ในเมื่อเราต่างก็ต้องการมีดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่ แก้วน้ำ จานชาม บันได โคมไฟที่สวยงาม เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ความสุข และความสะดวกสบายในชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องแลกมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการหาเงินตัวเป็นเกลียว หลายคนคงเคยตั้งคำถามว่าเราจะทำอะไรได้อีกบ้าง นอกจากระบายอารมณ์ผ่านสเตตัสในเฟซบุ๊ก ก่นด่าทุนนิยมที่กดขี่บดขยี้ความเป็นมนุษย์ของเราให้เหลือค่าเพียงหนึ่งหน่วยบริโภค ก่อนจะติดแท็ก #ทุนนิยมนี่มัน___จริงๆ เพื่อเน้นอินเนอร์อันมากล้นจนสาแก่ใจแล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปจนหมดวัน เพราะเราต่างก็เชื่ออยู่ลึกๆ ในใจว่า เรายังคงต้องอาศัยวงล้อทุนนิยมในการขับเคลื่อนโลก เพื่อบ้านสำหรับพักอาศัย เพื่อรถยนต์สำหรับเดินทางไปไหนมาไหน เพื่อเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ เพื่อของใช้ในชีวิตประจำวัน
แต่หากเราสามารถใช้งานทุกอย่างที่ว่ามาได้ โดยไม่ต้องควักเงินซื้อหามาเป็นของเราเองล่ะ
แทนที่จะต้องผ่อนบ้าน 30 ปี ผ่อนรถอีก 10 ปี ซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกครั้งที่ออกงาน ซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างมาเก็บไว้ในบ้านเพื่อที่จะใช้นานๆ ครั้ง หลายคนจึงเลือกเปลี่ยนมาเช่าเมื่อต้องการใช้ และในทางกลับกัน ข้าวของในบ้านของเราที่ใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง นับวันก็ยิ่งเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จะดีแค่ไหนหากมันจะสร้างรายได้ให้เรา ขณะที่เรายังไม่ต้องการมัน ลองนึกถึงรถยนต์ที่จอดตากแดดไว้ ห้องว่างในบ้านที่ไม่มีใครใช้งาน ล้วนแต่เปลี่ยนเป็นเงินได้ทั้งสิ้นด้วยการแบ่งปันให้คนอื่น
Sharing Economy หรือระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน เป็นแนวคิดซึ่งนิตยสาร TIME คาดการณ์ไว้เมื่อสี่ปีที่แล้วว่ามันจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลก หลายคนมองว่ามันจะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกครั้งนับจากการกำเนิดของระบบทุนนิยมหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม มาถึงวันนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราทุกคนไปแล้วทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการหาห้องพักราคาถูกในเว็บไซต์ Airbnb เดินทางกลับบ้านด้วย Uber นอกจากนั้นยังให้โอกาสเราได้สลับกันเป็นคนให้และรับกันถ้วนหน้า
เหตุที่ Sharing Economy แพร่หลายอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่นาน เพราะมันเป็นคอนเซปต์เรียบง่ายแต่ได้ผลที่ทำให้ทุกฝ่ายได้รับสิ่งที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ใช้งานหรือการหาเงินจากสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน โดยมีหลักการง่ายๆ ดังในภาพนี้
ในเมื่อเศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนไม่มีเงินจับจ่ายซื้อของทุกอย่างที่ต้องการได้เหมือนเคย เราจึงคิดหาหนทางที่ดีที่สุดเท่าที่มี นั่นคือการแบ่งปันทรัพยากร หยิบยื่นยืมสิ่งของ ประจวบเหมาะกับการเข้ามาของเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกเข้าหากัน ทำให้การหยิบยืมขยายพื้นที่จากในละแวกบ้านให้กลายเป็นโลกทั้งใบ
ระบบเศรษฐกิจแบ่งปันนั้นมุ่งไปยังการ ‘เข้าถึง’ ไม่ใช่การเป็น ‘เจ้าของ’ ดังที่ Rachel Botsman ผู้เขียนหนังสือชื่อ What’s Mine Is Yours: The Rise of Collaborative Consumption อธิบายว่านี่เป็นการปฏิวัติทางสังคมอันนำมาซึ่งการใช้ประโยชน์จากการแชร์และแหล่งข้อมูลแบบเปิดผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อสร้างสรรค์หรือสืบทอดคุณค่าต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนในสังคม เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ปล่อยรถให้คนเช่า เปิดบ้านให้คนมาพักได้ง่ายๆ เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน หรือเข้าเว็บไซต์ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแชร์
นี่จึงเป็นครั้งแรกที่คนตัวเล็กๆ ได้มาเจอกันจริงๆ ช่วยกันสานฝันการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอะไรบางอย่าง สร้างมูลค่าจากสิ่งที่พวกเขามีอยู่กับตัว โดยไม่ต้องง้อคนตัวใหญ่อีกต่อไป