เบื้องหลังของ ออย ฮอร์โมนส์ มารู้จักกับ ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร

Hormones 3 หรือฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่นภาค 3 ซึ่งดำเนินมาถึงซีซั่นสุดท้ายแล้ว ต้องยอมรับว่านี่เป็นละครชุดที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งด้วยเนื้อเรื่องที่เข้มข้น และนักแสดงที่เก่งกาจ ตัวละครแต่ละตัวราวกับมีชีวิตมีตัวตนจริงๆ จนคนดูอย่างเราๆ ถึงกับดูไปจิกหมอนไป เพลินมาก เพลินจน… อ้าว จบตอนแล้ว ฉายตอนต่อไปเดี๋ยวนี้เลยได้มั้ย นะ ไม่ได้เหรอ เชอะ

หนึ่งในตัวละครที่สร้างสีสันให้กับเรื่องนี้คนหนึ่งก็คือ ออย เด็กสาวผู้เก็บตัวเงียบ ขาดความมั่นใจในตัวเอง รักเพื่อน และมีความลับที่ปิดบังหลายๆ คนอยู่ (แต่ใครที่ดูก็รู้กันหมดแล้วล่ะเนอะ) แสดงโดย นรีกุล เกตุประภากร หรือ ฟรัง และนี่คือบทสัมภาษณ์ที่น้องฟรังเคยมาร่วมคุยกับนิตยสาร giraffe magazine ถ้าใครสนใจที่จะรู้จักตัวตนผู้อยู่เบื้องหลังของ ออย ฮอร์โมนส์ ล่ะก็ เชิญครับเชิญ รับรองว่าไม่มีตัดจบตอนให้ค้างคาใจ


Where We Grown Up?
ที่ที่เราโตอยู่
ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร

 
        -ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่เราก็สามารถเข้าใจความรักได้ มันไม่เกี่ยวกับอายุ
        -จริงๆ ตัวละครออยก็เป็นแค่เด็กคนหนึ่งแหละ ไม่ได้เป็นงูพิษอะไร เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่อยากมีตัวตน
      -พอได้มาแสดงเป็นออย มันทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ทุกคนคงมีเหตุผลของตัวเอง มันเลยทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่ค่อยตัดสินใคร
        -จะผิดบ้าง พลั้งบ้าง มันก็โอเคนะ มันก็คือชีวิต มันคือประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้
     
why
หลังจาก Hormones วัยว้าวุ่น ซีซัน 2 จบลง ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร ในบท ‘ออย’ เด็กสาวเก็บกด ก็แจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัว การแสดง ‘น้อยแต่มาก’ ของเธอช่างทรงพลัง เธอคือนักแสดงรุ่นใหม่อีกคนที่น่าจับตา แต่ไม่ใช่แค่ในฐานะนักแสดงเท่านั้น เพราะในชีวิตจริง เธอยังเป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่มีความคิดความอ่านน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
 
