หรือหุ่นยนต์จะครองโลก!? มาดูกันสิว่าหุ่นยนต์จะพัฒนาไปไกลแค่ไหน แล้วจะเป็นภัยไหมในอนาคต

        ลึกๆ แล้วเราต่างต้องการความสมบูรณ์แบบ—เหมือนที่เราต่างชอบคนหน้าตาดี ชอบสินค้าคุณภาพดีราคาประหยัด หรือการวาดฝันว่าสังคมจะดีงามไร้ที่ติราวกับอยู่ในโลกของแบบอย่างที่เพลโต้เคยว่าไว้



            ความปรารถนาที่อยากไปให้ถึงจุดนั้นทำให้มนุษย์คร่ำเคร่งกับการพัฒนาจนกลายเป็นตัวการันตีความเจริญของสังคม และการพัฒนาเพื่อก้าวสู่ความสมบูรณ์แบบนี้เองที่ผลักให้หุ่นยนต์ถือกำเนิดขึ้นบนโลก ก่อนค่อยๆ เติบโตจนกลายเป็นกลไกสำคัญของยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม เรื่อยมาจนปัจจุบันและคาดกันว่าจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของโลกในอนาคตอันใกล้ 
ถ้ายังแคลงใจว่าหุ่นยนต์จะมีอำนาจเปลี่ยนโลกได้อย่างไร? ลองคิดภาพโลกก่อนสมาร์ตโฟนเข้ายึดอำนาจเปรียบเทียบกับทุกวันนี้ดูสิว่าแตกต่างกันขนาดไหน และในขณะที่เรากำลังนั่งจิ้มมือถือกันอยู่นี้นวัตกรรมในโลกหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ก็พัฒนาไม่ได้หยุดเสียด้วย 
            ล่าสุดถึงกับคาดกันว่าอีกไม่เกินร้อยปีปัญญาประดิษฐ์จะทำให้หุ่นยนต์มีความคิดความอ่านราวกับมีชีวิตจิตใจ เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์จะสามารถคำนวณสิ่งซับซ้อนได้มากขึ้น ทำให้สามารถสร้างระบบความคิดและตัดสินใจได้ผ่านการประมวลผลจากฐานข้อมูลที่มนุษย์ป้อนให้ นั่นเท่ากับว่าหุ่นยนต์จะไม่ได้เป็นเพียง ‘แรงงาน’ ทว่ากำลังจะกลายเป็น ‘พนักงาน’ ที่เข้ามาแก้ไขความบกพร่องของแรงงานมนุษย์ (Human error) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
            มองให้ใกล้ตัวขึ้นหน่อยก็เช่นนวัตกรรมรถไร้คนขับ (driverless car) ที่คาดว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาที่จอดรถในเมืองหลวงได้ภายในปี 2025 เพราะรถไร้คนขับสามารถหาที่จอดได้เอง แถมยังช่วยลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับหรือหลับในได้อีกต่างหาก ทว่าหลายคนก็ยังห่วงว่าความสะดวกระดับแอดวานซ์นี้จะทำให้เราใช้รถกันอย่างเปล่าเปลืองหรือเปล่า?
คำถามคือเมื่อหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพขนาดนั้น สุดท้าย ที่ทางของมนุษยชาติจะเคลื่อนไหลไปสู่จุดไหน? โดยผลการประชุมจาก The World Economic Forum 2014 ประเมินว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดแรงงานโลกและทำให้ตำแหน่งงาน ‘ในทุกวงการ’ หายไปกว่า 5 ล้านตำแหน่งภายในปี 2020 
            ทว่านักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมหลายคนกลับให้ความเห็นว่า การเข้ามาของหุ่นยนต์อาจไม่ได้ส่งผลทำลายล้างขนาดนั้น เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว เหมือนครั้งปฏิวัติการเกษตรที่เครื่องจักรทำให้เกษตรกรกว่า 80% ต้องตกงาน แต่สุดท้ายสังคมก็ปรับตัวจนเข้าที่เข้าทางและเกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมาเติมเต็มการเปลี่ยนแปลงจนได้นั่นแหละ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ core ในนิตยสาร giraffe ฉบับที่ 32 ติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ Readgiraffe