เจาะลึกเรื่องอินไซด์ของวัยฮอร์โมนกับ 'บอส' พี—สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร

ออฟฟิศ giraffe แทบจะระเบิด!

    ในวันที่ พี—สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร มาถ่ายปกกับเรา ออฟฟิศ giraffe แทบจะระเบิด
 ฝ่ายพิสูจน์อักษรสาวของเราแทบจะสลบคาโต๊ะด้วยความคลั่งไคล้ กองบรรณาธิการสาวๆ ชะเง้อมองเข้าไปในห้องแต่งหน้าโดยไม่มีกระจิตกระใจจะทำอะไร ทั้งๆ ที่เดดไลน์ปิดเล่มของ giraffe ฉบับที่อยู่ในมือท่านผู้อ่านก็กำลังกระชั้นเข้ามาเรื่อยๆ


        ทำไม?

รูปลักษณ์แบบหล่อทะลุแว่นของพีคงเป็นเหตุผลหนึ่ง แต่ก็ใช่ว่า giraffe จะไม่เคยมีหนุ่มๆ หน้าตาหล่อขั้นเทพมาขึ้นปกเสียเมื่อไหร่ แถมบท 'บอส' จากซีรีส์ ฮอร์โมนส์ฯ ซีซั่น 3 ที่พีได้รับนั้น ก็ดูเหมือนจะยากยิ่งกว่ายากที่จะส่งเสริมให้เขาป็อบปูลาร์ขึ้นมาในหมู่แฟนๆ ได้ ยิ่งถ้าเข้าไปดูหน้าเพจเฟซบุ๊กในช่วงที่ซีรีส์ชื่อดังเรื่องนี้กำลังออกฉาย คอมเมนต์อินจัดจากบรรดดาคนดูที่ด่าทอพฤติกรรมพูดจาตรงไปตรงมา ยึดมั่นกับอุดมคติบางอย่างจนไม่สนใจความรู้สึกคนรอบข้างของตัวละครบอส ก็คงเป็นข้อยืนยันได้

แล้วทำไมทีมงานสาวๆ ของเราถึงเสียอาการได้มากมายขนาดนั้น

ข้อสันนิษฐานสั้นๆ ของเราคือ สำหรับบางคน ก็ดูเหมือนเขาหรือเธอจะ born to be เพื่อมาเป็นอะไรสักอย่าง born to be เพื่อเป็นใครสักคนที่เหมาะสมแก่การโดนแสงสปอร์ตไลต์สาดส่อง อย่างที่พีเล่าให้เราฟังว่า เขามาเป็นนักแสดงของ  ฮอร์โมนส์ฯ ได้ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนส่งอินสตาแกรมของเขาไปให้ทีมคัดเลือกนักแสดง Hormones The Next Gen พิจารณา 

และสำหรับใครหลายคน อาจโดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว แม้บทของบอสจะไม่ได้ป๊อบปูลาร์ในโรงเรียนนาดาวบางกอกอันเป็นฉากหลังของเรื่องราวเท่าไหร่ แต่เราทุกคนก็ล้วนมีความเป็นบอสแอบซ่อนอยู่ภายในไม่มากก็น้อย เราอยากแข็งแกร่ง อยากหันหน้าเข้าหาสิ่งที่เรามองว่าไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม และตะโกนออกไปดังๆ ใส่หน้าความไม่ชอบธรรมเหล่านั้นให้สาสม ก่อนหันหลังจากมา โดยที่ยังยืนยันกับตัวเองอย่างไม่ประหวั่นพรั่นพรึงได้ว่า ฉันไม่แคร์

“ไม่ว่าจะดูแข็งแกร่งแค่ไหน ผมคิดว่าทุกคนก็ต้องมีความเปราะบางในตัวเองทั้งนั้น บอสก็เหมือนกัน”

แต่แล้ว พีก็บอกกับเราแบบนั้น คำพูดคำจาและทัศนคติเกินวัยรุ่นอายุ 17 ปี—เป็นคำตอบของเด็กวัยรุ่นอายุ 17 ที่ไม่ทำให้เราแปลกใจว่า เหตุใดเขาถึงพุ่งไปข้างหน้าได้เร็วกว่าใครๆ ด้วยการลาออกจากโรงเรียนหลังจบ ม.3 ก่อนจะขวนขวายสอบเทียบวุฒิ ม.6 และกลายมาเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

