คุยยาวๆ กับ สิงห์—วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เมื่อคำว่า 'เพื่อสังคม' กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มมูลค่า


    เป็นเรื่องของอัตตาล้วนๆ !

    ถึงวันนี้ สิงห์—วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ในวัย 31 ปี กล้ายอมรับแบบนั้น

    ตั้งแต่อายุ 17 ปีที่เริ่มมีคนรู้จักจากงานพิธีกร นักเขียน นักดนตรี ไล่มาจนนักแสดง เขายอมรับว่าตอนนั้นตัวเองพกอัตตามาเต็มเปี่ยม

    “ตอนนั้นเรายังมีอีโก้”

    ความที่เป็นเด็กหนุ่มที่ต้องการการยอมรับนั่นส่วนหนึ่ง ผลที่ตามมาอย่างเสียงชื่มชมหลังแสดงตัวตนออกไปก็ย่อมใช่ แต่อีกด้านที่ปฏิเสธไม่ได้คือนามสกุล 'ประเสริฐกุล' และการเป็นลูกชายผู้นำทางความคิดคนสำคัญอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จิรนันท์ พิตรปรีชา ที่หลีกหนีไม่พ้นคำค่อนขอดที่ว่า เขาโด่งดังขึ้นมาได้จากบารมีพ่อกับแม่ ก็ได้ผลักให้เขาต้องกระโจนออกไปเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นของจริง แสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่างๆ บ่อยครั้ง หาทางคิดหาทางเขียน เอาตัวตนของตัวเองไปยัดในประเด็นทางสังคมเพื่อสร้างจุดยืนว่าฉันเป็นเช่นนั้นเช่นนี้

    แต่กับวันนี้... ดูเหมือนว่าสิงห์จะเปลี่ยนไป เขาละวางอัตตาได้มากขึ้น หลบลี้จากการถูกยัดเยียดให้เป็นตัวแทนของเจเนอเรชั่น ขอแค่ได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ยินดีรับฟัง และมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ถ้าใช้สำนวนของเขาก็ต้องเรียกว่า 'อิน' และ 'ฟิน' กับมันอย่างเต็มที่

    15 กันยายน 2015 สิงห์ปล่อยรายการทีวีออนไลน์รายการแรกของตัวเองในชื่อ The Changemakers ออกมา นี่คือส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ช่องทีวีออนไลน์นาม WOFWOF ที่เขากระโจนมารับบทเป็นเจ้าของบริษัทเต็มตัว หลังจากลุยเดี่ยวทำอะไรด้วยตัวเองมาตลอดรายทางมากกว่าสิบปี

    สิ่งที่สิงห์บอกกับเราว่าเขาอินและฟินกับมันจริงๆ ในช่วงนี้คืองานด้านสารคดี และต้องเป็นสารคดีที่ตอบรับความต้องการของยุคสมัย นำเสนอเรื่องจริง เป็นประเด็นด้านสังคมที่ค่อนข้างหนัก แต่เล่าให้ดูไม่หนัก “ต้องกากและฮา พร้อมมีสาระ” ตามคอนเซปต์ที่ตั้งไว้ว่า 'อีเดียดอย่างสร้างสรรค์' เพื่อทำให้คอนเทนต์ที่เขาเชื่อถูก 'ส่งต่อ'

    กระบวนการคิดในวันนี้ของสิงห์เปลี่ยนไป “เราไม่จำเป็นต้องออกความเห็นมากมาย เราแค่ให้พื้นที่กับเขา ตอนนี้ผมเอ็นจอยกับการดึงความเป็นคนออกมาจากมือปืนก็ดี จากคนล้างป่าช้าก็ดี จากผู้ก่อการร้ายก็ดี เราอยากรู้ว่าเขาเป็นใคร และเราก็พยายามทำสื่อในแนวทางนั้น”

