Trekking Story เรื่องราวระหว่าง(เดิน)เขาที่เราอาจไม่รู้!

       

     

         “แบกเป้ออกตามหาแรงบันดาลใจ…” 

        ลองทวนประโยคนี้ในใจช้าๆ แล้วสังเกตดูว่ามีภาพอะไรเกิดขึ้นในหัวของคุณบ้าง?—ไม่มากก็น้อย เราเชื่อว่าต้องมีสักภาพปรากฏแบ็คกราวด์เป็นทิวเขางามตามด้วยคำบรรยายข้างใต้เกี่ยวกับโมเมนต์ตระหนักรู้ชีวิตผ่านการเดินเท้าระยะไกลไปในพงไพรของดินแดนลับแล เหมือนอย่างที่เราชอบคลิกเข้าไปเจอในกระทู้หรือเพจของแบ็คแพ็คเกอร์ชื่อดังนั่นแหละ

        ตัวอย่างข้างต้นคงพอให้เราสรุปอย่างรวบรัดได้ว่าการ trekking เป็นอีก ‘ไลฟ์สไตล์’ ของชนชั้นกลาง ไม่ต่างจากเทรนด์วิ่งหรือปั่นจักรยานที่กลายเป็นกิจกรรมแห่งยุคมาก่อนหน้านี้ แต่ถ้าลองมองให้ไกลถึงบ้านเมืองอื่นเราจะพบว่ากิจกรรมการเดินป่านั้นไม่ใช่เทรนด์ซะทีเดียว แต่เป็นกิจกรรมที่ผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตสุดสัปดาห์ไม่ต่างจากที่เราเลี้ยวรถเข้าห้างสรรพสินค้าทุกครั้งเมื่อไม่รู้จะไปไหน—ด้วยปัจจัยทั้งทางวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยในระดับเทือกเขาประชิดติดเมืองหลวง จึงไม่แปลกหากเราจะเห็นคนสวิสเซอร์แลนด์ ฮ่องกง หรือญี่ปุ่น แบกเป้ออกจากบ้านในเช้าวันเสาร์และเดินเท้าขึ้นเขากันเป็นเรื่องปกติ 

    ตัวอย่างเส้นทางเดินเขาในประเทศ Hong Kong ที่ใกล้ชิดติดตัวเมือง

        หากคุณมีคำถามว่า อ้าว กิจกรรมเดินป่านั้นเป็นกระแสในหมู่ชนชั้นกลางอย่างเดียวหรือ? เราก็คงตอบว่าไม่ใช่ก็ใกล้เคียง เพราะหากนับการเดินป่าเป็นไลฟ์สไตล์แบบหนึ่ง ก็นับเป็นไลฟ์สไตล์ที่ต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมากพอสมควรในการซื้อหาประสบการณ์มาประดับชีวิต เพราะค่าใช้จ่ายเฉลี่ยระหว่างทริปสำหรับการเดินป่าในประเทศนั้นอยู่ราว 5,000-8,000 บาท หากอยากเขยิบออกนอกแดนไทย ค่าใช้จ่ายก็อาจพุ่งสูงถึงหลักหมื่นหรือหลายแสนบาท! 
        กระแสการเดินป่าแทรกซึมเข้าสู่บ้านเราอย่างเนิบช้าทว่าต่อเนื่องมาราว 5 ปี จากการการันตีด้วยจำนวนสมาชิกของชมรมเดินป่าแห่งประเทศไทย (Trekking Thai) ที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในเวลาครึ่งทศวรรษ และมีทีท่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตีคู่มากับกระแสรักสุขภาพอย่างมีสไตล์ของคนรุ่นราวคราวเรา—ยิ่งกระแสรุนแรงเม็ดเงินก็ยิ่งสะพัด จากการประเมินพบว่าธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างคึกคัก โดยพบว่าในช่วงเทศกาล บรรดาลูกหาบหรือไกด์ท้องถิ่นจะมีรายได้เหยียบทริปละ 3,000-5,000 บาทเลยทีเดียว

กิจกรรม Trekking ได้รับความนิยมในต่างประเทศมานานแล้ว และกำลังเติบโตขึ้นในไทยด้วยเหมือนกัน

       แต่ในแง่ดีย่อมมีจุดบอด เพราะนักสิ่งแวดล้อมหลายคนให้ความเห็นว่ากระแสการเดินป่าของคนเมืองนั้นเป็นไปเพื่อการ ‘ท่องเที่ยว’ มากกว่า ‘ศึกษา’ ทำให้ยังยึดติดกับความสะดวกสบายสไตล์เมืองๆ กันอยู่มาก สุดท้ายจึงเกิดมลพิษทั้งขยะ พลาสติก หรือสารเคมีจากน้ำยาต่างๆ ปะปนจนเป็นปัญหาแก้ไม่ตก 

        และแม้ว่ากรมป่าไม้จะออกกฎชัดเจนว่าการเดินป่าต้องเป็นไปภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทว่าการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนเมืองก็ดูเป็นเรื่องเกินคาดและควบคุม—และนั่นคงเป็นคำถามกลับมาที่เราว่าการเดินเท้าเข้าป่าของชาวเรานั้นกำลังเหยียบย่ำสิ่งใดอยู่หรือเปล่า?