ถกเถียงกันอยู่ดีๆ ก็ยกหลักการหรือนามธรรมกว้างๆ เช่น ศีลห้า มรรคแปด บทสวด หลักธรรมาภิบาล ระบบตลาด ฯลฯ มาแปะให้อ่าน (ซึ่งหลายครั้งก็ยาวเป็นพืดชนิดอ่านแล้วเวียนหัวตาลาย) ราวกับว่าคัมภีร์ที่ยกมานั้นสามารถตอบข้อสงสัยได้กระจ่างแจ้งแดงแจ๋ทุกประเด็นโดยไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม ใครอ่านแล้วจะตรัสรู้ได้เองว่าข้อเสนอของผู้อ้างคัมภีร์นั้นถูกต้อง ทั้งที่มันบอกอะไรเกี่ยวกับกรณีที่กำลังถกกันอยู่ไม่ได้เลย ‘คัมภีร์’ ยอดนิยมในอินเทอร์เน็ตไทยมักจะเป็นพวกหลักธรรมทั้งหลาย อาทิ ‘บัว 4 เหล่า’ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว แต่เนื่องจากพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อน สุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ ทรงเกิดความท้อพระทัยว่า
จะไม่แสดงธรรมโปรดมหาชน ต่อมาท่านได้ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้ง แล้วทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า ดังนั้นแล้วจึงดำริที่จะแสดงธรรมเพื่อมวลมนุษยชาติต่อไป
บัว 4 เหล่า ได้แก่
1. บัวพ้นน้ำ
พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที (อุคฆฏิตัญญู)
2. บัวปริ่มน้ำ
พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป (วิปจิตัญญู)
3. บัวใต้น้ำ
พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง (เนยยะ)
4. บัวในตม
พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (ปทปรมะ)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in