และด้วยคำตอบในหลายๆ คำถามทำนองนั้น ก็ทำให้เรายอมรับอีกครั้งว่า คงไม่มีใคร born to be เพื่อมาเป็นบอสได้ดียิ่งกว่าพีอีกแล้ว

และดังนั้นเอง จึงทำให้เราไม่แปลกใจในตัวเองเช่นกันว่า ทำไมผู้ทำบทสัมภาษณ์นี้นั้น ก็เป็น #ทีมบอส คนหนึ่ง



ตอนที่ได้อ่านบท 'บอส' ครั้งแรก รู้สึกอย่างไร
จริงๆ แล้วตัวละครในซีซั่นนี้ทุกตัว ทีมเขียนบทจะเขียนออกมาจากตัวนักแสดงเอง โดยพี่ๆ ทีมงานจะเรียกเรามานั่งคุยอยู่ในห้อง ตั้งไมค์ให้เราเล่าประวัติชีวิต เล่าทุกอย่าง ทุกเรื่องที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง เช่น ทัศนคติต่อชีวิต หรือประวัติเกี่ยวกับพ่อแม่ เพื่อที่เขาจะได้ดูว่ามีอะไรน่าสนใจในตัวเราบ้าง แล้วถึงจะจับทัศนคติบางอย่างออกมา อาจจะคูณสิบเข้าไปเพื่อทำให้มันดูน่าสนใจขึ้น ซึ่งพอบทออกมาจริงๆ ตอนแรกเราไม่เข้าใจเลยนะว่า เราเหมือนบอสยังไง (หัวเราะ) เพราะบอสดูแบบเป็นคนเครียดมาก แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่า เราเป็นคนที่เครียดขนาดนั้น แต่ทุกคนที่ได้อ่านบท จะบอกว่า มึงแม่งบอสมากเลยว่ะ บอสคือมึงเลย แล้วอย่างตอนอ่านบทกันกับนักแสดงคนอื่น ก็จะมีโมเมนต์คล้ายๆ กับที่ผู้ชมรู้สึกนะ เช่น เวลาบอสเดินมา คนดูก็จะคิดว่า มึงมาทำอะไรอีกแล้วเนี่ย จะก่อปัญหาอีกแล้วใช่ไหม ตอนอ่านบทก็เป็นแบบนั้นเลย พอมีคำว่าบอสเดินเข้ามา ทุกคนก็จะซี๊ดปาก ซึ่งเราคิดว่าเราไม่ได้เป็นแบบนั้นนะ  โอเคแหละว่า ตอนเด็กๆ มันจะมีพาร์ตที่ผมเป็นคนจริงจังบ้าง แต่เท่าที่ได้ยินมา ตอนที่ทีมเขียนบทเขาร่างบทกัน มันจะมีบอสหลายเวอร์ชั่นมาก เช่น บอสแบบฮิปสเตอร์ถือกล้องตลอดเวลา มีหนังสือติดมือ หรือเป็นบอสแบบชิคๆ ก่อนที่จะมาเป็นบอสเวอร์ชั่นวรรณะไร้ตัวตน  ที่ทีมงานคิดว่าคงทำให้คนดูอินได้

ถ้าให้เป็นเพื่อนกับบอสในชีวิตจริงเอาไหม
ไม่เอา (หัวเราะ) คือผมรู้สึกว่า เราเป็นคนค่อนข้างชิลล์ๆ เลยอยากมีชีวิตที่ไม่ตึงเครียดมากขนาดนั้น ถ้าต้องอยู่กับเพื่อน เราก็จะนึกถึงการหัวเราะแบบมีความสุข  ผมคิดว่าผมคงเป็นเพื่อนกับบอสไม่ได้ คือผมคิดว่า บอสเขาน่าจะต้องเจอคนพูดตรงๆ ด้วยได้ อาจจะเป็นคนแบบออย เป็นคนที่น่าจะต้องรับมือเขาได้ คล้ายๆ อยู่ด้วยกัน แล้วมีจิ๊กซอว์ที่ต่อกันติด