    แน่นอนแหละว่า แม้จะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่คนหนุ่มอย่างเขาก็ยังวาดหวังถึงโลกสวยสดเหมือน 'ทฤษฎีโลกแห่งแบบ' หรือ World of forms ของนักปรัชญากรีกนาม เพลโต ที่เขาเลือกเอามาตั้งเป็นชื่อบริษัท และเป็นที่มาของคำว่า WOF อยู่เสมอ แต่ถึงวันนี้ หลังจากได้เดินทางไปทั่วโลก การวาดหวังเหล่านั้นก็คงไม่ใช่การตะบี้ตะบันเพื่อที่จะเปลี่ยนโลกให้เป็นอย่างที่ตัวเองพอใจ แต่เป็นการวาดหวังที่ยึดอิงอยู่กับความเคารพนบนอบต่อโลกอย่างที่มันเป็นอยู่เสียมากกว่า


หลังผันตัวเองจากการทำงานลุยเดี่ยวมาเป็นเจ้าของบริษัทที่ต้องคุมคนอื่น ชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไร

    อย่างแรกเลยคือที่ผ่านมาผมทำงานเดี่ยวมาตลอด มันเลยนำไปสู่กับความเคยชินกับการอยู่คนเดียว แล้วโดยธรรมชาติ ผมเป็นคนบ้างานมาก ทำงานได้วันละ 13-14 ชั่วโมง ทีนี้พอมีลูกน้อง เราดันเอามาตรฐานของตัวเองไปใช้กับคนอื่น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผิดพลาดเหมือนกัน เพราะเราสั่งงานเยอะเกินไปโดยคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วด้วยความที่เป็นสังคมไทย ลูกน้องก็จะไม่ยอมบ่นให้ฟัง ไปบ่นกันหลับหลังแทน ซึ่งพอผมรู้ว่า เฮ้ย มันหนักเกินไป มันเหนื่อยเกินไป ผมก็ต้องเบรก อีกเรื่องคือเรื่องการพูดจาที่เมื่อก่อนเราเป็นคนพูดตรงๆ เพราะคิดว่ามันเร็วสุด เข้าใจง่ายสุด แต่พออยู่กับคนอื่นนานๆ เราก็ต้องเริ่มเรียนรู้ว่า บางทีมันต้องใช้ภาษาดอกไม้บ้าง ต้องค่อยๆ ขอร้อง ต้องบิลด์ให้เขามีกำลังใจ ต้องซัพพอร์ตกันและกัน มันต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกัน แต่ละคนก็มีความต้องการแตกต่างกันไปร้อยแปดอย่าง


คาดหวังอะไรกับการเลือกก้าวออกมาทำรายการของตัวเองเต็มตัว

    ถ้าโดยส่วนตัวเลยคือผมเป็นคนเสพติดการเรียนรู้ อะไรที่เราไม่เข้าใจ ผมจะอยากเข้าใจมันมาก อยากไปคุย อยากสัมผัสอยากไปเจอตัวจริง และเราเชื่อว่าถ้าเรามีช่องของตัวเองเราคงไม่ต้องไปทำตามโจทย์ของใคร เราจะทำอะไรก็ได้ ผมชอบประเด็นพวกนี้ อยากเอามานำเสนอ และระหว่างทางผมก็อยากเรียนรู้มันเองด้วย ส่วนถ้าพ้นไปจากความสนใจส่วนตัว ความคาดหวังขั้นต่อไปคือเราไม่อยากสร้างสื่อที่ judge คน ไม่ใช่สื่อที่ชี้ว่าแบบนี้ดี แบบนั้นเลว แต่แค่นำเสนอ แล้วเอาแง่มุมทุกๆ ด้านออกมาให้มากที่สุด โดยเฉพาะด้านของความเป็นคน เพราะเราคิดว่าถ้าเราได้เห็นว่าทุกๆ คนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราจะสามารถรับได้กับความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของเพื่อนมนุษย์ได้ดีขึ้น แล้วเราก็คาดหวังให้ประเด็นด้านสังคมพวกนี้ถูกส่งต่อ เพื่อทำให้เกิดแอคชั่นอื่นๆ ตามมา เช่น ใครสนใจเรื่องนี้ ก็สามารถไปเป็นอาสามัครที่นั่นที่นี่ได้ เป็นต้น


