ชายหนุ่มคนนั้นกดใบมีดลงบนท่อนแขนของตัวเองด้วยความหวาดกลัว เขาสับสน ร้อนรน เพราะไม่แน่ใจว่า ภายในของตัวเองเป็นเลือดเนื้อจริงๆ หรือจักรกล ดังนั้นเขาจึงเพิ่มแรงกดขึ้นหนักเรื่อยๆ จนสุดท้ายเลือดสดๆ ก็ไหลนองออกมา...
นั่นคือฉากหนึ่งจาก Ex Machina (2015) หนังที่เผยให้เห็นความสัมพันธ์อันยอกย้อนระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ เมื่อชายหนุ่มนาม คาเล็บ ต้องตกอยู่ในอาการสับสน ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็น 'มนุษย์' หรือ 'หุ่นยนต์' หลังจากได้ทำการทดสอบหุ่นยนต์ตัวหนึ่งโดยใช้ Turing Test
ปี 1950 Turing Test หรือ 'การทดสอบของทัวริง' ถูกคิดขึ้นโดย Alan Turing เพื่อใช้ทดสอบความสามารถของหุ่นยนต์ ด้วยการนำมนุษย์ (ผู้ทดสอบ) มาคุยกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อสังเกตการว่าคอมพิวเตอร์จะหลอกให้ผู้ทดสอบเชื่อว่ามันเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ แต่ตลอดการทดสอบที่ผ่านมา พบว่า นวัตกรรมของหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ยังไม่อาจก้าวพ้นบททดสอบนี้ไปได้...
ทว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากวันหนึ่งหุ่นยนต์เป็นฝ่ายชนะ?—ตอบอย่างรวบรัด ก็ต้องบอกว่า มันจะพลิกวงการหุ่นยนต์อย่างมหาศาล แต่อีกหนึ่งคำถามที่จะตามมาคือ หากวันนั้นมาถึง มนุษย์อย่างเราๆ จะหวาดกลัวเหมือนที่คาเล็บรู้สึกมากน้อยขนาดไหน
Eric Schmidt ประธานผู้บริหาร Google เชื่อว่าคอมพิวเตอร์จะเอาชนะ Turing Test ได้ในปี 2018 ขณะที่ Ray Kurzweil นักอนาคตวิทยา ทำนายว่าภายในปี 2045 'ปัญญาประดิษฐ์' จะมีความสามารถเหนือล้ำกว่ามนุษย์
นี่เองที่ทำให้นักฟิสิกส์คนดังอย่างStephen Hawking ออกมาบอกว่า “การพัฒนาอย่างเต็มกำลังของปัญญาประดิษฐ์จะนำมาซึ่งวาระสุดท้ายของมนุษยชาติ”
แต่ทำไมเราถึงต้องกลัวหุ่นยนต์กันขนาดนั้น?
หนึ่งในสมมติฐานหลักๆ นั่นก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่หวงแหนความเป็นปัจเจกของตัวเอง และหวาดกลัวการถูกแทนที่อยู่เสมอ รายงานจากคณะกรรมการเพื่อเศรษฐกิจแห่งออสเตรเลียเผยว่า ภายใน 15 ปีข้างหน้า 40% ของงานในประเทศจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์
หุ่นยนต์ไม่ต้องการวันหยุดพักร้อน ดังนั้นเวลาของหุ่นยนต์จึงเดินได้เร็วกว่ามนุษย์ (หลายเท่า!) ในขณะที่มันกลับแก่ชราได้ยากกว่า อย่างที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์นาม Watson สามารถอ่านเอกสารนับล้านได้ในเวลาไม่กี่วินาที แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ หากวันหนึ่ง หุ่นยนต์เอาชนะ Turing testได้ เมื่อ fuzzy logic ถูกบรรจุไว้ในตัวหุ่นยนต์อย่างสมบูรณ์ เพื่อสร้าง 'ความน่าจะเป็น' อันหลากหลายในการเลือกตัดสินใจกระทำการต่อสถานการณ์ใดๆ อย่าง 'อิสระ' ถึงตอนนั้น เราก็จะไม่อาจล่วงรู้ความคิดในใจของหุ่นยนต์ได้อีกต่อไป
มนุษย์หวาดกลัวความไม่รู้เสมอ และยิ่งเป็นความไม่รู้ที่ไม่สามารถควบคุมได้ก็ยิ่งน่าหวาดหวั่น สามีภรรยานักปรัชญา Susan และ Michael Anderson แห่ง University of Hartfordจึงสร้างสาขาวิชาที่ชื่อ จริยธรรมของหุ่นยนต์ (Machine Ethics) ขึ้นมา เพื่อสร้างแนวทางในการโปรแกรมให้หุ่นยนต์ประพฤติตามจริยธรรมของมนุษย์ หรือพูดอีกแบบ 'ขังหุ่นยนต์ไว้ภายใต้กรอบของศีลธรรม' ที่ในทางกลับกัน ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์หวาดหวั่นการเติบโตขึ้นของหุ่นยนต์อย่างชัดเจน
วันนี้ หุ่นยนต์จึงคล้ายได้กลายมาเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์ตรวจสอบตัวเองอีกครั้ง ตรวจสอบความกลัวในหัวใจ ตรวจสอบความลุ่มหลงในเผ่าพันธ์ุของตัวเอง และเตือนให้เราตระหนักว่า แม้แต่สิ่งที่เราสร้างมันขึ้นมากับมือ เราก็ไม่อาจเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด—หากคำถามของ Turing testคือ หุ่นยนต์มีความเป็นมนุษย์หรือไม่? คำถามสำคัญที่เราต้องตอบให้ได้เสียก่อนก็อาจเป็น 'ความเป็นมนุษย์คืออะไร?'
