แด่สังคมอุดมดราม่า How to เถียงอย่างไรไม่ให้'ตรรกะวิบัติ' สวยใส ชนะและมีสติ

บนโลกใบที่คนไม่ได้คิดเหมือนกันทั้งหมด "ดราม่า ทะเลาะกัน การถกเถียง" ไม่ว่าเราจะเรียกมันด้วยชื่อไหน การปะทะกันของความคิดที่แตกต่างก็เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ ๆ ยิ่งในโลกออนไลน์ด้วยแล้ว พื้นที่ให้เราได้แลกเปลี่ยนความเห็นยิ่งกว้างแสนกว้าง แล้วเราเคยถามตัวเองมั้ยนะว่าเหตุผลที่เราใช้ ๆ เถียงกันมันเป็นเหตุเป็นผลแค่ไหน มาสำรวจไปพร้อม ๆ กันดีกว่า เถียงกันครั้งหน้าจะได้ใช้อารมณ์น้อยลง มีสติและเหตุผลมากขึ้น (สวยใสและชนะ บนพาดหัว เป็นตัวอย่างตรรกะวิบัตินะเด็ก ๆ)



ก่อนอื่นมินิมอร์ชวนมาทำความรู้จักกับ 'fallacy' หรือตรรกะวิบัติ (อย่าเพิ่งงงสิ) ตรรกกะวิบัติคือการใช้เหตุผลที่ไม่โอเค พูดง่าย ๆ ก็คือใช้เหตุผลอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม พยายามหลอกล่อให้อีกฝ่าย หรือคนอื่น ๆ ยอมรับข้อสรุปที่ฟังดูดี๊ดี แต่จริง ๆ แล้วมันไม่มีน้ำหนักอะไรเลย (โห แบบนี้ก็มีหรอเนี่ย) หรือบางทีก็ให้เหตุผลแบบยอกย้อนวนไปวนมา

อ่ะ อ่ะ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่ใช่ตรรกะวิบัติเขารู้ตัวแล้วจงใจหลอกล่อเราให้เชื่อเขาเสมอไปหรอกนะ มีอีกหลายต่อหลายคนที่เผลอถกเถียงอย่างสุดมัน และเข้าใจว่าตัวเองคิดถูก โดยไม่ทันรู้ตัวเลยว่าเรากำลังใช้เหตุผลแบบที่ไม่โอเคอยู่

แต่แหมถ้าจะให้พูดว่าตรรกะวิบัติมีกี่แบบ มันก็เยอะ หลากหลาย และยาวจนคงต้องพูดประมาณ 5 วันจบ มินิมอร์เลยจะยกตัวอย่างของตรรกะวิบัติแบบที่เราพบเห็นได้บ่อย ๆ มาให้ยลโฉมกันก่อน


Argumentum ad Populum: จะอะไรยังไงขออ้างคนหมู่มากไว้ก่อนนะ แหะ ๆ  

การรับฟังความเห็นที่หลากหลายเป็นสิ่งที่ดี แต่การใช้ความเห็นของคนหมู่มาก การกระทำของคนหมู่มากมาสนับสนุนสิ่งที่เราคิดอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป เห็นง่ายที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่องของละเมิดลิขสิทธิ์ ยอมรับมั้ยว่า เคยเห็นการแสดงความเห็นแบบนี้  ”แหม ก็เข้าใจนะว่าเป็นของเถื่อน แต่ใคร ๆ ก็ใช้กันป้ะ เพื่อนผมนี่ใช้ทั้งโรงเรียน ดูประเทศจีนสิคนเขามีกี่ล้าน” (เอ่อ มันใช่หรออออ)

Argumentum ad Baculum: โต้ด้วยข้อมูลไม่ได้ก็ทำให้กลัวซะเลย

เถียง ๆ อยู่แล้วโต้แย้งด้วยเหตุผลไม่ได้ งั้นเอาอำนาจเข้ามาข่มขู่ซะเลย พวกแกจะได้ยอมรับเหตุผล นับเป็นการเล่นกับความกลัวของคนอื่น (Appeals to fear) เช่น ถกเถียงกันอยู่ดี ๆ ก็ขู่จะฟ้องเขาซะอย่างนั้น หรือถ้ามีคนตั้งคำถามว่า ทหารมีไว้ทำไม ? แทนที่เราจะเข้าไปตอบกับเขาด้วยข้อมูลพี่ ๆ ทหารบางคนกลับบอกว่า ไปจับปืนรบเองมั้ยล่ะ ? (เป็นการยกอำนาจทางการทหาร และความเชื่อว่าทหารปกป้องประเทศอยู่กลุ่มเดียว มาทำให้คำถามของอีกฝ่ายตกลงไป โดยไม่ให้ข้อมูลอะไรเลย)(เอ่อ ... นี่คือเหตุการณ์สมมตินะ)