        เพียงตอนเดียว และคำพูดเศร้าๆ ไม่กี่ประโยค...
        จะว่าแบบนั้นก็ได้
        ที่ส่งให้ชื่อของนักแสดงน่าใหม่อย่าง ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร ในบท ‘ออย’ เด็กสาวเก็บกด ผู้ปลอมตัวตนเป็นคนอื่นในโลกอินเทอร์เน็ต จากซีรีส์วัยรุ่นม.ปลาย เรตติ้งดี Hormones วัยว้าวุ่น ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
        เธอเป็นคนเดียวจาก กลุ่มนักแสดงชุดใหม่ในซีซัน 2 ที่มีชื่อตอนเป็นของตัวเอง (Ep.10 ออย) ทั้งๆ ที่เกือบทั้งซีซันตัวละครออยของเธอ กลับหลบอยู่ข้างหลังตัวละครอื่นที่เด่นกว่ามาโดยตลอด
        “ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เธอจะคุยกับเราเหรอ?”
        แต่จนแล้วจนรอด เพียงคำพูดเศร้าๆ แต่ทรงพลัง (ทรงพลังจน giraffe ต้องเอามาอ้างถึงในคอลัมน์ Core : I Post, Therefore I am? [Issue 00]) ประโยคนั้น ก็กลับเปลี่ยนนักแสดงสาวที่คนดูอาจคิดว่า เธอเป็นแค่ตัวประกอบ ให้โดดเด่นขึ้นมาในสายตาของผู้ชม กลายเป็นนักแสดงอีกคนที่มีคนมากมายเฝ้ารองานใหม่ของเธอในซีรีส์แนวสยองขวัญอย่าง เพื่อนเฮี้ยน โรงเรียนหลอน ที่กำลังออนแอร์อยู่ในขณะนี้อย่างใจจดใจจ่อ
        เธอคือเด็กสาวอายุ 17 ปีที่อาจเรียกได้ว่า มีโชคชะตาคอยเกื้อหนุน เพราะในตอนที่ Hormones คัดเลือกนักแสดงชุดใหม่ภายใต้การประกวด Hormones The Next Gen นั้น เธอไม่ได้สมัครมาด้วยตัวเอง แต่เป็นการพบเจอกับทีมงานโดยบังเอิญผ่านโซเชียลมีเดียที่เธอเล่นอยู่ทุกวัน
        เด็กสาวอายุ 17 ที่อาจกระโจนเข้าสู่การทำงานหนักก่อนเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน เป็นเด็กสาวที่เติบโตมากับยุคอินเทอร์เน็ต พกสมาร์ตโฟนติดตัวไม่ห่าง พร้อมจะก้มดูโทรศัพท์ตลอดเวลาเมื่อมีเวลาว่างเหมือนคนอื่นๆ เป็นเด็กสาวที่กำลังอยู่ในช่วงวัยสดใสและเปราะบาง ช่วงวัยมัธยมที่สุดท้ายอาจกลายเป็นความทรงจำแสนงาม หรือเลวร้ายก็ได้หากใช้ความพลุ่งพล่านของวัยรุ่นทำอะไรลงไปโดยไม่ยั้งคิด  เป็นวัยฮอร์โมนอันแสนว้าวุ่นที่อาจเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเองมากกว่าเหตุผล แต่ขณะเดียวกันอาจมีคำถามมากมายที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในข้อสอบใดๆ ติดอยู่ในใจเพื่อรอวันเฉลยคำตอบ --
        ...ซึ่งหนึ่งในคำถามเหล่านั้นอาจเป็นคำถามที่ว่า เมื่อเติบโตขึ้นมาเราควรเป็นคนแบบไหน?
 
ชีวิตม.ปลาย ในยุคนี้ มันเหมือนกับที่เราได้ดูจากซีรีส์ Hormones เลยหรือเปล่า
      ถ้าเป็นโรงเรียนฟรัง (เตรียมอุดมศึกษา) ก็อาจจะต่าง คงไม่แรงแบบที่เราได้เห็นจากในซีรีส์ แต่มันก็จะมีความคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว คือถ้าเป็นตัวฟรังเองชีวิตก็คงไม่ได้เจออะไรหนักๆ แบบใน Hormones สักเท่าไหร่
 
แล้วตัวตนจริงๆ ของฟรังก์กับตัวละคร ‘ออย’ ล่ะ
      ต่างค่ะ (ตอบทันที) ออยเขาจะเป็นคนที่กลัวการเข้าหาคนที่ไม่รู้จัก กังวลตลอดเวลาว่า คนอื่นเขาจะคิดยังไงกับเรา แต่ฟรังจะเป็นคนไม่คิดอะไรมาก ไม่ใช่คนขี้กังวล เจอคนไม่รู้จักก็คุยได้ แต่จริงๆ แล้ว คนเรามันมีหลายแง่มุมนะ บางครั้งฟรังก็จะมีมุมแบบออยเหมือนกัน คืออยากอยู่เงียบๆ คนเดียว แต่ส่วนใหญ่ก็จะร่าเริง อยากอยู่กับเพื่อนมากกว่า
 
ว่ากันว่าวัยรุ่นคือวัยที่ต้องการอิสระสูง จริงๆ แล้วการมีอิสระมันสำคัญขนาดไหน ในขณะที่เวลาเรียนหนังสือ โรงเรียนก็จะมีกฎระเบียบมากมาย
      สำคัญนะ ฟรังชอบอิสระ แต่การมีกฎระเบียบมันก็เป็นเรื่องดี เพราะถ้าไม่มีกฎ มันอาจจะเละก็ได้ (นิ่งคิด) แต่ฟรังอาจจะไม่ได้ทำตามทั้งหมดนะ (หัวเราะ)  คือเราต้องดู ต้องพิจารณาด้วย มันก็จะมีบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วยบ้าง การเป็นวัยรุ่นบางทีมันต้องกล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องไม่เดือดร้อนคนอื่นด้วย อะไรที่รู้ว่าไม่ดีอยู่แล้วก็อย่าไปทำ คือต้องเป็นอิสระในทางสร้างสรรค์ ...อย่างโดดเรียนนี่ไม่ควร...
 
