นึกถึงความตายนึกถึงอะไร ? นอกเหนือจากความโศกเศร้า สูญเสียแล้ว บรรยากาศของงานศพ หรือแม้กระทั่งหลุมฝังศพก็เป็นสิ่งที่ชวนหดหู่ จินตนาการเรื่องสุสานของเราอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้าพบกับ Ruriden สุสานไฮเทคสุดล้ำจากประเทศญี่ปุ่น
อัตราการเกิดที่ลดลง รวมถึงพื้นที่ในเมืองที่หดหายลงเรื่อย ๆ การจะหาที่มาทำสุสาน หรือที่ของสุสานที่เหลืออยู่ ก็ราคาพุ่งพรวดจนน่าตกใจ นี่จึงเป็นที่มาของสุสานทางเลือกสุดไฮเทค
ถ้าคิดว่าจะเห็นป้ายหลุมฝังศพที่เรียงราย รูปผู้ตายที่พากันจ้องมองเราจากทุกหนทุกแห่งเมื่อเราเข้าไปไหว้ญาติผู้ล่วงลับ ก็คงต้องผิดหวัง เพราะสุสาน Ruriden ซึ่งตั้งอยู่ที่วัด Koukoko-ji กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นที่สุดแห่งสุสานที่ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและยุคสมัยได้ดีจนอดตกตะลึงไม่ได้
ภายในสุสานเราจะพบหลอดไฟเฉดสีต่าง ๆ กว่า 2,045 ดวง ที่ส่องสว่างผ่านพระพุทธรูปที่ทำจากแก้วใส ๆ โดยพระพุทธรูปหลากสีเหล่านี้เป็นตัวแทนของอัฐิผู้เสียชีวิต 1 ราย อัฐิของเรา (หรือคนที่เรารัก) ก็จะถูกเก็บไว้ในล็อคเกอร์ที่มีตำแหน่งตรงกันเป๊ะกับพระพุทธรูปที่ตั้งเรียงรายอยู่ด้านหน้า (คอนเซปต์อยู่ร่วมกันเป็นล็อค ๆ เหมือนเดิม แต่มีความมินิมอลมากขึ้น)
ความล้ำยังไม่จบเท่านั้นเพราะทางวัดจะมีสมาร์ทการ์ดที่เชื่อมต่อโดยตรงกับที่เก็บกระดูกของ เมื่อไหร่ที่เรามาถึงแล้วแตะบัตรปุ๊ป ไฟของพระพุทธรูปองค์ที่ตรงกับที่เก็บกระดูกก็จะสว่างขึ้นมาเป็นสีที่แตกต่างจากไฟสีปกติ จะได้ไม่ต้องไปจำตำแหน่งคอยค้นหากันให้วุ่นวาย (คิดได้ไงเนี่ย) นอกจากนั้นสมาร์ทการ์ดที่ว่ายังทำหน้าที่เก็บข้อมูลของญาติผู้ล่วงลับ รูปเอย เรื่องราวในชีวิตเอย (เรียกว่าไม่มีการลืมกันง่าย ๆ แน่)
สำหรับคนที่คิดว่าค่าสุสานกลางแจ้ง ที่มีป้าย มีหิน มีรูป มันจะแพงสักแค่ไหนกัน ? มินิมอร์ก็เอาราคามาให้ดูเล่น ๆ ว่าหากเรามีคนรู้จักที่เสียชีวิตในญี่ปุ่นล่ะก็ ค่าสุสานในเมืองจะตกอยู่ที่ 712,000 - 1,424,000 บาท (เอ่อ นี่ไม่เกี่ยวกับพิธีศพนะจ๊ะ เฉพาะค่าสุสาน) นอกจากค่าแรกเข้าแล้ว คนที่อยู่ข้างหลังยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหลุมศพปีละ 3,738 บาท อีกต่างหาก (ซึ่งก็จ่ายกันไปชั่วชีวิตเลยทีเดียว เพราะมีลักษณะเป็นสุสานของครอบครัว จ่ายต่อไปเป็นทอด ๆ แพงน่าดูเลยแฮะ)