Slippery slope: คิดแบบนี้ไม่ได้หรอก เพราะมันจะนำไปสู่ความล่มสลายแน่ ๆ 

ไม่ว่าจะถกเถียงหรือพยายามให้ข้อมูลกันยังไง แต่คนพูดก็เอาแต่ยกนั่นยกนี่มาเพื่อสรุปว่าสิ่งที่อีกฝ่ายคิดจะนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งในข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดตอนท้าย ไม่ได้แปลว่าต้องเกิดจากเหตุการณ์แรกเสมอไปซักหน่อย

เนี่ยสรยุทธถูกตัดสินจำคุก ยังหน้าด้านหน้าทนมาจัดรายการ นี่ถือว่าช่องสามสนับสนุนคนโกงนะ เด็ก ๆ ดูคนโกงแล้วก็จะเชิดชู เอามาเป็นตัวอย่างแล้วทำตาม ทำตามกันหนักเขาประเทศนี้ก็จะมีแต่เด็กโกง แล้วก็จะโตมาเป็นผู้ใหญ่โกงกันหมด พอโกงกันหมด ก็ขายชาติ พอขายชาติเราก็จะไม่มีแผ่นดินจะอยู่แล้วอ่ะ ฮือออ (เอ่อ วางถุงกาวลงก่อนนะทุกคน)

False dilemma: ถ้าไม่คิดเหมือนฉัน แกก็ไม่ใช่พวกฉัน

ตรรกะวิบัติแบบนี้คนให้เหตุผลจะทำเหมือนว่าทางเลือกมีแค่สองทางเท่านั้น  และทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าต้องเลือกแค่ทางใดทางหนึ่ง ยัง ยังไม่พอ แต่จะทำให้รู้สึกว่าอีกทางหนึ่งแย๊แย่จนไม่อยากเลือก และเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้เลือกอีกทางที่ผู้พูดต้องการไปโดยปริยาย (ช่างแนบเนียนยิ่งนัก) ทั้งที่จริงแล้ว โลกมันไม่ได้มีแค่ 2 ทางเลือกซะหน่อยยยย

Argumentum ad Hominem: พูดอะไรหรอ ไม่ฟังอ่ะ เพราะประวัติแกไม่ดี

ถนัดนักกับการขุดคุ้ยประวัติ หรือเหตุการณ์ในอดีตของอีกคนมามีส่วนในการโต้เถียงกัน แต่อย่าลืมสิว่าเราถกเถียงกันเพื่อพิสูจน์ข้อมูลของแต่ละฝั่ง ซึ่งข้อมูล เหตุผลจะถูกหรือผิด มันไม่เกี่ยวกับการกระทำที่ผ่าน  ๆ มาของคนคนนั้น (ทั้งการกระทำที่ดีและแย่นั่นแหละ) รู้อย่างนี้แล้วยังจะมานั่งโจมตีคนพูดอีกมั้ย จะแย้งก็แย้งสิ่งที่เขาพูดเส่ะ


ถ้าอ่านแล้วยังไม่ถึงใจ มินิมอร์ขอนำเสนอตัวอย่างการใช้ตรรกะวิบัติ แบบที่เราเห็นได้ง๊ายง่ายในโลกออนไลน์ หึ ใครจะไปรู้ บทสนทนาพวกนี้เราอาจจะเคยใช้กันมาแล้วก็ได้นะ 

1.คนดี ยังไงก็ดีกว่าคนชั่ว ก็คนมันดี คิดอะไรก็ต้องดี ต้องถูกเสมอสิ

เด็กหญิงสมศรี : แก ๆ เราว่านโยบายนี้ของประธานนักเรียน ป. ดูไม่ชอบมาพากลเลย เขาโกงป้ะวะ แถมสมรักไปเจอหลักฐานว่าเขาเอาเงิินโรงเรียนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วยอ่ะ

เด็กชายสมศักดิ์ : แต่ประธาน ป. เขาเป็นคนดีนะ เข้ามาช่วยสร้างความปรองดองในโรงเรียน เนี่ย ผอ. ก็บอกว่า ป. เป็นนักเรียนดี สมรักต่างหากเป็นคนขี้โกง เชื่อถือไม่ได้หรอก

เอ่อ ...