เรื่องนี้เป็นงานแสดงเรื่องแรกเลยใช่ไหม ชีวิตนักแสดงเป็นอย่างไรบ้าง
เรื่องแรกครับ จริงๆ ตอนเด็กๆ ผมเคยอยากเป็นนักแสดงนะ ดูในทีวี แล้วรู้สึกว่ามันง่าย ใครหลายคนก็คงคิดว่าการเป็นดารามันง่ายมาก แค่ไปออกกล้อง แล้วพูดตามบทที่เขาให้มา บางครั้งเราไป judge เขาด้วยว่า เฮ้ย กูเล่นได้ดีกว่ามึงอีก แต่พอมาสัมผัสจริงๆ มันยากมาครับ มันไม่ใช่การแสดงแบบที่ผมคิดเลย ตอนเด็กๆ เราจะเข้าใจว่าการแสดงคือการเฟค การแกล้งว่ามีความสุข แกล้งว่าเราร้องไห้ แกล้งว่าเราเสียใจ แต่จริงๆ แล้ว มันคือการทำให้ตัวเองรู้สึก ได้บทโกรธมา เราก็ต้องโกรธจริงๆ ไม่งั้นความรู้สึกมันจะไม่ออกมาเลย สมมติเราตะโกนอย่างเดียวโดยไม่รู้สึก มันไม่ต่างอะไรจากการเล่นเป็นก้อนหินอะครับ เป็นก้อนหินที่พูดได้ แต่จริงๆ แล้วคุณต้องโกรธจริงๆ ซึ่งมันเครียดมากเลย ยิ่งบางวันมีทั้งซีนร้องไห้ ซีนโกรธในวันเดียวกัน อารมณ์มันจะขึ้นลงแบบพลุ่งพล่านตลอดเวลา ซึ่งจากที่ได้สัมผัสมา มันเลยทำให้ผมค้นพบว่า ผมยังชอบงานด้านการออกแบบที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยมากกว่างานแสดง แต่กับงานแสดง ผมก็คิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีนะ ถ้ามีโอกาสเราก็ยังอยากทำอยู่

คุณอายุแค่ 17 ปี แต่ออกจากโรงเรียนมัธยมฯ มาตั้งแต่จบม.3 เพื่อสอบเทียบ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้ก็ปี 2 แล้ว ไม่ได้คิดว่ามันเร็วไปใช่ไหม
ผมรู้สึกว่าไม่นะครับ ปัญหาเดียวของผมเลยคือเวลาเพื่อนไปเที่ยวผับกัน จะมีผมคนเดียวที่เข้าไม่ได้ (หัวเราะ) บางทีผมยังรู้สึกเลยว่า หรือเราอายุ 20 แล้ววะ แต่จริงๆ เราแค่ 17 เอง (หัวเราะ)

"ผมคิดว่ากว่าที่คนเราจะก้าวมาถึงกระบวนการฆ่าตัวตายเนี่ย เขาคงต้องเจอเรื่องหนักหนาสาหัสมากๆ มาก่อน คืออยู่ดีๆ แค่เสียใจกับเรื่องไม่กี่เรื่อง มันคงไม่คิดฆ่าตัวตายหรอก เพราะทุกคนก็รักตัวเองทั้งนั้น แล้วเรื่องเศร้าเรื่องเดียวกันเนี่ย ระหว่างเราเจอ กับคนอื่นเจอ มันอาจหนักหนาสาหัสไม่เท่ากันไง"

ไม่เสียดายช่วงเวลา ม.ปลาย ที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสมันเหรอ
มีคนบอกเยอะมากนะครับว่า ช่วง ม.ปลาย เป็นช่วงที่สนุกที่สุดของชีวิต เขาจะบอกว่า พลาดมากไอน้อง แต่อย่างโรงเรียนที่ผมเรียน (Shrewsbury International School) สำหรับ ม.ปลาย มันค่อนข้างเครียดมาก เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ก็จะตั้งเป้าอยากเป็นหมอ ประมาณว่าเป็นโรงเรียนของพวกเด็กหัวกะทิ มันเลยเครียด มีการแข่งขันกันเยอะ อย่างเพื่อนที่เรียนอยู่ยังบอกเลยว่า ดีแล้วที่มึงไม่เรียนต่อ (หัวเราะ)

