เยอรมนีเป็นประเทศที่หากมีจัดอันดับในเรื่องของความประสบความสำเร็จใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ การศึกษา ความมั่นคงต่างๆ (และฟุตบอล!) จะต้องมีเยอรมนีอยู่ในอันดับต้นๆ เสมอ
การศึกษาก็เช่นกัน ประเทศเยอรมนีมีมหาวิทยาลัยที่ติด Ranking 200 อันดับแรกเป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเท่านั้นเอง โดยที่ระบบการศึกษาของเยอรมันเองนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอยู่มากเลยทีเดียว มาดูกันว่าที่ว่าต่างนั้นต่างยังไง แถมให้ด้วยว่าเขาเรียนประวัติศาสตร์กันมั้ย เหตุการณ์ตอน WWII จะถูกแกล้งลืมรึเปล่านะ
ระบบการศึกษาของประเทศเยอรมนีนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ อยู่พอสมควร เพราะมีการแบ่งประเภทของโรงเรียนเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยประมาณ 10 ขวบ (หลังจากเรียนประถมได้ 4 ปี) ซึ่งประเภทของโรงเรียนที่ว่ามี 3 แบบคือ 1) Gymnasium คือโรงเรียนที่เรียนเพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยต่อในอนาคต เน้นที่วิชาการ 2) Realschule คล้ายกับ Gymnasium แต่ความเข้มข้นของหลักสูตรจะน้อยกว่า แต่ถ้าเด็กเทพๆ หน่อยจะสอบข้ามไป gymnasium ก็ได้และมีการฝึกงานด้วย 3) Hauptschule เน้นไปที่การฝึกอาชีพเฉพาะทาง มีการฝึกงานอย่างจริงจัง ซึ่งการจะเลือกร.ร. 3 ประเภทที่ว่ามาส่วนใหญ่ก็จะดูจากเกรดที่ได้มานั่นเอง
ระบบของการแบ่งประเภทโรงเรียนนี้จริงๆ ก็มีคนบอกว่ามันมีทั้งข้อดีทั้งข้อเสีย ข้อดีก็คือได้แรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางเก่งๆ เยอะ จบมาคือโปรแล้วทำงานได้เลย แต่ข้อเสียที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กันก็คือมันเป็นการเลือกที่เร็วเกินไป และเป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยเท่าเทียมเท่าไร มีประเด็นเชื้อชาติและสถานะทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เด็กที่มาจากครอบครัวที่เป็นผู้อพยพก็มักจะถูกครูแนะนำให้ไปเรียนที่ Haupshule เป็นต้น
ปัจจุบันบางรัฐมีความพยายามที่จะเปลี่ยนจากระบบ 3 โรงเรียนนี้เป็นระบบเช่นเดียวกับ highschool ทั่วไป แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก
มาต่อกันที่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่นี่หากเป็นของรัฐบาลส่วนใหญ่เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องเสียเงินค่าเทอม หรือถ้าเสียก็เสียน้อยมาก โดยความดีงามนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชาวเยอรมัน แต่เผื่อแผ่มาถึงนักเรียนจากประเทศอื่นๆ ด้วยล่ะ ทำให้สถิติตอนนี้จำนวนนักเรียนจากต่างชาติก็เข้าไปเรียนที่เยอรมนีกันเพิ่มมากขึ้นทุกปี มหาวิทยาลัยก็เปิดหลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักเรียนต่างชาติด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ทางรัฐบาลเยอรมันเขาก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่าที่จะสร้างคนที่มีคุณภาพขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะมาจากที่ไหนก็ตาม (เท่ไปเลย)