บอกเลยว่าความดี ความเลวของมนุษย์ไม่เกี่ยวข้องกับความมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลแต่อย่างใดนะเด็ก ๆ และการเป็นคนดีของมนุษย์ก็ไม่ได้มาหักล้างข้อเท็จจริงไปได้ สำรวจตัวเองสิว่าเคยเผลอใช้เหตุผลแบบผิด ๆ เพราะคิดว่าใครเป็นคนดี = ถูกเสมอ หรือใครเป็นคนเลว = ผิดตลอด บ้างมั้ยนะ ?

2. โห ไม่เชื่อก็อย่ามาลบหลู่สิ!

วลีสุดคลาสสิคที่พบบ๊อยบ่อยในประเทศนี้ ไม่ว่าเราจะเคยเผลอพูด 'ไม่เชื่ออย่าลบหลู่' กับใครไปบ้างหรือเปล่า ก็อย่าลืมนะว่าวลีนี้มันไม่ได้ช่วยสนับสนุนการใช้เหตุผลของเราซักกะนิด ถ้าเรารู้สึกว่าเขากำลังตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเชื่อ ทางหนึ่งที่จะช่วยให้เขาเข้าใจความเชื่อเรามากขึ้นก็คือการอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลจ้ะ 

3.เพราะเป็นคนชั่วจึงเจ็บปวด เกี่ยวไม่เกี่ยวไม่รู้ แต่ขอโจมตีมันไว้ก่อน

แทบไม่ต่างกับการมองว่าเขาเป็นคนดี = มีเหตุผล คนที่เรา (มองว่า) ชั่วเราก็มักจะเผลอเหมารวมว่าเขาไม่มีเหตุผลไปด้วย ข้อมูลเขาให้อะไรมาเราก็รู้สึกว่ามันชั่ว มันแย่ มันเลว ไม่ฟังมันหรอก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความเป็oเหตุเป็นผลเลยจ้ะ ที่สำคัญเรามักเผลอขุดเอาการกระทำที่เราคิดว่าไม่ดีออกมาโจมตีคนที่เราถกเถียงด้วยแบบไม่รู้ตัว

เช่น ปุ๊กปิ๊กขายครีมจั๊กกะแร้ขาว ส่งของให้แอนที่เป็นลูกค้าเรียบร้อยแล้ว แต่ไปรษณีย์ดั๊นยังส่งของไม่ถึงมือแอน ด้วยความอยากจั๊กกะแร้ขาวจนหน้ามืด แอนเลยตั้งกระทู้พันทิป 'แม่ค้าโกงครีมจั๊กกะแร้ขาว ควรทำไงดีคร๊เพิ่ล ๆ '  พร้อมกับไปขุดคุ้ยประวัติปุ๊กปิ๊กสมัยเรียน ป.3/5 ที่เคยขโมยยางลบเพื่อน ปุ๊กปิ๊กก็พยายามอธิบายว่าม่ายย เราส่งครีมไปแล้ว

ไม่ว่าปุ๊กปิ๊กจะเคยขโมยยางลบใคร หรือโกงใครมาก่อนหน้านี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้บอกได้ว่าเหตุผลของแอนถูก หรือเหตุผลของปุ๊กปิ๊กผิด หูยย เป็นหลุมพรางที่น่ากลัวมาก ระวังจะเผลอใช้ตรรกะวิบัติแบบไม่รู้ตัวนะ

4.ตั้งหน้าตั้งตาอ้างพระราชดำรัส

บ่อยครั้งที่เราเถียง ๆ ไป แล้วนึกอะไรไม่ออก อยู่ ๆ ก็ไปเชื่อมโยงเอา พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านมาแปะไว้เอาดื้อ ๆ แม้การถกเถียงครั้งนี้ (อาจจะ) จบลงแน่ ๆ (เพราะคงไม่มีใครกล้าแย้ง) แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเหตุผลที่เราใช้มันถูกต้องแต่อย่างใดนะ

5.วิจารณ์เขาทำให้ได้อย่างเขาก่อนเถอะ!

"เราว่าก๊วยเตี๋ยวร้านป้าชูวันนี้เค็มไปหน่อยนะ สงสัยป้าแกจะทำน้ำปลาหกใส่ เราบอกป้าเขาหน่อยดีกว่า จะได้อร๊อยอร่อยลูกค้าติดเพียบเหมือนเดิม" แต่ทันทีที่ลูกค้าตัวน้อย ๆ เดินไปบอกป้าชู ป้าชูกลับตวาดกลับเละเทะว่า แหม มาทำเองมั้ยล่ะ พร้อมเด็กเสริฟในร้านที่พากันมาสมทบว่า โห ทำก๊วยเตี๋ยวให้ได้ก่อนเถอะ แล้วค่อยมาพูด (เอ่อ...)

ตรรกะวิบัติแบบนี้เกิดจากการที่เราเชื่อว่าเหตุผลต้องมาจากคนที่น่าเชื่อถือหรือทำ(อะไรบางอย่าง)ได้เท่านั้น ถ้าทำไม่ได้ ถ้าไม่ใช่คนรู้เรื่องฉันก็ไม่ฟังเหตุผลแกหรอก แหม่ เปิดใจให้มันกว้าง ๆ แล้วลองฟัง หรือโต้แย้งกลับด้วยข้อมูลบ้างก็ได้เนอะ

6. แต่ใคร ๆ เขาก็ทำกันนะ 

ใคร ๆ ก็ทำ ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เราทำมันจะเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาได้ ความถูกต้องของข้อมูลก็ไม่ได้ถูกต้องเพราะมีคนจำนวนมากเชื่อ ก่อนใช้คำว่า ใคร ๆ ก็ทำครั้งหน้า ฉุกคิดกันซักนิดกันก่อนเถอะ

7. คิดแบบนี้ได้ไง เป็นคนไทยหรือเปล่า ?


เอ่อ คนไทยไม่ได้คิดเหมือนกันทั้งประเทศซักหน่อย ต้องถามใจตัวเองดูว่าเราเผลอเหมารวมหรือเปล่าว่าคนไทยต้องคิดแบบนั้น คนไทยต้องเชื่อแบบนี้ สรุปแล้วการเป็นคนไทยมันเกี่ยวกับที่กำลังถกเถียงอยู่แค่ไหน หรือการเป็นคนไทยสนับสนุนเหตุผลของเราอย่างไร

คิดแบบไหน ไทยไม่ไทยยังไงก็แลกเปลี่ยนพยายามทำความเข้าใจกันด้วยข้อมูลและสติเถอะ เพราะการถามว่าเขาเป็นคนไทยมั้ย หรือไล่ให้เขาไปเป็นคนชาติอื่นก็ไม่ได้ทำให้เหตุผลของเราเป็นจริงแต่อย่างใด


สังคมที่เต็มไปด้วยการถกเถียง ไม่ได้แปลว่าเป็นสังคมที่มีแต่ความขัดแย้งเสมอไปนะ ถ้าเราถกเถียง แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นที่แตกต่างกัน (ไม่ใช่เอะอะ ๆ ก็ใช่แต่อารมณ์น่นะ) เราก็จะเข้าใจกันมากขึ้น หรือเห็นทางที่จะก้าวไปข้างหน้าแบบที่ทุกฝ่ายโอเคมากขึ้น รู้แบบนี้แล้วถามใจตัวเองดูกันเถอะว่าเรากำลังถกเถียงเพื่อเอาชนะ หรือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ถ้าอยากหาทางออกร่วมกันก็อย่าเผลอใช้ตรรกะวิบัติล่ะ


อ่อ แต่ถ้ายังไม่จุใจกับวิถีตรรกะวิบัติ และสารพัดการใช้เหตุผลแบบสุดเกรียนก็ไปหา 'TROLL WAY ทางสายเกรียน' หนังสือที่รวมสุดยอดความเกรียนและใช้เหตุผลแบบชวนอึ้งไว้ให้เราอ่านแบบเข้าใจง่าย มาอ่านเพิ่มเติมให้สะใจได้นะ

อ่านตัวอย่าง 'TROLL WAY ทางสายเกรียน' ได้ที่นี่
ถ้าแค่ตัวอย่างยังไม่จุใจ เป็นเจ้าของ 'TROLL WAY ทางสายเกรียน' จากมินิมอร์สโตร์ง่าย ๆ คลิกเลย :)



ที่มา: commfaculty.fullerton.edu,literarydevices.net
ภาพ: giphy.com,typosthes.gr