และสิ่งที่อาจช่วยไขข้อข้องใจ อาจเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งอย่างยิ่งกับคำถามข้างต้นอย่าง 'หุ่นยนต์' !
คนหรือหุ่นยนต์น่ากลัวกว่ากัน?
“โอ้ที่รัก ร่างกายของฉันได้รับความเสียหาย แต่ฉันมีชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ทุกคน บางครั้งก็มีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นกับหุ่นยนต์ดีๆ ! #hitchBOTinUSA”
นั่นคือ tweet สุดท้ายอันน่าเศร้าจากเจ้าหุ่นนาม Hitchbot หุ่นยนต์ที่อยู่ในโครงการทดสอบความสัมพันธ์ของมนุษย์กับหุ่นยนต์ จากการร่วมมือระหว่างRyerson University และ McMaster University ที่ได้ส่งเจ้า Hitchbotออกเดินทางเพียงลำพังผ่านแคนาดา สหรัฐฯ เยอรมัน เพื่อไปถึงจุดหมายสุดท้ายยังเนเธอร์แลนด์ โดยการทำตัวเป็นแบ็กแพคเกอร์ขอโบกรถที่สัญจรไปมา และตอบแทนคนใจดีด้วยการเป็นเพื่อนคุยระหว่างทาง ร้องเพลง เต้น หรือชวนคนขับเล่นเกม โดย Hitchbot จะรายงานความคืบหน้าของตัวเองตลอดการเดินทางผ่าน twitter
แต่แล้วเรื่องน่าเศร้าก็เกิดขึ้น เพราะหลังจาก Hitchbot ออกเดินทางมาถึงเมืองฟิลาเดลเฟีย (ยังไม่ถึงครึ่งทาง) มันก็กลับโดนใครบางคนทำร้ายและแยกชิ้นส่วนจนไม่สามารถทำภารกิจลุล่วงได้
เรื่องราวนี้บอกอะไรแก่เรา?
มันก็อาจบอกว่า ทัศนคติของผู้คนในสังคมบางส่วนที่มีต่อหุ่นยนต์ในตอนนี้อาจจะไม่ได้งดงามนัก อคติเหล่านี้อาจมาจากหนัง จากนิยายวิทยศาสตร์ที่จะเห็นได้ว่า มักกำหนดให้หุ่นยนต์ยืนอยู่ในฝั่งตัวร้ายเสมอ หรือหากมองให้ลึกไปกว่านั้น ก็อาจเพราะมนุษย์ยังหลงระเริงคิดว่าเผ่าพันธ์ุของตัวเองเหนือกว่าเผ่าพันธ์ุอื่นมากจนเกินไป มากจนพฤติกรรม 'การเหยียด' เชื้อชาติ สีผิว เผ่าพันธ์ุซึ่งดูเหมือนมีพลังอำนาจทั้งทางกายภาพและสังคมด้อยกว่าไม่เคยจางหายไปไหน มากเสียจนอาจฝังอยู่ในดีเอ็นเอ เพราะอย่างในญี่ปุ่นเองก็มีเรื่องราวทำนองคล้ายๆ กันนี้ เมื่อมีงานวิจัยพบว่า หุ่นยนต์ Robovie-II ที่ออกแบบมาให้ช่วยซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งถูกเด็กๆ กลั่นแกล้ง ด้วยการปิดตา เตะ ขวางทางอยู่เสมอ
หากหุ่นยนต์จะหันมาทำร้ายมนุษย์จริงๆ ในอนาคต เราอาจต้องหันมองย้อนกลับไปในอดีต โดยใช้คำถามแบบเด็กๆ อย่าง 'ใครเริ่มก่อน?' และ 'เผ่าพันธุ์ใดน่ากลัวกว่ากัน!?'
จากคอลัมน์ Core : giraffe Magazine 32— Robot Issue
ติดตามเรื่องราวของหุ่นยนต์เรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe
ติดตามเรื่องราวของหุ่นยนต์เรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe