ทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่างๆ นอกจากจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เราได้ปะทะคารมและความคิดกับคนที่แตกต่างหลากหลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
อยากแข็งแรงสุขภาพดีต้องออกกำลังกายฉันใด อยากใช้เหตุผลอย่างแข็งแกร่งก็ต้องออกกำลังสมองฉันนั้น
ฉะนั้นยิ่งเราถกเถียง เราก็ยิ่งจะฉลาดขึ้นโดยอัตโนมัติ ใช่ไหม?
แต่โชคร้าย การออกกำลังสมองไม่เหมือนกับการออกกำลังกาย ยิ่งเราวิ่ง เรายิ่งได้เหงื่อ แต่เรายิ่งเถียงอาจยิ่งเหนื่อยเปล่า เซลล์สมองนับล้านตายไปโดยที่ไม่ได้ลับ ‘ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์’
(ฝรั่งเรียกว่า Analytical Thinking Skill) แม้แต่น้อย โดยเฉพาะถ้าเราเถียงแบบเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง ไม่ใช้เหตุผล หรือใช้เหตุผลผิดพลาด แถออกทะเลไปเรื่อยๆ หนักข้อเข้าอาจทำให้คนอื่นรำคาญจนไม่อยากคุยด้วยอีกต่อไป พูดง่ายๆ คือ กลายเป็น ‘เกรียน’ โดยไม่รู้ตัว
อินเทอร์เน็ตจึงทำให้โลกของเรากว้างขึ้นหรือแคบลงก็ได้ ทำให้เราฉลาดขึ้นหรือโง่ลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งสติกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารขนาดไหน ตั้งใจใช้เหตุผลพิจารณาข้อถกเถียงของคู่สนทนาหรือไม่
หนังสือเล่มนี้รวบรวมและต่อยอดจากรายการ ‘ตรรกะวิบัติ’ ทั้งที่ผู้เขียนประสบด้วยตนเอง และผ่านคำบอกเล่าของผู้มาเยือนเพจ Sarinee Achavanuntakul ของผู้เขียนบนเฟซบุ๊คเพื่อเตือนใจตัวผู้เขียนเองและคนอื่นๆ
‘ตรรกะวิบัติ’ หมายถึงข้อถกเถียงที่ใช้เหตุผลผิดพลาด โดยที่ตัวข้อถกเถียงนั้นอาจจะถูกหรือผิดก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น สมมตินาย ก. พูดว่า “โลกร้อนขึ้นเพราะน้ำมือมนุษย์” นาย ข. เถียงว่า “แต่พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกนะ” แบบนี้ นาย ข. กำลังใช้ตรรกะวิบัติ เพราะพระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศไหนก็ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับประเด็นที่ นาย ก. ตั้ง ถึงแม้ว่าสิ่งที่ นาย ข. พูดจะถูกต้อง คือพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกจริงๆ ก็ตาม
กล่าวอย่างเป็นวิชาการเล็กน้อย เราสามารถแบ่ง ‘ตรรกะวิบัติ’ ทั้งหมดได้เป็นสองประเภท คือ ‘ตรรกะวิบัติทางการ’ กับ ‘ตรรกะวิบัติไม่เป็นทางการ’ ซึ่งประเภทหลังนี้อาจเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า ‘การไม่ใช้เหตุผล’
‘ตรรกะวิบัติทางการ’ หมายถึงการใช้เหตุผลอย่างผิดๆ เช่น การใช้เหตุผลแบบ ‘กำปั้นทุบดิน’ หรือ ‘ชอบยิงหุ่นฟาง’ (ดูคำอธิบายได้ในหนังสือเล่มนี้) ส่วน ‘การไม่ใช้เหตุผล’ ก็หมายความตรงตามตัวอักษร คือไม่ใช้เหตุผลตั้งแต่ต้น เช่น ด่าทอหรืออุปโลกน์เรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับประเด็นที่กำลังถกกันอยู่
ตรรกะวิบัติแต่ละข้อในหนังสือเล่มนี้จะมีเครื่องหมายกำกับให้รู้ว่าเป็นประเภทไหน พร้อมแหล่งอ้างอิงให้เปิดไปดูข้ออื่นที่คล้ายคลึงกัน
ถึงที่สุดแล้ว เราทุกคนสุ่มเสี่ยงที่จะใช้ตรรกะวิบัติด้วยกัน ทั้งนั้น ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ไม่เว้น และการใช้เหตุผลอย่างถูกต้องก็ไม่ได้รับประกันว่าจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ถูกต้อง ดีงาม มีประสิทธิภาพ
หรือเป้าหมายอื่นใดก็ตามของการถกเถียงนั้นๆ แต่การใช้เหตุผลก็เป็น ‘ก้าวแรก’ ที่จำเป็นในการพูดคุยถกเถียง
เปรียบเสมือนกับการขับรถ—ขับเป็นไม่ได้แปลว่าจะวิ่งไปถูกทิศ หรือไม่หลงทาง แต่ถ้าเราขับรถไม่เป็น รถคันนั้นย่อมนิ่งสนิทอยู่กับที่ วิ่งไปไหนไม่ได้ หรือไม่ก็วิ่งไปเข้ารกเข้าพง
ผู้เขียนขอขอบคุณ แบงค์—ณัฐชนน มหาอิทธิดล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ที่ให้โอกาสคนรุ่น ‘กลางเก่ากลางใหม่’ อย่างผู้เขียน ได้ออกหนังสือกับสำนักพิมพ์ขวัญใจวัยรุ่น และขอขอบคุณ แชมป์—ทีปกร วุฒิพิทยามงคล สำหรับภาพประกอบเท่ๆ ในหนังสือ
ในวาระที่สังคมดูจะฉาบฉวย มักง่าย และสายตาสั้นขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่หลายคนไม่อยากแม้แต่จะกวาดสายตาลงไปอ่านบรรทัดที่สอง ผู้เขียนหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้เราถกเถียงกันอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น ตั้งสติรับฟังและให้เกียรติทุกฝ่ายมากกว่าเดิม
รถยนต์ในสมองของเราจะได้ออกสตาร์ทเสียที
ขอให้ทุกท่านสนุกสนานเพลิดเพลินกับการอ่าน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in