แล้วรู้ได้อย่างไรว่า คณะที่เรียนอยู่เป็นสิ่งที่ใช่
จริงๆ รู้ตัวตั้งแต่ตอนอยู่ ม.2 แล้วครับ คือจริงๆ ตอนแรกอยากเรียนด้านนิเทศตั้งแต่อยู่ ป.6 (หัวเราะ) เพราะรู้สึกว่า ตัวเองชอบสื่อสารกับคน ชอบเอ็นเตอร์เทนคน แล้วพอขึ้น ม.1 ผมเริ่มชอบวาดรูป วาดไม่ค่อยเป็นหรอกครับ แต่ชอบ จนวันหนึ่งไปได้ยินว่ามีสาขาวิชาชื่อนิเทศศิลป์ พอได้ยินปุ๊บ ผมเลยคิดว่า เฮ้ย มันดูเป็นการเอาสองสิ่งที่เราอยากเรียนมาผสมกันเลย นิเทศ บวกกับ ศิลปะ ผมก็เลยไปนั่งเสิร์ชว่ามันเกี่ยวกับอะไร แล้วพบว่า มันเกี่ยวกับการออกแบบสื่อสาร เป็นการสื่อสารผ่านงานศิลปะ ผมก็เลยตัดสินใจมุ่งมาทางนี้เลย

แสดงว่าพ่อแม่ค่อนข้างให้อิสระในการตัดสินใจสูงพอสมควร
พี่สาวผมเคยทำมาก่อนน่ะครับ พี่สาวออกตอน ม.4 ส่วนผมออกหลังจากจบ ม.3  แต่จริงๆ ผมกลัวนะ ลาออกมาแล้ว แต่ยังไม่รู้เลยว่าจะเข้าได้ไหม ผมลาออกตั้งแต่ก่อนสอบเทียบอีก ตอนนั้นเป็นช่วงเคว้งของชีวิตมาก พ่อแม่ก็บอกว่า หรือจะกลับไปเรียนหนังสือก่อนไหม แล้วผมก็กังวลมากด้วย เพราะหนึ่ง—ไม่รู้จะสอบเทียบได้ไหม สอง—สอบเทียบผ่านแล้วจะเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือเปล่า ถ้าสอบเทียบไม่ผ่าน ก็ต้องย้อนกลับไปเรียนในโรงเรียนอีกรอบ ซึ่งมันน่าอายมากนะ คือผมต้องกลับไปซ้ำชั้นใหม่ แล้วถ้าเป็นแบบนั้นทุกอย่างคงเละอยู่เหมือนกัน 

แล้วตอนนี้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร เรียนเครียดไหม
  ไม่ครับ รู้สึกดีมาก รู้สึกไม่ชอบโรงเรียนมากกว่าอีก (หัวเราะ) เพราะการเรียนที่โรงเรียนมันเป็นการเรียนแบบเยอะๆ ต้องเรียนวิชาที่เราไม่ชอบ แล้วอย่างโรงเรียนผม เขาจะบังคับให้สอบเยอะมาก สอบประมาณสิบเอ็ดวิชา ต้องสอบฟิสิกส์ ชีวะ เคมี แล้วถ้าคุณเรียนไม่เก่ง เขาก็จะจับคุณไปเรียนอีกห้องหนึ่ง ซึ่งถ้าคุณต้องเรียนห้องนี้ คุณจะโดนคนอื่นดูถูกทันที ซึ่งมันกดดันนะ 