ในฐานะคนทำสื่อมองว่าสื่อที่ดีควรเป็นอย่างไร

    อย่างแรกเลยคือนำเสนอเรื่องจริงและข้อมูลครบถ้วน แต่ช่วงหลังๆ เหมือนจะละเลยเรื่องเหล่านี้กันไปนะ (หัวเราะ) เช่น สื่อบางประเภทสร้างดราม่าขึ้นมาด้วยการตัดแค่บางส่วนของคำพูดบางคนมา จนทำให้เขาเสียหาย เพราะมีคนเข้าไปด่า นั่นคือการบิดเบือนความจริง หรือบอกความจริงไม่ครบ ผมคิดว่าแบบนี้มีปัญหา เพราะมันคือการละเมิดสิทธิโดยไม่ใส่ใจเลยว่าเจ้าของคำพูดเขาจะโดนอะไรบ้าง


"ยุคนี้มันเป็นยุคที่ทุกอย่างโดนตรวจสอบด้วยคนกันเอง แม้กระทั่งคำว่าแรงบันดาลใจก็โดนตรวจสอบ เวลาที่มีคนที่ประสบความสำเร็จหรือตามความฝันของตัวเองออกมาพูดโน่นพูดนี่ คนจะรู้สึกว่า ก็ใช่สิมึงมีเวลานี่ มึงมีพรสวรรค์ หรือมึงมีเงิน กูทำไม่ได้หรอก แต่จริงๆ แล้วเราอาจไม่ได้เบื่อแรงบันดาลใจก็ได้นะ ประเด็นคือคนจะรู้สึกว่าคนที่ออกมาพูดมีข้อได้เปรียบกว่าตัวเอง มันมีเงื่อนไขในชีวิตของเขาบางอย่างที่ทำให้ทำตามสิ่งที่คนเหล่านี้พูดไม่ได้"


หรือจริงๆ แล้วสื่อก็คิดมาแล้วว่าถ้าตัดแค่บางส่วนมาแบบนั้น อาจเรียกคนให้เข้ามาด่า และสามารถเพิ่มเรตติ้งให้ตัวเองได้

    อาจจะนะ คือถ้าสมมติว่า คนทำสื่อไปคุยกับคนที่เขาดึงมาว่า เฮ้ย เดี๋ยวเราจะโควตอันนี้แล้วคุณจะโดนด่าแน่นอน แต่คุณจะดังนะ คุณจะเอาไหม แล้วอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าเอา อันนี้อาจจะไม่ใช่การละเมิดสิทธิก็ได้ แต่ผมไม่เชื่อว่าเขาทำแบบนั้นไง


ตลอดรายทางที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มต้นมีคนรู้จัก ทำอะไรมาก็เยอะ ณ วันนี้อยากให้คนอื่นมองคุณกลับมาด้วยสายตาแบบไหน