และด้วยความที่ฟรีนี้ก็มีสถิติที่น่าสนใจก็คือ นักศึกษาที่ประเทศเยอรมนีนั้นอายุเฉลี่ยที่จบของการศึกษาปริญญาตรีสูงกว่าที่อื่นพอสมควร นั่นคือ 28 ปี (เรียนซะคุ้มกับที่ฟรีเลยนะเธอ) ซึ่งพอยิ่งเรียนกันนานๆ เนี่ยภาระมันก็ไปหนักกับคนจ่ายภาษี เขามีการคำนวณเลยนะว่าถ้าเกิดทุกคนในระบบการศึกษาพร้อมใจกันจบช้ากันซักคนละปีเนี่ย ค่าใช้จ่ายที่คนจ่ายภาษีทั้งหลายต้องแบกเนี่ยจะหนักขึ้นถึง 33% เลยเชียว
มาที่การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของชาติเขากันบ้าง ทุกคนรู้ว่าครั้งหนึ่งโลกเคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดร้ายเกิดขึ้นโดยพรรคนาซีของประเทศเยอรมนี ไม่มีใครปฎิเสธได้เลยว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
เรามักจะเคยได้ยินกันว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้สร้างชาติของทุกประเทศ ด้วยการสร้างให้ชาติอื่นเป็นตัวร้าย (คุ้นมั้ย) หรือเรียนแต่เรื่องที่อยากให้จำ และแกล้งลืมเรื่องราวที่ไม่ดีไป (หรือถูกทำให้เบาลงมาก เช่น เคสนานกิงในบทเรียนญี่ปุ่น)
แต่ไม่ใช่สำหรับชาวเยอรมันที่การศึกษาถูกบังคับให้ใส่เรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ , สงครามโลกครั้งที่ 2 และเรื่องของพรรคนาซีอย่างละเอียดตั้งแต่วัยประมาณประถมบ้านเรา ไม่ใช่แค่การเล่าคร่าวๆ พอเป็นพิธี ไม่ได้อยู่แค่ในวิชาประวัติศาสตร์ด้วย วิชาที่เป็นภาษาเยอรมันที่ต้องมีการอ่านวรรณกรรมก็มีให้อ่านบันทึกของแอนแฟรงค์ ค่ายกักกันกลายเป็นสถานที่ให้เด็กนักเรียนของเขาไปทัศนศึกษาเหมือนบ้านเราไปท้องฟ้าจำลองกัน สุนทรพจน์ที่ใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีถูกเอามาวิเคราะห์ในชั้นเรียน
การสอนเรื่องราวดังกล่าวไม่ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องที่เบาลงหรือสร้างภาพให้ดูน่ากลัวน้อยกว่าความเป็นจริง โหดร้ายยังไง รายละเอียดทุกอย่างมาครบทั้งหมด ให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติที่น่าละอายและไม่ควรมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำอีก
อย่างไรก็ตาม การพูดถึงสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ของเขาก็ไม่ได้เล่าแต่เรื่องความโหดร้ายเพียงอย่างเดียว องค์ประกอบและบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นก็มีการเอามาพูดถึงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจหลังสงคราม กลวิธีที่พรรคนาซีใช้จูงใจคน เหตุผลที่ทำไมถึงเป็นชาวยิว และชาวยิวโดนกระทำอะไรอีกบ้างนอกจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แล้วก็ไม่ได้สอนแล้วจบในเทอมเดียว แต่ตลอดชีวิตการเรียนของเด็กนักเรียนเยอรมันต้องศึกษาในเรื่องนี้กันหลายครั้งหลายปีเลยแหละ เคยมีการโต้แย้งกันด้วยว่ามันเยอะไปมั้ย จะทำให้เด็กรู้สึกผิดกับการกระทำที่ตัวเองไม่ได้ทำรึเปล่า แต่ก็ตกไปนะ ไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด แถมหลักสูตรในเรื่องนี้ก็มีการพัฒนาและปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ด้วย
อ่านเรื่องระบบเรียนๆ จบแล้ว พักสายตาด้วยรูปสวยๆ เยอรมนีจากมุมมองของ พวงสร้อย อักษรสว่าง นักเขียนของเราได้ ที่นี่ นะจ๊ะ :>
ที่มา : slate,german-way,the guardian,washingtonpost,reddit,young-german,wsj,forbes
ภาพ : dw,eduinreview