มีความส่วนตัวเหลือแล้ว บางทีต่อให้เจอกันไปกินข้าวกันยังไม่กล้าพูดเรื่องนี้เลย ถ้าในออนไลน์จะมีบ้างที่วัยรุ่นแชร์บทความ อัพบทความบ้าง เพราะถ้าได้เห็นโลกข้างนอกก็จะรู้ว่ารัฐจีนเองก็บิดเบือนเยอะเหมือนกัน (มินิมอร์ : โห น่ากลัวแฮะ)
มินิมอร์ : แล้วถ้าเราแซะรัฐแล้วเขารู้ จะมีบทลงโทษอะไรมั้ย พาไปประหารเครื่องประหารหัวสุนัขหรือเปล่า
ผิง: ถ้าแค่บ่นการเมืองเบา ๆ หรือแซวข ำ ๆ ก็ทำได้นะ ถ้าไม่ล้ำเส้นรัฐเขาก็ปล่อยผ่านบ้างเหมือนกัน มากกว่านั้นก็คือบล็อคเว็บนั้นไป ถ้าโทษหนักก็ต้องเป็นพวกร้ายแรง เช่น ต่อต้านรัฐบาล อย่างเคยมีเพื่อนไม่สนับสนุนรัฐบาลจีนเลย แขวนธงไต้หวันไว้ที่ออฟฟิศ แล้วพอดีมีตำรวจมาที่ออฟฟิศเห็นพอดีก็โดนจับไป แต่โชคดีเพื่อนมีคนรู้จักอยู่ในนั้นอยู่เลยนอนคุกอยู่แค่คืนเดียว แต่ถ้าปกติก็น่าจะโดนซัก 15 วัน เหมือนโดนไปปรับทัศนคติบ้านเรานี่แหละ แต่ที่จีนเรียกว่าเชิญไปดื่มชา
มินิมอร์ : คิดว่าต่อไปไทยมีสิทธิ์ไปถึงขั้นประเทศจีนเลยรึเปล่า
ผิง : ในความคิดประเทศไทยไม่น่าจะถึงจุดเดียวกับจีน เพราะอย่างที่ไทยก็ยังประท้วงได้ แต่อย่างที่จีนคือทำอะไรแบบนี้ไม่ได้เลยนะ การต่อต้านรัฐบาลนี่ทำไม่ได้เลย
มินิมอร์ : แล้วแบบนี้จะยังมีคนที่แฮปปี้กับการควบคุมอยู่มั้ย
ผิง : ถ้ามีก็อาจจะเป็นพวกคนแก่แล้ว เพราะการควบคุมของจีนสมัยก่อนอย่างตอนเหมา เจ๋อ ตุง คือไม่ชอบให้คนจีนเชื่ออย่างอื่นเลย มีการเผาหนังสือเพราะไม่อยากให้มีความรู้มาต่อต้านรัฐบาลหรือเชื่ออย่างอื่น เหมือนเป็นการล้างสมองเหมือนกัน เขาก็จะคิดว่า ถ้ากินดีอยู่ดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องออกนอกประเทศ ไม่มีอะไรต้องต่อต้าน
แต่ถ้าเป็นคนยุคใหม่หรือเด็กวัยรุ่นหน่อยที่เริ่มรู้เรื่อง ได้เห็นโลกภายนอกบ้างแล้ว ก็จะไม่ค่อยสนับสนุนรัฐเท่าไร แล้วก็ดูจะชอบวัฒนธรรมต่างชาติมากกว่าชาติตัวเอง อยากย้ายสัญชาติ อยากไปอาศัยอยู่ที่อื่น บางทีไปเที่ยวต่างประเทศยังไม่ยอมบอกเลยว่าเป็นคนจีน แต่ก็เคยมีวัยรุ่นที่รู้จักสนับสนุนรัฐบาลเหมือนกันนะ อย่างเห็นเราโพสต์รูปอ้ายเหว่ยเหว่ย ก็เข้ามาด่า ก็เลยรู้ว่ามันก็ยังมีวัยรุ่นที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์อยู่