    สายตาคนอื่นนี่ตั้งแต่เข้ายุคโซเชียลเน็ตเวิร์กผมเลิกแคร์ไปนานแล้ว เพราะเราโดนด่ามาเยอะจนรู้สึกว่าช่างมันเถอะ แต่สิ่งสำคัญคือสายตาตัวเอง พ่อผมสอนไว้ประโยคหนึ่งว่า เป็นอะไรก็เป็นได้ ขอให้เป็นของแท้ ผมเลยอยากเคารพตัวเองให้ได้ว่าเราเป็นคนซื่อสัตย์กับตัวเองตลอดเวลา ถ้าเห็นแก่ตัวเมื่อไหร่ ก็ต้องยอมรับให้ได้ว่าเห็นแก่ตัว หรือถ้าทำงานอะไร ก็จะทำเพราะมันเป็นแพสชั่นของเราจริงๆ หรือแม้กระทั่งงานที่เป็นเรื่องของงานหาเงินเลี้ยงชีพอย่างงานบริษัท ก็พยายามหาแพสชั่นมารองรับ แล้วผมก็ไม่ได้รวยมาตั้งแต่เกิดนะ หลายคนอาจคิดว่าลูกของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นี่ต้องรวย ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องจริงเลยนะครับ นักเขียนอะไรจะไปรวยได้ (หัวเราะ) แต่ปัจจุบันที่พอจะมีเงินอยู่บ้าง มันมาจากการตามแพสชั่นมาตั้งแต่เด็ก แล้วพอตามไปเรื่อยๆ มันก็จะกลายเป็นอาชีพได้เอง แต่แน่นอนว่า ในยุคนี้ เวลามีคนพูดแบบนี้ คนก็จะโกรธกัน บอกว่าใช่สิคุณมีพื้นฐานที่ดีกว่า โอกาสดีกว่า ซึ่งผมก็ยอมรับว่า อาจจะจริง เพราะผมได้นามสกุลนี้มา คืออาจจะไม่มีเงิน แต่นามสกุลนี้มันก็เปิดโอกาสให้เราหลายๆ อย่าง แต่ในเมื่อเรามีโอกาส เราจะมานั่งปิดโอกาสตัวเองทำไม ก็ทำให้เต็มที่ดีกว่า


ด้วยนามสกุล 'ประเสริฐกุล' มันทำให้มีความกดดันบ้างไหม

    ตอนเด็กๆ มีบ้างเหมือนกัน ก็หมกมุ่นเรื่องการพิสูจน์ตัวเองเยอะ ฉันต้องไม่หยุดแค่การเป็นลูกพ่อกับแม่ให้ได้ แต่นั่นคือตอนอายุ 17-18 นี่มันผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ตอนนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรในชีวิตอีกแล้ว ใครบอกเป็นลูกพ่อลูกแม่ก็ภูมิใจ และใครบอกดังเพราะนามสกุลหรือเปล่า ก็ยอมรับว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องบอกเขาด้วยว่าคนนามสกุลนี้ก็ไม่ได้ดังทุกคนนะ (หัวเราะ)


"เมื่อก่อนผมเขียนบ่อย แล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าจะเขียนอะไรดีวะ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เพราะรู้สึกว่าการทำเช่นนั้น มันเป็นการพยายามหาพื้นที่ให้ตัวเอง คือพยายามเอาตัวตนของตัวเองไปยัดในประเด็นสังคมเพื่อสร้างจุดยืนให้คนเห็นว่าฉันเป็นเช่นนี้นะ"

แต่มันก็มีอาจมีผลเสียเหมือนกันหรือเปล่า เช่น ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ อย่างเวลาแสดงทัศนะทางการเมืองซึ่งเป็นประเด็นที่เปราะบางในสังคมไทย

