ชนบทเป็นภาพตัวแทนของความดีงามของผู้คนทุกชาติทุกภาษา
ไม่ใช่เพียงคนไทยอย่างเราๆ ที่โหยหาทุ่งรวงทอง แม่น้ำใส่ไหลเอื่อยเรื่อยเย็นฉ่ำ เพราะในโลกตะวันตก กระแสความหลงใหลภาพโรแมนติกของชนบทก็มีมาตั้งแต่ในยุคที่ความเป็นเมืองเกิดขึ้นแล้ว สมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมีการพบบันทึกที่กล่าวต้านความสับสนวุ่นวายของเมือง และชื่นชมสังคมชนบท ชาวโรมันมองว่าชนบทเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ หาความสำราญ ซึ่งต่อมาปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในยุคที่บรรดากวีต่างพร่ำพรรณาถึงความสวยงามของทุ่งหญ้าป่าโปร่งอันแสนเรียบง่ายแต่งดงาม คำกล่าวของกวีชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 16 อย่าง William Cowper ที่ว่า ‘พระเจ้าสร้างชนบท มนุษย์สร้างเมือง’ จึงถูกฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้คนตลอดมา ชวนให้เฝ้าฝันถึงภาพชนบทอันสวยสด เช่น ภาพชาวนาเกี่ยวข้าว ชาวไร่เก็บมันฝรั่งด้วยท่วงท่าอันสง่างามยามอาทิตย์อัสดงของ Jean-FrançoisMillet ศิลปินชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19
Jean-François Millet,The Gleaners
Jean-François Millet, Buckwheat Harvest,1868–70
ภาพชนบทในเมืองไทยนั้นก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อสำนึกความศิวิไลซ์เดินทางมาถึง ประกอบกับการปกครองแบบรวมศูนย์อํานาจเข้าสู่ส่วนกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลให้อำนาจ บทบาททางการเมืองและความศิวิไลซ์กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงตลอดมา ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายไว้ในงานวิจัยเรื่อง การเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจในการจัดการทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ อย่างน่าสนใจว่า
แม้ในช่วง พ.ศ. 2530 จะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชนที่ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวเอง
ไม่ต้องรอค่ายอาสาพัฒนาชนบทของนักศึกษาอีกแล้ว
แต่แนวคิดเช่นนี้ก็กลับยังคงไว้ซึ่งมุมมองที่ต้องการปกป้องความเป็นชนบท
เก็บรักษามรดก เล่นวนซ้ำภาพจำคืนวันเก่าๆ มากกว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
ต่อมาใน พ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ผลักดันแรงงานในเมืองหลวงส่วนหนึ่งกลับไปซบอกภาคการเกษตรอีกครั้ง ทำให้กระแสความโหยหาอดีตและความสํานึกรักบ้านเกิดเป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก ต่อเนื่องมาถึงโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยแคมเปญ Amazing Thailand ที่เสนอภาพเมืองไทยในชนบทซึ่งถูกปรับแต่งให้เหลือเพียงความสวยงาม ขับเน้นเครื่องแต่งกายประจำภาค ประเพณีท้องถิ่นที่น่าตื่นตา เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคซึ่งเป็นชนชั้นกลางในเมืองที่มีกำลังจ่ายและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ภาพลักษณ์ของชนบทไทยจึงถูกย้อม เคลือบ ดัด
ตัดแต่งด้วยสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง วรรณกรรม หรือเพื่อตอบสนองภาพแฟนตาซีในใจผู้บริโภคจนกระทั่งกลายเป็นภาพฝันในหัวของทุกคนอย่างไม่อาจต้านทานได้