เวลาเครียดๆ หรือมีความทุกข์เคยร้องไห้บ้างหรือเปล่า
ถ้าร้องไห้ ผมคิดว่ามันคงต้องเป็นเรื่องที่เศร้ามากๆ เป็นเรื่องที่เข้ามากระทบจิตใจ เช่น เรื่องครอบครัว เพราะผมจะเป็นคนที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น จะมีช่วงหนึ่งที่ผมทะเลาะกับแม่ คือแม่ของผมเขาจะเป็นคนที่ชอบพูดจาประชดประชัน เหมือนคุณแม่ปกติทั่วไปแหละครับ ซึ่งตอนเด็กๆ ผมก็ยอมมาตลอด คือบางครั้งก็อยากเถียง รู้ว่ามันมีบางอย่างที่เขาพูดผิด แต่ก็ปล่อยให้เขาพูดๆ ไป แต่เมื่อสี่ห้าเดือนก่อน มีวันหนึ่งแม่เขาพูดจาประชดประชันมากๆ แบบเยอะมากๆ ตอนนั้นผมอยู่ในรถกับเขา อาจจะเป็นผมที่เริ่มโตขึ้นด้วย เลยคิดว่ามันไม่ถูกต้อง เลยพยายามใช้เหตุผลคุยกับแม่ว่ามันไม่ถูกต้องอย่างไร แต่แม่ก็ไม่ยอม เหมือนอารมณ์คนเป็นแม่ทั่วไป เขาก็จะเถียงๆๆๆ แล้วเกิดอาการน้อยใจว่าทำมันเดี๋ยวนี้ผมเป็นแบบนี้ เราก็บอกไปว่า เฮ้ย ไม่ใช่นะ พยายามพูดให้เขาเข้าใจว่าเราคิดแบบไหน แต่สุดท้าย แม่ก็ประชดประชันอีก (หัวเราะ) ซึ่งพอจอดรถ เข้าร้านอาหารไปกินข้าว แม่ก็ยังพูดไม่หยุด ผมก็เลยลุกออกจากโต๊ะไปเลย นั่นคือการกระทำที่แรงที่สุดเท่าที่ผมเคยทำเลยนะ เพราะเวลามีใครมาว่าอะไร ผมจะนิ่งมาก แต่ครั้งนั้นคือที่สุดแล้วจริงๆ ลุกจากโต๊ะ ไปสงบสติอารมณ์ในห้องน้ำ แต่พอกลับมา แม่ก็ยังพูดต่อแล้วก็กระแทกอารมณ์ใส่อีก (หัวเราะ) ผมก็เลยไม่กงไม่กินแล้ว หลับตา แล้วก็ร้องไห้ออกมาตรงนั้นเลย แบบควบคุมตัวเองไม่ไหวแล้ว

เวลาเศร้า จัดการกับภาวะนั้นอย่างไร
ผมเป็นคนที่ถ้ารู้สึกกับอะไรก็จะทำมันให้สุด เช่น ถ้าเศร้า ก็ให้เศร้าไปเลย ร้องไห้ไปเลย เปิดเพลงบิลด์ตัวเอง เอาให้มันเศร้าสุดๆ ไปเลย แล้วเดี๋ยวมันจะดีขึ้นเอง หรือถ้าเครียด ก็จะปล่อยให้ตัวเองเครียดไปเลย เครียดเยอะๆ ไปเลย เพราะผมรู้สึกว่า ถ้าเราเครียดอยู่ แล้วไปพยายามทำตัวให้มีความสุข มันก็ไม่หายอยู่ดี เพราะสมองเราจะพยายามคิดเรื่องนี้ตลอดเวลา อย่างคนอื่นจะบอกว่า เฮ้ย ไปกินข้าวกับเพื่อนดิ ไปดูหนังฟังเพลง ไปเดินสยาม แต่ผมจะคิดว่าไม่ดีกว่า คือถ้าเราเสียใจอยู่ แล้วพาตัวเองที่มีปัญหาไปทำให้เพื่อนเสียบรรยากาศ ผมเลือกอยู่บ้านคนเดียวดีกว่า