    ผมคิดว่าใครแสดงทัศนะทางการเมืองก็โดนทั้งนั้นแหละครับ แต่ที่สำคัญคือผมแสดงทัศนะ เพราะว่าผมซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง คือเมื่อก่อนผมเขียนบ่อย แล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าจะเขียนอะไรดีวะ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เพราะรู้สึกว่าการทำเช่นนั้น มันเป็นการพยายามหาพื้นที่ให้ตัวเอง คือพยายามเอาตัวตนของตัวเองไปยัดในประเด็นสังคมเพื่อสร้างจุดยืนให้คนเห็นว่าฉันเป็นเช่นนี้นะ แล้วคนจะสะท้อนกลับมาว่ากล้าหาญจังเลย หรือไอ้นี่โง่จังเลย แล้วแต่ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร แต่ยุคปัจจุบัน ผมจะเขียนในเรื่องที่มีอารมณ์ร่วมจากความรู้สึกข้างใน ซึ่งจำเป็นต้องพูดออกมาไม่งั้นจุกอกตาย คือส่วนตัวก็ยังตามการเมืองอยู่ แต่ตอนนี้เราได้เห็นแล้วว่ามันเป็นวงจรที่วนไปวนมาอยู่เช่นนี้ ในขณะเดียวกันมันก็ยังมีฟันเฟืองในสังคมอีกมากมายที่น่าสนใจ เช่น วัฒนธรรมย่อยต่างๆ เรื่องกลไกด้านจริยธรรม หรือกลุ่มคนที่ไม่มีใครสนใจก็ดี คือถ้าเราพูดเรื่องการเมืองเราก็ต้องออกความเห็นใช่ไหม แต่ถ้าเราเลือกเล่าเรื่องคนเหล่านี้ เราไม่จำเป็นต้องออกความเห็นมากมาย เราแค่ให้พื้นที่กับเขา ตอนนี้ผมเอ็นจอยกับการดึงความเป็นคนออกมาจากมือปืนก็ดี จากคนล้างป่าช้าก็ดี จากผู้ก่อการร้ายก็ดี เราอยากรู้ว่าเขาเป็นใคร และเราก็พยายามทำสื่อในแนวทางนั้น


ความสนใจในการทำความเข้าใจมิติของมนุษย์ คือที่มาที่ทำให้คุณขึ้นไปพูดเรื่อง 'ความเกลียดชัง' ในงาน Ted x Bangkok ที่จัดขึ้นตอนเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วยหรือเปล่า

    คือผมได้มีโอกาสเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในโลกค่อนข้างเยอะ และเราก็ได้เห็นว่าความเกลียดชังหลายๆ ครั้งเกิดจากม่านของความไม่รู้จักและความกลัว โดยเฉพาะถ้ามีคนกล่าวโทษว่า ปัญหาในสังคมหรือชีวิตเกิดจากคนกลุ่มนั้นโดยที่เรายังไม่มีโอกาสรู้จักพวกเขาเลย สิ่งนี้มันเกิดขึ้นที่รวันดา เกิดขึ้นระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล และแน่นอน เกิดขึ้นที่ไทยอย่างชัดเจน แล้วผมก็รู้สึกว่าวิธีละลายความเกลียดชัง คือการเดินเข้าไปคุยกับเขา และทำความเข้าใจให้ได้ว่า ทำไมเขาเป็นอย่างนั้น เข้าใจให้ได้ว่าทำไมเขามาถึงจุดนี้ พื้นเพเขาเป็นอย่างไร สังคมที่เติบโตมาเป็นแบบไหน มันมีแง่มุมอื่นๆ อีกไหมนอกจากการตัดสินว่านั่นคือความชั่วร้าย ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนะ พอมาถึงตอนนี้ผมเลยรู้สึกว่า ผมไม่เกลียดใครเลย ถึงแม้บางเรื่องผมจะไม่เห็นด้วยสักนิด หลายๆ คนอย่างชาวมุสลิมก็ดี หรือคนป่าในอเมซอนก็ดี พอเราไปนั่งคุยด้วยมันมีพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อยู่เสมอ ต้องมีครอบครัว ต้องกินข้าว ต้องมีอะไรไว้ยึดเหนี่ยว มีความถูกต้องแบบของตัวเอง ซึ่งถ้าเอารายละเอียดต่างๆ ออกไปเราจะพบว่า ความต้องการของมนุษย์มันเหมือนกันหมดเลย ผมเลยอยากให้คนออกเดินทางเพื่อละลายความเกลียดชังของตัวเอง ไม่ต้องไปไหนไกลก็ได้ แค่เดินไปคุยกับคนที่คุณเกลียด แค่นี้ก็โอเคแล้ว


ในฐานะคุณเป็นคนหนึ่งที่คล้ายกับเป็นไอคอนในด้านสร้างแรงบันดาลใจ ในยุคที่คำว่าแรงบันดาลใจกลายเป็น 'สินค้า' ที่ล้นตลาด คุณคิดอย่างไรกับคำคำนี้

    เรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เพราะประมาณสองสามปีก่อน คนยังขาดแรงบันดาลใจอยู่เลย แล้วผมก็มักได้รับหน้าที่ให้ไปพูดเกี่ยวกับแรงบันดาลใจเยอะมาก ซึ่งตอนนั้นเราก็มองว่าการสร้างแรงบันดาลใจให้คนออกตามหาความฝันมันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ยุคนี้มันเป็นยุคที่ทุกอย่างโดนตรวจสอบด้วยคนกันเอง แม้กระทั่งคำว่าแรงบันดาลใจก็โดนตรวจสอบ เวลาที่มีคนที่ประสบความสำเร็จหรือตามความฝันของตัวเองออกมาพูดโน่นพูดนี่ คนจะรู้สึกว่า ก็ใช่สิมึงมีเวลานี่ มึงมีพรสวรรค์ หรือมึงมีเงิน กูทำไม่ได้หรอก แต่จริงๆ แล้วเราอาจไม่ได้เบื่อแรงบันดาลใจก็ได้นะ ประเด็นคือคนจะรู้สึกว่าคนที่ออกมาพูดมีข้อได้เปรียบกว่าตัวเอง มันมีเงื่อนไขในชีวิตของเขาบางอย่างที่ทำให้ทำตามสิ่งที่คนเหล่านี้พูดไม่ได้ แต่ทีนี้มันจะมีบางคนเหมือนกันที่ได้รับการยกเว้น เช่น Kyle Maynard ที่เขาไม่มีแขนไม่มีขา แต่ยังเป็นนักมวยปล้ำได้ ซึ่งถ้าคนแบบนี้มาพูด คนทั่วไปอาจเถียงไม่ออกเพราะมันไม่มีข้ออ้างจริงๆ แต่หลักๆ คือถ้าคนอย่างผมออกมาพูดเรื่องพวกนี้ พูดตรงๆ มันน่าหมั่นไส้อะครับ—แค่ใช้ชีวิตก็เหนื่อยแล้ว ยังต้องมานั่งหาแรงบันดาลใจอะไรกันอีก แต่คือผมเห็นด้วยครึ่งหนึ่งและไม่เห็นด้วยครึ่งหนึ่งนะ ผมเห็นด้วยในเชิงผมเข้าใจพวกเขา และก็รู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่ เราก็มีภาระของเรา แต่อีกด้านหนึ่งผมก็ยังคิดว่าภาระกับแพสชั่นมันต้องมีช่องทางไปด้วยกันได้ เหตุผลพวกนี้มันต้องแยกเป็นสองอย่างคือ เหตุผลจริงๆ ก็คือภาระจริงๆ กับอีกเหตุผลคือเหตุผลสมมติ เช่น ความกลัว หรือมายาคติที่คิดว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ก่อนถึงจะทำตามฝันหรืออะไรแบบนั้นได้ ซึ่งคนที่พูดแล้วมีน้ำหนักตอนนี้ไม่ใช่คนตัวใหญ่ๆ แต่เป็นคนตัวเล็กๆ ที่เป็น unknown ของสังคมเหมือนกัน พูดมาจากจุดเดียวกับเขา ไม่ใช่เอาคนรวยมาสั่งสอน


แล้วรู้สึกอย่างไรที่ยุคหนึ่งคุณเคยถูกลากออกไปพูดเรื่องสังคมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

    ในแง่หนึ่งตอนนั้นเรายังมีอีโก้ ยังต้องการการยอมรับอยู่ เราก็เอ็นจอยกับตำแหน่งที่ได้รับมา คือผมจะไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่ผมก็เลือกพูดเรื่องสังคม เพราะผมสนใจมันด้วย แต่ถ้าเป็นตอนนี้ เราไม่อยากเป็นตัวแทนใครทั้งนั้น เราไม่ได้อยากพูดแทนเจเนอเรชั่น เราพูดของเราเอง ชอบไม่ชอบอย่างไรก็บอกได้ หากคุณมีความคิดแตกต่างก็อธิบายให้เราฟัง


ปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมว่าการทำอะไรที่มีชื่อว่า 'ด้านสังคม' ส่วนหนึ่งก็เกิดจากอีโก้เหมือนกัน

    ตอนนั้นเราก็เหมือนเด็กๆ ส่วนใหญ่ที่อยากให้คนสนใจ อยากหาค่าอะไรสักอย่างให้ตัวเองน่ะครับ แล้วก็รู้สึกว่า โอ๊ย เป็นดารามันไร้สาระเหลือเกิน ก็เลยมาสายนี้ดีกว่า คือพูดง่ายๆ ว่าอยากเท่ แต่ปัจจุบัน เราไม่ได้ทำเพื่อให้คนคิดว่าเราเท่อีกแล้ว เรื่องอัตตาตัวตนถึงวันนี้เรารู้สึกว่ามันเป็นอันตรายกับเราด้วยซ้ำ ดังนั้นสิ่งที่เราทำวันนี้มันเลยเกิดจากความสนใจของเรา ได้ทำแล้วมันฟิน รู้สึกว่ามันมีค่ากับผู้อื่น แล้วมันก็ย้อนกลับมาเป็นแรงให้เราด้วย


อีกด้านหนึ่งคำว่า 'เพื่อสังคม' หรือ 'ด้านสังคม' ก็คล้ายจะเป็นเครื่องมือที่ใครสักคนหยิบจับเพื่อมายกระดับคุณค่าให้ตัวเองได้เหมือนกัน

    ใช่ เพื่อให้เราได้อยู่ในด้านถูกต้องของศีลธรรม สมมติเราทำรายการห่วย แล้วเราไปดีเฟนด์ว่าถึงรายการของผมจะห่วย แต่ผมเจตนาดีนะครับ คุณมาว่าผมได้ยังไง อันนี้แปลว่าเราจะไม่มีวันพัฒนาตัวเองได้ทันที ซึ่งมันมีเยอะนะครับ คนที่สู้เพื่อบางสิ่งที่ถูกต้อง แต่สุดท้ายนำความถูกต้องมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างอีโก้ที่แตะต้องไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่คนจะทำเพื่อสังคมควรมี ไม่ใช่อีโก้ แต่มันคือความแคร์ มันเป็นเรื่องของการมีความสุขที่ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น และมันก็ได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ นั่นคือในแง่ของการเติมเต็มตัวเองนะ แต่ถ้าในแง่ของสังคมศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ เขาอาจบอกว่าการทำอะไรเพื่อผู้อื่นไม่มีอยู่จริงก็ได้ ทุกอย่างอาจเป็น self-interest หมด มันคือการทำเพื่อตัวเอง แต่ถ้าไปถามพระ ท่านอาจจะเขกหัวคุณ และบอกว่าการละวางอัตตามันมีอยู่จริงๆ เพราะงั้นมันขึ้นอยู่ว่าคุณจะมองผ่านมุมมองไหน


อย่างธุรกิจแบบ sharing economy ซึ่งมีแนวคิดเข้ามาจัดการกับทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มักมาพร้อมกับป้ายยี่ห้อ 'เพื่อสังคม' แต่ก็ยังหลีกหนีคำว่า 'ธุรกิจ' ที่ผูกโยงกับผลประโยชน์ไม่พ้นล่ะ

