ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุกข์ทรมาน
หรือยากลำบากแค่ไหน ก็ดูเหมือนมนุษย์เราจะมองหาความรื่นรมย์จากมันได้เสมอ และหนึ่งในเรื่องทรมานกายแต่สบายใจที่กำลังกลายเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ก็คือ
กิจกรรม trekking
หรือการเดินป่าระยะไกล ซึ่งเดิมทีเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะหาอาหารประทังชีวิต เก็บของป่าเลี้ยงชีพ ศึกษาพันธุ์สัตว์แปลกๆ
ขุดค้นซากเมืองโบราณ แล้วค่อยๆ คลี่คลายจากความจำเป็นมาสู่ความบันเทิงอย่างการเดินป่าล่าสัตว์ในที่สุด
เมื่อมองให้ลึกลงไปในแง่ของวัฒนธรรม แนวคิดการเดินเท้าไปตามพื้นที่ห่างไกลความเจริญเพื่อสันทนาการนั้นเติบโตขึ้นมาจากลัทธิโรแมนติกในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งเต็มไปด้วยฉากทุ่งหญ้าป่าเขาสวยงามเหมือนภาพฝัน แนวคิดนี้แทรกซึมอยู่ในศิลปะทุกแขนง ทั้งภาพเขียน วรรณกรรม จนทำให้ชาวตะวันตกเปลี่ยนมุมมองจากที่เคยมองธรรมชาติอย่างหวาดกลัว มาเป็นการมองด้วยสายตาที่เป็นมิตร เปรียบธรรมชาติเป็น Mother Nature หรือผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งแทน
Caspar David Friedrich, Wanderer above the Sea of Fog; 1818
ส่งผลให้มีความพยายามเข้าใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น จนกลายเป็นค่านิยมที่ว่ายิ่งสูง
ยิ่งไกล ยิ่งลึกลับเท่าไหร่ยิ่งดี
เพราะความเหนื่อยที่จ่ายไปจะได้รับสิ่งตอบแทนเป็นประสบการณ์ระดับพรีเมียมที่ไม่ใช่แค่มีเงินก็ไปได้
แต่ต้องมีความพร้อมทั้งกายและใจด้วย
แม้เราจะมีกิจกรรมทำนองนี้มานานนับร้อยปี แต่คำว่า trekking นั้นเพิ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยมีนายพล Jimmy Robert ผู้ใช้เวลาหลายปีเดินดุ่มอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยเป็นผู้จัดทริปเดินเท้าที่ตระเตรียมอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสทิวทัศน์อันแปลกตาบนหลังคาโลกอย่างสะดวกสบาย จนทำให้การเทร็กกิ้งขึ้นภูเขากลายเป็นการท่องเที่ยวหลักของประเทศเนปาล ก่อนจะกระจายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก
ยิ่งนานวันความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระแสพักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางธรรมชาติก็ยิ่งมากตามไปด้วย เพราะมวลเถาวัลย์ป่าใบเขียวที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มานานแสนนานเหล่านี้ นอกจากจะทำให้อัตตาที่ใหญ่คับฟ้าของมนุษย์หดเล็กลง งานวิจัยของทีมนักจิตวิทยาของ University of Chicago ยังพบว่า บรรยากาศธรรมชาตินั้นส่งผลดีต่อสมองของคนเรา ทำให้เกิดสมาธิรวมไปถึงส่งผลต่ออารมณ์ได้ด้วย จึงไม่แปลกที่คนเมืองจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่พยายามหนีป่าคอนกรีตอันเป็นตัวแทนของความสับสนวุ่นวาย โผเข้าหาอ้อมกอดของป่าแท้ๆ ยิ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องพึ่งพาสองเท้าของตัวเอง ยิ่งเสริมสร้างความแข็งแรงให้ทั้งกายและใจ ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนก็เหมือนได้ชาร์จแบตฯ ให้ตัวเองด้วยพลังจากธรรมชาติตลอดการเดินทาง
หลายคนยอมเสียเงินไม่น้อยเพื่อไปนอนกลางดินกินกลางทราย เพียงเพื่อไปให้ถึงยอดเขา หรือใจกลางป่าลึก นักเดินทางแต่ละคนต่างก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป หรืออาจไม่มีอะไรมากไปกว่าเหตุผลที่ George Mallory ผู้เป็นตำนานบุกเบิกการปีนเขาเอเวอเรสต์ กล่าวไว้ว่า ‘เพราะมันอยู่ที่นั่น’
เส้นเบลอๆ
ระหว่าง backpacking,
hiking และ trekking นั้นมักผสมปนเปกันจนหลายคนงงไปหมดว่าตกลงเรากำลังทำอะไรอยู่กันแน่
แต่แม้จะแบ่งยากก็ใช่ว่าจะแบ่งไม่ได้ ลองตั้งสติให้มั่น ค่อยๆ ดูกันไปทีละอย่าง— backpacking
หมายถึง
การเดินทางด้วยการสะพายสัมภาระติดตัวไปไหนมาไหนโดยไม่มีการใช้ยานพาหนะส่วนตัว
อาจจะเที่ยวในเมืองหรือในป่าก็ได้, hiking หมายถึง
การเดินท่องเที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพรที่ไม่สมบุกสมบันมาก โดยเป็นระยะทางสั้นๆ
แบบเช้าไปเย็นกลับ เพื่อศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม—trekking หมายถึง การเดินทางด้วยเท้าเป็นระยะทางไกลๆ ใช้เวลามากกว่าหนึ่งวันขึ้นไป
จึงต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ติดตัวไปเพื่อค้างแรมระหว่างเส้นทางด้วย