แต่เคย?
      เคยค่ะ (หัวเราะ)
 
คิดยังไงที่ผู้ใหญ่ (ไม่ว่ายุคไหน) มักมองว่า คนอีกรุ่นที่เด็กกว่าไม่ได้เรื่องเสมอ
      ครูชอบพูดประจำเลย (หัวเราะ) แต่ฟรังคิดว่า มันเป็นคนละยุคไง มุมมองของเขาอาจเห็นเด็กสมัยนี้เปลี่ยนไป ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ละยุคมันจะมีบริบท หรือพฤติกรรมแตกต่างกันไป ซึ่งสมัยเขาอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง
 
แล้วลักษณะของวัยรุ่นยุคนี้คืออะไร
      ก็หลากหลายนะ อย่างที่ได้เห็นใน Hormones จะมีความหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นๆ จะติดโซเชียลมีเดีย มีอะไรก็จะไปลงที่โซเชียลมีเดียเหมือนออย เวลาเจอตัวจริงกับในโซเชียลมีเดียจะคนละอย่างกันเลย และอาจจะมีสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดพฤติกรรมล่อแหลมมากขึ้น
 
อย่างใน Hormones มันก็จะมีประเด็นเรื่องความรุนแรง หรือประเด็นทางเพศที่คนบางส่วนอาจมองว่า ดูแรงจังเลย
      มันคงแค่เป็นบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดหรอก Hormones คือการยกตัวอย่างมาจากเรื่องจริงบางส่วนมากกว่า เช่น จะมีบางกลุ่มที่ชอบ ‘ไฝว้’ กันระหว่างโรงเรียนด้วยความคึกคะนอง ซึ่งจริงๆ ฟรังก์คิดว่า มันคงมีมาทุกยุคอยู่แล้ว ส่วนเรื่องประเด็นทางเพศมันก็เป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องมีสติ ต้องคิดให้ดีก่อนที่จะทำอะไรลงไป
 
งั้นฟรังคิดยังไงกับเรื่องความรักในวัยเรียน
        ความรักในวัยเรียนไม่ใช่เรื่องผิดนะ มีได้ มันเป็นสีสันในชีวิต แต่อย่างที่บอกคือต้องรู้จักขอบเขต และอย่าไปอินกับมันจนเกินไป ไม่ใช่พอผิดหวัง ก็มานั่งเสียใจจนต้องทิ้งทุกอย่างไป เราต้องโฟกัสเรื่องเรียนไว้ก่อน แล้วค่อยให้ความรักเป็นกำลังใจ เป็นแรงผลักดันให้ชีวิต ใช้มันในทางที่ถูก
 
แต่ถ้ามีคนบอกว่า ‘เด็กอายุแค่ 16-17 จะไปเข้าใจความรักได้ยังไง’ ล่ะ
        ฟรังว่าเข้าใจได้นะ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่เราก็สามารถเข้าใจความรักได้ มันไม่เกี่ยวกับอายุ ผู้ใหญ่จะชอบบอกว่า เด็กไม่เข้าใจความรักหรอก ไว้โตก่อนค่อยมี เดี๋ยวก็เลิกกัน แต่ฟรังก็เห็นมีหลายคู่ที่เขาคบกันมาตั้งแต่วัยเรียน แล้วไปกันได้ตลอดรอดฝั่งก็มี
 