Umiko Nakajima คุณยายวัย 70 ปีเป็นเพียงหนึ่งในคนแก่จำนวนมากที่สนใจเลือกที่จะฝากชีวิตหลังความตายของตัวเองไว้ที่สุสานแห่งนี้ คุณยายมองว่ามันทั้งประหยัดพื้นที่ ทั้งเหมาะสมกับสภาวะทางการเงิน ไม่ต้องคอยทำความสะอาดสุสาน เปลี่ยนดอกไม้ หญ้าก็ไม่ขึ้นด้วย
ในขณะที่ Taijun Yajima เจ้าอาวาสวัด Koukoko-ji บอกว่า วัดก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไป ที่ญี่ปุ่นจำนวนครอบครัวที่มีลูกลดลงเรื่อย ๆ หลาย ๆ คน เลยไม่มีลูกหลานมาคอยดูแลหลุมศพให้อีกต่อไป ไอเดียของสุสานไฮเทคนี้จึงเป็นพื้นที่พักผ่อนสุดท้าย สำหรับคนที่ไม่มีลูกหลาน หรือมีแต่ไม่สนิทกันมาก จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในโลกหลังความตาย (ตายแล้วยังจะเหงาอีกหรอ)
สำหรับใครที่สนใจอยากฝากชีวตหลังความตายไว้แบบชิค ๆ ราคาค่าใช้จ่ายต่อช่องก็ตกอยู่ที่ 234,960 บาท (อื้อหือ ก็ไม่ได้ถูกนะ แต่ถ้าเทียบกับสุสานปกติก็ยังถูกกว่ามากอยู่ดี) แต่ถ้ามาแบบแพ็คคู่ หาร 2 เหมือนชวนเพื่อนมาหารค่าคอนโด (หรือจะชวนแฟนมาอยู่ด้วยกัน) ราคาก็จะพิเศษกว่าเดิม คือ 295,480 บาท ส่วนค่าบำรุงรักษารายปีอยู่ที่ 2,848 บาท โดยจะมาขออยู่ 6 เดือน 1 ปี เหมือนเช่าคอนโดไม่ได้นะแต่ก็ไม่ถึงกับต้องจ่ายตลอดไปเหมือนสุสานปกติ เขาจะเก็บค่าบำรุงรักษาล่วงหน้า 33 ปีถ้วน จากนั้นก็ไม่ต้องจ่ายแล้วจ้ะ
ไม่น่าเชื่อว่าความตายนอกจากจะเป็นการสูญเสีย และความโศกเศร้า ยังเป็นทั้งค่าใช้จ่าย เป็นปัญหาการจัดการพื้นที่ในเมืองที่มีพื้นที่น้อย โยงไปถึงอัตราการเกิดของผู้คน และหนีไม่พ้นการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและยุคสมัยได้อีกด้วย
ว่ากันว่าไม่มีสิ่งใดที่ดำรงอยู่โดยไม่เชื่อมโยงกับสิ่งอื่น ๆ ความตายและวัด การปรับตัวของพิธีกรรมทางศาสนาในญี่ปุ่นครั้งนี้จึงเวรี่น่าจับตามอง ใครจะไปรู้ว่าถึงวันหนึ่งที่ประชากรในประเทศเราล้นหลาม และพื้นที่ใช้สอยเหลือให้ใช้น้อยเต็มที เราอาจมีโอกาสเห็นสุสานสุดล้ำแบบนี้ขึ้นมาบ้างก็ได้ (ชอบไม่ชอบก็ต้องถกเถียงกันอีกทีนะจ๊ะ)
ที่มา: motherboard.vice.com,ruriden.jp
ภาพ: Emiko Jozuka