    ผมไม่มีปัญหากับคำว่าธุรกิจเลย และผมคิดว่าธุรกิจควรจะเป็นพื้นฐานของการหมุนไปของโลกใบนี้ด้วยซ้ำ แล้วผมก็เชื่อว่าทุกสิ่งที่เป็นฟังก์ชั่นทางสังคมที่แปรรูปเป็นธุรกิจได้ ควรจะกลายเป็นธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่เพื่อประสิทธิภาพและความยั่งยืนของมัน เพราะธรรมชาติของธุรกิจมันจะไม่หยุดยั้งการพัฒนา และมีคุณค่าทางการตลาดพร้อมกับมีคุณค่าของสังคมไปพร้อมๆ กันได้ ไม่มีธุรกิจที่ไม่มีคุณค่าทางสังคม Apple ก็มีคุณค่าทางสังคม แค่มันเป็นด้านที่มีคุณค่าทางการตลาดอยู่แล้ว เราก็เลยมองว่า เขาทำเพื่อเงินๆๆ แต่อีกด้านมันก็เปลี่ยนโลกไปเยอะ อย่างการทำเพื่อความบันเทิงก็คือการทำเพื่อสังคมอย่างหนึ่งนะ นึกภาพประเทศนี้ไม่มีละคร เราจะอยู่กันยังไง (หัวเราะ) แต่ที่มันมีปัญหาก็คือว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่ประสิทธิภาพและแรงผลักดันของธุรกิจถูกนำไปใช้ในทางที่ดีมากนัก สิ่งนี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของการแอนตี้ธุรกิจ แต่เราต้องสร้างวัฒนธรรมในการตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันคนไทยก็รับไม่ได้หลายๆ อย่าง และก็ออกมาด่า ซึ่งในความเป็นจริง การด่าในโลกออนไลน์อาจไม่มีอะไรกับนักธุรกิจตัวใหญ่ๆ เลยนะ คือเงินเขาก็ได้เท่าเดิม ตำรวจก็ไม่จับ แต่สุดท้าย เขาก็ทนไม่ได้หรอกครับ สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น เพราะบางสิ่งตลาดมันไม่ยอมรับ แต่หัวใจคนยอมรับ


ทุกวันนี้ยังคิดจะเปลี่ยนโลกอยู่ไหม

    ใช้คำว่าเปลี่ยนเท่าที่เปลี่ยนได้แล้วกัน เปลี่ยนในแง่ที่เราสามารถทำอะไรได้ หรือพัฒนาไปสู่จุดที่เราทำได้ เช่น ทำรายการเน้นประเด็นสังคม เพราะถึงวันนี้พอได้เดินทาง ผมพบว่าผมเคารพโลกใบนี้เกินกว่าจะไปอยากเปลี่ยนอะไรแล้วนะ เพราะเราเห็นว่าโลกใบนี้มันโคตรสวยเลย โลกที่เรามองเห็นผ่านสายตาเรามันเป็นแค่เสี้ยวนิดเดียวเองนะ แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากนั้น เช่น น้ำตก ภูเขา ทะเลทราย มันก็อยู่ของมันอย่างนั้นอยู่แล้ว ส่วนมนุษย์ก็เป็นตัวติ๋มๆ ที่มานั่งบ่นนั่งด่า (หัวเราะ)



ถ้าไทยปิดประเทศคุณอยากอยู่ในประเทศต่อไปไหม หรืออยากย้ายไปอยู่ที่ไหน
    ผมคิดว่าที่ที่ผมตกหลุมรักที่สุดคงเป็นทวีปแอฟริกา ผมคงไปอยู่สักที่ในทุ่งหญ้าสะวันนา ลองนึกภาพคุณนั่งมอเตอร์ไซค์ไปกลางทุ่งหญ้าสะวันนา แล้วหันไปทางซ้ายเห็นม้าลาย หันไปทางขวาเห็นแรด ตื่นเช้ามาเห็นยีราฟกินต้นไม้อยู่หน้าบ้าน และการไม่อาบน้ำเป็นอะไรที่สังคมรับได้ (หัวเราะคือชีวิตปัจจุบันเงื่อนไขในชีวิตของเรามันเยอะมากนะครับ มีทั้งเงื่อนไขทางสังคม ต้องพรีเซนต์ตัวเอง เรื่องตัวตนของจริงกับตัวตนในโลกออนไลน์ คือถ้าอยู่กลางทุ่ง ผมรู้สึกว่าเราคงทำบ้าอะไรก็ได้