เมื่อกี้ฟรังบอกว่า วัยรุ่นยุคนี้ติดโซเชียลมีเดีย —ในวันที่ทุกคนมีกล้อง มีมือถือ ไปไหนมาไหนก็ถ่ายรูปกันตลอด พร้อมที่จะโพสต์ จะแชร์ วิจารณ์ หรือถึงขั้นประณามอะไรต่างๆ โดยไม่ยั้งคิด ฟรังมองจุดนี้ยังไง
      โซเชียลมีเดียมันมีทั้งข้อดีและไม่ดีนะ มันดีที่ทำให้เราสะดวก จะทำอะไรก็สะดวก ส่งงาน คุยงาน หาข้อมูล เมื่อก่อนสมัยประถม เวลาครูเขาสั่งงาน เราต้องรอกลับบ้านก่อนเพื่อจะได้ไปทำ ทุกวันนี้เวลาครูถามอะไร เราก็สามารถหา แล้วตอบได้เลย เราก็จะดูฉลาด (หัวเราะ) ล้อเล่นนะคะ คือมันดีนะ ถ้าเราใช้ในทางที่ถูก แต่บางทีถ้าใช้มากเกินไป มันก็อาจทำให้ติดได้ ทำให้สมาธิสั้น กลายเป็นคนขี้กังวล ฟรังก็ติด (หัวเราะ)
        แล้วเดี๋ยวนี้เยอะมาก ที่พอมีอะไรคนก็จะถ่ายรูปลงเน็ต แล้วก็ไปวิจารณ์คนอื่น จริงๆ ฟรังคิดว่านั่นคือการละเมิดนะ มันเหมือนเราไปตัดสินเขาไปแล้วจากรูปแค่รูปเดียว บางทีการยืนพิงเสาในรถไฟฟ้า มันอาจจะเป็นแค่จังหวะหนึ่งเท่านั้น แต่กลายเป็นเขาโดนถ่าย แล้วเอาไปลง พอคนไปวิจารณ์ มันก็อาจจะทำให้เขาเสียหายได้


 
ถ้าใช้ศัพท์เป็นทางการหน่อยเราอาจเรียกสิ่งนั้นว่า ‘ตรรกะวิบัติ’
      ใช่ๆ จริงๆ ฟรังไม่อยากให้ไปตัดสินใคร คือเข้าใจว่ามันก็คงห้ามยาก (นิ่งคิด) แต่พอมาเล่น Hormones มันก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นนะ อย่างตัวละครออย ถ้าเมื่อก่อน ให้มองจากสายตาคนทั่วไป เราอาจมองว่าอีนี่แปลก ทำไมถึงทำแบบนี้ (ปลอมเฟซบุ๊กเป็นคนอื่น) พอได้มาแสดงเป็นออย มันทำให้เราเริ่มเข้าใจขึ้นว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ทุกคนคงมีเหตุผลของตัวเอง มันเลยทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่ค่อยตัดสินใคร เพราะทุกตัวละคร ถ้าเราได้ดูจริงๆ มันก็จะเหตุผลของแต่ละคน ของแต่ละการกระทำ ในชีวิตจริงก็คงเหมือนกัน อย่างเพื่อน มันต้องมีอยู่แล้ว เพื่อนที่มีบุคลิกแปลกๆ แต่เขาคงมีเหตุผลของเขา บางครั้งเขาอาจจะอารมณ์เสียมา เราก็ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ—ใจเขาใจเรา ต้องใช้เหตุผลคุยกัน
 
ตอนนี้ฟรังได้ไปแสดงซีรีส์เกี่ยวกับผี (เพื่อนเฮี้ยน โรงเรียนหลอน) ซึ่งจะว่าไป หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ เรื่องราวในซีรีส์เป็นอย่างไร แล้วฟรังก์เชื่อเรื่องผีหรือเปล่า
        เพื่อนเฮี้ยน โรงเรียนหลอน เป็นซีรีส์เล่าเรื่องผีจากผู้กำกับ 13 คน แต่ละคนก็จะกำกับคนละ 1 ตอนที่แตกต่างกันไป — ฟรังรับบทเป็น ‘ว่าน’ เป็นตอนที่ 6 ชื่อตอน ‘ปู่โสม’ —ว่านจะเป็นเด็กในครอบครัวคนทรง แต่จะเป็นคนทรงปลอม แล้วว่านจะไม่ชอบสิ่งนี้เท่าไหร่ แต่แม่จะคอยบอกว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้หลอกคน เพราะเราก็ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นในด้านจิตใจ จนวันหนึ่งเรื่องบางอย่างก็เกิดกับเพื่อนเรา ซึ่งมันจะกลายเป็นจุดพลิกผัน... แต่เอาจริงๆ คือฟรังเป็นคนไม่กลัวผีนะ แต่จะเชื่อเรื่องบาปบุญ คือไม่กลัว แต่ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อเลย อาจเป็นเพราะเราไม่เคยเจอมากกว่า หรืออาจจะเคยเจอ แต่ฟรังไม่รู้ว่าเป็นผี (หัวเราะ)
 
ซึ่งจริงๆ แล้วคนอาจน่ากลัวกว่าผี?
      ก็จริงค่ะ เพราะฟรังยังไม่เคยเจอผีเลย ยังไม่รู้ว่าผีจะหลอกเรายังไง แต่คนนี่น่ากลัวจริง เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาคิดอะไรกับเรา บางทีคนที่เราคิดว่าเป็นเพื่อน แต่กลับมาหักหลัก มันก็มีให้เห็นเยอะแยะ
 
ย้อนกลับไปที่ ‘ออย’ อย่างออยล่ะเป็นคนน่ากลัวไหม
      อย่างออยนี่เขาอาจจะไม่กล้าเข้าสังคม ที่บ้านก็ไม่ค่อยให้ความสนใจ จริงๆ เขาจะสนิทกับขนมปัง (แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์) แต่พอเพื่อนมีแฟน ออยก็โดนเพื่อนทิ้ง เลยทำให้พอมีเรื่องอะไรก็ไม่รู้จะไปพูดไปคุยกับใคร กลายเป็นคนที่ไม่มีที่ยืนในสังคม พอไม่รู้จะไปไหน ก็เลยไปลงกับโซเชียลมีเดีย เอาความเครียด เอาอะไรหลายอย่างไปลงในนั้น
 
แล้วทำไมออยถึงต้องปลอมตัวเป็นสไปร์ท (เก้า-สุภัสสรา ธนชาต) ล่ะ
      ก็เพราะ พี่สไปร์ทน่ารัก ใครๆ ก็อยากคุยด้วย (เลียนแบบท่าทางในซีรีส์) (หัวเราะ) คือจริงๆ ออยก็คงไม่ได้ตั้งใจจะทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนั้น แต่บังเอิญในเรื่องมันอาจจะเลยเถิดไป ฟรังคิดว่า จริงๆ ตัวละครออยก็เป็นแค่เด็กคนหนึ่งแหละ ไม่ได้เป็นงูพิษอะไร เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่อยากมีตัวตน แต่บางทีมันก็เลยเถิดไปไกลมาก จนกลายไปเป็นการทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งในสังคมจริงๆ ก็มีเยอะนะ
 
ถ้าสลับตำแหน่งกัน ให้ฟรังกลายเป็นเพื่อนสนิทออย เราจะเตือนเพื่อนยังไงดี
      ก็คงบอกว่า อย่าทำเลย มีอะไรบอกเราก็ได้ แต่ถ้าเป็นในซีรีส์ คือเพื่อนสนิทออยอย่างขนมปังเขาไม่รู้ไงว่าออยทำอะไรบ้าง เพราะขนมปังเป็นคนแบบไม่คิดอะไรเลย คือก็คิดแหละ แต่อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่าไหร่ แบบลั้ลลาไปวันๆ (หัวเราะ) ถ้าฟรังเป็นขนมปัง แล้วรู้ว่าเพื่อนทำแบบนี้ ก็คงไปคอยอยู่เคียงข้างเพื่อน รับฟังเพื่อน
 
วัยรุ่นอาจเป็นวัยว้าวุ่นเหมือนชื่อซีรีส์ แล้วเราควรใช้ชีวิตยังไง ให้ไม่เกิดบาดแผลทางจิตใจทั้งต่อตัวเอง และผู้อื่นมากนัก
      ก็ต้องอย่าใช้อารมณ์นำเหตุผลจนเกินไป ต้องมีสติ และต้องระวัดระวังตัว เพราะอยู่ในสังคมภายนอก เราไม่มีทางรู้เลยว่า ใครจะคิดยังไงกับเรา อย่าไว้ใจคนอื่นจนเกินไป ควรคิดใคร่ครวญให้เยอะ อย่าประมาท จะผิดบ้าง พลั้งบ้าง มันก็โอเคนะ มันก็คือชีวิต มันคือประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้
 
ในวันนี้ ที่ยังเรียนหนังสืออยู่ อะไรคือความสุขของการได้ใช้ชีวิตในโรงเรียน
      ฟรังอยู่โรงเรียนแล้วมีความสุขนะ ฟรังชอบที่จะได้เจอเพื่อน คือเรื่องเรียนก็คงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเราแหละ แต่นอกเหนือจากนั้นคือเรื่องของกิจกรรม การได้เจอเพื่อน การได้รู้จักกับคำว่า มิตรภาพ
     
แน่นอนว่า วัยรุ่นวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า สุดท้ายแล้ว ฟรังอยากเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
      ฟรังอยากเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจเด็ก ถ้าสมมติทำงาน ก็อยากเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ ได้ ให้เด็กมองแล้วเห็นเราเป็นไอดอล อยากเป็นผู้ใหญใจดี ไม่ดุเด็ก —รักเด็กค่ะ ไม่ใช่ล่ะ (หัวเราะ) 



ข้อมูลจาก giraffe magazine