เวลาเศร้าเลือกที่จะเล่าให้ใครสักคนฟัง หรือเก็บไว้คนเดียว
ผมคงเลือกที่จะเล่า คิดว่าถ้าได้เล่าแล้วมันคงสบายใจกว่า โอเคแหละว่าเขาอาจจะช่วยเราไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ ณ สถานการณ์ตอนนั้นที่เราอึดอัด ถ้าได้คุยกับพี่สาว หรือเพื่อนสนิทสักคน ที่เรารู้ว่าเขาต้องเข้าข้างเราแน่ๆ มันก็เหมือนได้แชร์อะไรบางอย่างออกไป มันอาจทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องแบกรับเรื่องหนักใจไว้คนเดียว ยังมีคนที่เข้าใจเรา ซึ่งถ้าไม่พูด ก็จะไม่มีใครเข้าใจว่าเรารู้สึกอะไรอยู่

"ด้วยความที่เขา (บอส) เป็นคนจริงจัง เป็นคนแข็งๆ คิดว่าตัวเองแข็งแรงพอที่จะอยู่คนเดียวได้ เป็นคนที่ไม่แคร์โลก คิดอะไรก็ทำ คิดอะไรก็พูด แต่ว่าความจริงแล้วเขาก็จะมีมุมที่คนอื่นไม่เห็น มุมเซนซิทีฟ มุมอ่อนไหว มุมเสียใจที่เขาไม่เคยโชว์ให้ใครเห็นแม้กระทั่งพ่อแม่ แล้วพอเจอกับอะไรที่ขวางทางเขาทุกอย่าง คือทุกอย่างที่เขาตั้งใจ นิสัยของเขาทุกอย่างโดนขวางหมดเลย มันเลยเป็นเรื่องที่เศร้ามากๆ นะ"

แล้วอย่าง 'บอส' ล่ะ คิดว่าคนที่ดูแข็งแกร่งแบบบอสจะมีเรื่องเศร้าเหมือนคนอื่นไหม
ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว ประเด็นที่ ฮอร์โมนส์ฯ เอามาเล่นเป็นอะไรที่เศร้ามากๆ แล้วนะ คือด้วยความที่เขาเป็นคนจริงจัง เป็นคนแข็งๆ คิดว่าตัวเองแข็งแรงพอที่จะอยู่คนเดียวได้ เป็นคนที่ไม่แคร์โลก คิดอะไรก็ทำ คิดอะไรก็พูด แต่ว่าความจริงแล้วเขาก็จะมีมุมที่คนอื่นไม่เห็น มุมเซนซิทีฟ มุมอ่อนไหว มุมเสียใจที่เขาไม่เคยโชว์ให้ใครเห็นแม้กระทั่งพ่อแม่ แล้วพอเจอกับอะไรที่ขวางทางเขาทุกอย่าง คือทุกอย่างที่เขาตั้งใจ นิสัยของเขาทุกอย่างโดนขวางหมดเลย มันเลยเป็นเรื่องที่เศร้ามากๆ นะ มันเหมือนกับว่า ไม่มีใครยอมรับเขาเลยสักคน ไม่มีคนฟังเขาด้วยซ้ำ ไม่มีใครอยากรับรู้ว่าเขาต้องการอะไร ไม่มีใครเชื่อเขา แล้วก็ไม่มีคนที่เขาเชื่อใจได้เลย ซึ่งมันคงเป็นนิสัยของคนบนโลกนี้แหละมั้งครับ ที่จะชอบอะไรที่ดังกว่า กระแสหลักกว่า แต่ไม่มองกันข้างในจริงๆ ไม่มองว่าสิ่งที่เราต้องการจริงๆ อาจจะไม่ใช่ความหน้าตาดี แต่คือความถูกต้อง

