ตรรกะวิบัติข้อนี้ฝรั่งเรียกว่า ‘Straw man fallacy’ หมายถึง การเอาจุดที่อ่อนที่สุดในข้อถกเถียงของคู่กรณีมาขยายให้ใหญ่เกินกว่าที่เขาพูด และโจมตีราวกับว่าเขาพูดเฉพาะจุดนั้น ไม่เคยมีเหตุผลอื่นเลย เป็นเหมือนการตั้งหุ่นฟางที่เบาหวิวไร้แรงต้านทานขึ้นมายิงทิ้งอย่างง่ายดาย
แบบแผนปกติของตรรกะวิบัติข้อนี้คือ
1. นาย ก. เสนอ X
2. นาย ข. อ้างว่า นาย ก. เสนอ Y (ซึ่งเป็นการบิดเบือนหรือลดทอน X ลงมาให้เหลือรูปที่อ่อนที่สุด ให้เห็นชัดที่สุดว่าไม่มีเหตุมีผล)
3. นาย ข. โจมตี Y
4. นาย ข. อ้างว่าดังนั้น X จึงผิดหรือไม่มีเหตุมีผล
ยกตัวอย่าง นาย ก. บอกว่า “เพื่อกำจัดวงจรอุบาทว์ของนักการเมืองโกง เราต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นาย ข. โต้ว่า “ไม่ให้มีเลือกตั้งก็เท่ากับเป็นเผด็จการชัดๆ” ทั้งที่ นาย ก. ไม่ได้เสนอว่า ‘ไม่ต้องมีเลือกตั้ง’ แต่เสนอว่าควร ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’
อีกตัวอย่างหนึ่ง นาย ก. เสนอว่า “เราต้องเลือกตั้งก่อนปฏิรูปเพื่อดูว่าประชาชนอยากให้ใครเป็นเจ้าภาพฝั่งรัฐในการปฏิรูป” นาย ข. โต้ว่า “ชอบนักการเมืองโกงหรือไง ถ้ามันชนะเลือกตั้งก็เข้า
มาโกงอีก ให้เลือกตั้งไม่ได้” ทั้งที่ นาย ก. ไม่ได้เสนอว่าเขาชอบนักการเมืองโกง แต่เป็น นาย ข. เองต่างหากที่สร้างสมการหุ่นฟาง (ชนะเลือกตั้ง = โกงแน่ๆ = จับคนโกงไม่ได้ ขึ้นมาให้ตัวเองยิงตกไป)
ตรรกะวิบัติข้อนี้อาจเกิดจากความจงใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ เพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการบรรจงสร้างหุ่นฟางขึ้นมายิง แต่มักจะเกิดจากการที่เราไม่ตั้งใจฟังคนที่เราเถียงด้วยจริงๆ
แล้วดันเชื่อมโยงเหตุผล สร้างสมการในหัวว่าเขาคิดอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ซึ่งวิธีสร้างสมการนั้นมักจะทำแบบ จัดเซ็ตขาว-ดำ ให้เขาเองเสร็จสรรพ (ดูข้อ 41 ประกอบ)
เวอร์ชั่น ‘มุมกลับ’ ของตรรกะวิบัติข้อนี้คือ การ ‘ขยาย’ ข้อถกเถียงของคู่กรณีให้ใหญ่กว่าที่เขาพูดแล้วโจมตี (ดูข้อ 49) หรือขยายไปถึงอุดมคติซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว (ดูข้อ 46)
ส่วนเวอร์ชั่นที่ ‘แรง’ กว่า (และแย่กว่า) ของตรรกะวิบัติข้อนี้คือการอุปโลกน์จุดยืนของคู่กรณีขึ้นมาเอง ทั้งที่เขาไม่เคยพูดเลย (ดูข้อ 18)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in