คุณมองฉากการฆ่าตัวตายของ 'ออย' ในช่วงท้ายๆ ของซีซั่นอย่างไร คิดว่าคนเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกฆ่าตัวตายไหม
  ผมเคยทวิตประเด็นนี้ไปครั้งหนึ่งนะ ผมคิดว่ากว่าที่คนเราจะก้าวมาถึงกระบวนการฆ่าตัวตายเนี่ย เขาคงต้องเจอเรื่องหนักหนาสาหัสมากๆ มาก่อน คืออยู่ดีๆ แค่เสียใจกับเรื่องไม่กี่เรื่อง มันคงไม่คิดฆ่าตัวตายหรอก เพราะทุกคนก็รักตัวเองทั้งนั้น แล้วเรื่องเศร้าเรื่องเดียวกันเนี่ย ระหว่างเราเจอ กับคนอื่นเจอ มันอาจหนักหนาสาหัสไม่เท่ากันไง มันอาจเป็นเรื่องเศร้าที่ทำให้เขามองไม่เห็นอนาคตตัวเองแล้ว—แต่ถ้าให้บอกว่ามีสิทธิ์ฆ่าตัวตายไหม ...ยากจัง ยากมาก แต่ถ้าเป็นการฉีดยาให้ตายในทางการแพทย์ ให้ผู้ป่วยหนักๆ ที่ไม่มีทางรักษา ผมโอเคนะ เพราะบางคนเขาทรมานมาก ตื่นขึ้นมาก็ต้องทรมานทุกวัน 



อะไรที่ทำให้คนวัยฮอร์โมนส์อย่างคุณ 'ว้าวุ่น' ที่สุด
ก็คงเป็นเรื่องความรักแหละครับ

มีเรื่องแซ่บๆ บ้างไหม
ตอนนี้ก็แย่ครับ (หัวเราะ) ผมเพิ่งเลิกคุยกับคนหนึ่งไปเมื่อสองวันก่อนนี้เอง คือถ้าย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ผมคิดว่าผมยังรักใครไม่เป็นนะ คือชอบได้แค่ไม่กี่เดือนก็เบื่อแล้ว แต่กับคนนี้ เขาเข้ามาในช่วงที่ผมโตขึ้นพอดี อาจเป็นช่วงที่มีทัศนคติต่อความรักเปลี่ยนไป ซึ่งพูดตามตรงว่าผมเริ่มจริงจังแล้วเหมือนกันนะ คุยกับเขาหลายเดือนมาก แต่อยู่ๆ เขาก็เปลี่ยนไป การคุยไลน์มันไม่เหมือนเดิม แล้วผมมารู้ทีหลังว่า เขาไปให้เบอร์ผู้ชายคนอื่น สุดท้ายเขาก็บอกเราว่าอยากอยู่กับเพื่อน ไม่อยากคุย ตอนนั้นก็เสียใจมาก แล้วยิ่งรู้ว่าเขาไปคุยกับคนอื่น ก็ยิ่งเสียใจ ที่พีคมากคือไปดูหนัง แล้วไปเจอสองคนนั้นพอดี คือหลังจากวันที่รู้เลยนะ ผมร้องไห้นะ ร้องไห้ในโรงหนังเลย แต่พอหลังจากนั้นก็คิดว่าจะตัดใจ ไม่เอาแล้ว ...แต่ก็กลับไปคุยอีกในอีกสองเดือนต่อมา (หัวเราะ) คือเป็นผมเองที่ทักไปเพื่ออวยพรวันเกิดให้เขา แล้วเขาก็ดันตอบมาดีทุกอย่าง ความรู้สึกเดิมๆ มันพรึ่บกลับมาหมดเลย แล้วก็กลับไปคุยอีกต่อเนื่องหลายวัน ในขณะที่เขาก็คุยกับคนนั้นอยู่นะ ตอนนั้นแบบยอมทุกอย่าง เป็นผัวน้อยก็เอา (หัวเราะ) แล้ววันหนึ่งเขาก็มาบอกว่า 'เขามีคนคุยอยู่แล้วนะ รู้สึกแปลกๆ ปะ ไปคิดดีๆ ละกัน' โคตรพีค ตอนนั้น ผมคิดว่าพอแล้ว ไม่ยุ่งแล้ว แต่ก็มีครั้งที่สามอีกจนได้ (หัวเราะ) ครั้งที่สามที่กลับไปคุยนี่ คนอื่นด่าผมยับ ทั้งเพื่อน พ่อ แม่ พี่สาว ทุกคนด่าว่ามึงบ้าหรือโง่กันแน่ อย่างเพื่อนนี่ก็โกรธเราไปเลย ไม่คุยกันหลายวันมาก แล้วสุดท้ายก็จบเหมือนเดิม แต่ตอนนี้พอเลิกคุยปุ๊บก็โอเคแล้วนะ อยู่ดีๆ มันก็โล่งมาก แล้วก็ไม่นอยด์เลย คือช่วงนั้นนอยด์ตลอดเวลา ขมวดคิ้วตลอดเวลา แล้วก็หยุดขมวดไม่ได้ ตอนนี้ก็คิดว่าจะต้องเริ่มใหม่กับคนอื่นสักที (หัวเราะ) 



ฮอร์โมนส์ฯ ปิดฉากไปแล้ว ในฐานะที่เคยเป็นทั้งคนดูและนักแสดง คิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ให้อะไรแก่คนดูบ้าง
มันคือเรื่องราวที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อนในทีวีน่ะครับ มันเป็นความจริงของโลก แล้วพอมันเป็นความจริง มันเลยเรียกความสนใจของคนได้ คือทุกอย่างมันจริงมาก มันไม่ใช่เรื่องที่เขาแต่งขึ้นมาเพื่อเอามันหรือเอาสนุกอย่างเดียว คือเวลาเขียนบท ทีมงานก็พยายามไปหาเรฟเฟอร์เรนต์มาจากคนที่ประสบเหตุการณ์แบบนั้นในชีวิตจริงๆ อย่างสไปรท์ ก็จะมีสไปรท์จริงๆ แบบใน ฮอร์โมนส์ฯ เลยนะครับ เขาก็จะจับคนเหล่านี้มาสัมภาษณ์ว่า ทำไมคุณถึงมีทัศนคติแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วจุดประสงค์หลักของ ฮอร์โมนส์ฯ คือการที่ทำให้เราเห็นอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ ผมคิดว่าตัวละครหลายๆ ตัว ก็จะมีนิสัยที่คล้ายๆ กับเพื่อนของเรา เช่น บางคนอาจจะมีเพื่อนที่กวนตีนมาก อาจจะไปตรงกับตัวละครที่ชื่อ เฟิสต์ ฮอร์โมนส์ฯ ก็จะไม่ได้แสดงให้เห็นแต่ด้านที่น่ารำคาญเป็นบ้าของคนนี้อย่างเดียว แต่จะมีอีกด้านที่ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้นว่า เฮ้ย ที่เขาเป็นแบบนั้น ที่ต้องเรียกร้องความสนใจขนาดนั้น เพราะว่ามึงไม่เคยได้ความรักเลยไง ผมคิดว่าการมองเห็นอะไรหลายด้านๆ มันอาจทำให้โลกเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อยนะ อย่างน้อยคนก็จะได้เข้าใจในเพื่อนมนุษย์มากขึ้น อาจจะใจเย็นและเห็นแง่มุมหลากหลายขึ้น 

สำหรับคุณ คนประเภทไหนที่ปลอม เปลือกที่สุด
    ก็คงเป็นประเภทที่ไม่ทำอะไร แล้วเรียกเสียงกรี๊ดไปวันๆ แต่ถ้าให้ยกตัวอย่าง มองแบบผิวเผินเลยนะครับ ถ้าเป็นระหว่างนนท์กับเยลลี่ใน ฮอร์โมนส์ฯ ผมคิดว่าเยลลี่ดีกว่านะ เพราะมันเป็นนิสัยของเขาอยู่แล้ว เป็นปลอมเปลือกที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า เขาเป็นคนแบบนั้น ฉันจะเรียกเสียงกรี๊ดด้วยวิธีแบบนี้ๆ ซึ่งถ้ารู้แบบนั้น เราคงไม่ยุ่งกับเขาเลย แต่อย่างนนท์ มันเป็นปลอมเปลือกอีกแบบ มันเป็นปลอมเปลือกที่มึงชอบบอกว่ามึงไม่ได้ปลอมเปลือก แต่จริงๆ แล้วมึงปลอมเปลือก แล้วสิ่งที่มึงทำมันก็ปลอมเปลือกจริงๆ—จริงจังไปไหม (หัวเราะ)


จากคอลัมน์ Face โดย ฆนาธร ขาวสนิท—giraffe Magazine 30—Depression Issue