มินิมอร์ถือโอกาสส่งท้ายปี 2015 ด้วยการไปสัมภาษณ์บรรณาธิการ 5 คน ถึงหนังสือที่พวกเขาได้อ่านในปีนี้ (จะเป็นหนังสือที่พิมพ์ในปีนี้หรือในปีก่อนๆ หน้านี้ก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นหนังสือที่พวกเขาได้อ่านภายในปี 2015 ที่เพิ่งผ่านพ้น) มาดูกันว่ามีเล่มไหนที่พวกเขาแนะนำกันบ้าง เผื่อจะได้หามาอ่าน #ให้สมกับเป็นกรุงเทพเมืองหนังสือ #ที่คนอ่านมากกว่าปีละแปดบรรทัด #ทำไมเวลาพูดถึงอะไรอ่านๆจะได้ยินแต่โควตนี้ #เบื่อ
ศิษฏา ดาราวลี
บรรณาธิการของสำนักพิมพ์ขวัญใจสาวๆ อย่าง บันบุ๊คส์ บอกว่า หนังสือที่เธอชอบในปีนี้คือ "ตื่นบนเตียงอื่น" ของปราบดา หยุ่น เธอดีใจที่พี่คุ่น (ปราบดา) กลับมาเขียนหนังสือแบบนี้ "ดูเป็นพี่คุ่นแบบที่หายไปนาน อ่านแล้วก็ไม่ผิดหวัง รวมๆ ก็เลยเป็นหนังสือที่เลือกมาว่าชอบ"
ตื่นบนเตียงอื่น สำนักพิมพ์ ไต้ฝุ่น
ปฏิกาล ภาคกาย
บรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอน ยกหนังสือ "หัวใช้เท้า" ของพี่โจ้ วชิรา ให้เป็นหนังสือประจำปี ถึงจะไม่ใช่หนังสือที่ออกในปีนี้ แต่ปฏิกาลบอกว่านี่เป็นหนังสือท่องเที่ยวแบบที่ไม่ใช่ 'หนังสือท่องเที่ยว' ทั่วไป "เราเบื่อหนังสือท่องเที่ยวตอนนี้มาก คือมันออกมาเยอะ แล้วเหมือนทุกคนเขียนด้วยวิธีที่คล้ายๆ กันหมด แต่สำหรับหัวใช้เท้าของพี่วชิราเล่มนี้ เป็นหนังสือท่องเที่ยวแบบที่เล่าด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป เขาเอาสิ่งที่เขาเคยไป มาแต่งเป็นกึ่งๆ ฟิคชั่น ทำให้รู้สึกว่าแปลกใหม่ ถึงแม้จะออกมานานแล้วแต่ยังทันสมัยมากๆ อยู่เลย มันมีเทคนิคการเล่าและลูกเล่นที่สนุกดี"
หัวใช้เท้า สนพ. วงกลม
พงศ์ธร ยิ้มแย้ม
บรรณาธิการฝ่ายศิลปกรรม นิตยสาร Giraffe เลือก "อีกวันแสนสุขในปี 2527" ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ให้เป็นหนังสือแห่งปี พงศ์ธรบอกว่า "เป็นหนังสือที่มีแบคกราวนด์เป็นเหตุการณ์เมือง ที่สามารถสะท้อนบรรยากาศการเมืองตอนนั้น ได้สัมพัทธ์สัมพันธ์กับอารมณ์ของผู้คนที่เราเจอดี" จริงๆ แล้วหนังสือที่สะท้อนการเมืองก็มีหลายเล่ม แต่เล่มนี้ของวิวัฒน์ เป็นเล่มที่เขานึกถึงเป็นลำดับแรกๆ
อีกวันแสนสุขในปี 2527
ฆนาธร ขาวสนิท
หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร Giraffe เลือกสองเรื่องให้เป็นหนังสือแห่งปี สำหรับ "หงสาจอมราชันย์" การ์ตูนที่ตีพิมพ์ในไทยโดยสนพ. บูรพัฒน์ ฆนาธรบอกว่า การ์ตูนเรื่องนี้ "เป็นการนำวรรณกรรมสามก๊กมาตีความใหม่ โดยตีความได้ไกลไปกว่าฉบับที่เราเคยอ่านๆ กันมามาก" เขายกตัวอย่างตัวละครบางตัวในเรื่อง ที่ได้รับการตีความแรงจูงใจเบื้องหลังให้มีความลึกไปกว่าเดิม เช่นเตียวหุย นอกจากนั้น หงสาจอมราชันย์ยังสื่อสารธีมเกี่ยวกับการเมืองที่เป็นนิรันดร์ ซึ่งสามารถสัมพันธ์กับสังคมยุคปัจจุบันได้ด้วย "ผู้มีอำนาจก็ใช้กรอบบางอย่างเช่นกรอบทางศีลธรรม กรอบเรื่องความจงรักภักดีมาหลอกล่ออีกชนชั้นหนึ่งให้ออกไปตายแทนตัวเอง" ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับภาพสังคมปัจจุบัน
สำหรับ "อย่าไปไหน" ของ มาร์กาเร็ต มาแซลทินี่ นักเขียนอิตาเลียน เล่าเรื่องอดีตและปัจจุบันของนายแพทย์ผู้มีความซับซ้อนทางด้านอารมณ์ ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน "เรื่องจะดำเนินอยู่บนความรู้สึกผิดของนายแพทย์คนนี้ที่ทำให้ใครหลายคนในชีวิตต้องประสบกับเคราะห์ร้าย อ่านไปตั้งแต่หน้าที่ยี่สิบ เราจะน้ำตาเริ่มไหลแล้ว ด้วยสำนวนของเขาที่เล่าออกมาได้ถึงแก่น นี่น่าจะเป็นนิยายที่ได้อ่านในปีนี้ที่สร้างแรงสะเทือนในจิตใจได้มากที่สุด"
หงสาจอมราชันย์ สนพ. บูรพัฒน์
อย่าไปไหน สนพ. กำมะหยี่
ณัฐชนน มหาอิทธิดล
บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน เลือก World in 2016 ของนิตยสาร Economist ให้เป็นหนังสือแห่งปี เขาบอกว่านี่เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน "มันรวบรวมการทำนายเรื่องใหญ่ๆ ของปีหน้า ทำให้เราเห็นถึงแนวโน้ม สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป อ่านแค่สารบัญก็มีประโยชน์แล้ว เรื่องที่มีประโยชน์มากๆ เช่น เขาทำนายว่าปีหน้าจะเป็นปีของผู้หญิง มีผู้นำของแต่ละประเทศที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น แล้วมันจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร เขาก็จะทำนายและวิเคราะห์ไว้"
"จริงๆ เราเป็นคนเกลียดผัก แต่ก็ต้องกินผัก" ณัฐชนนเปรียบเทียบ "แต่เวลาได้อ่านเล่มนี้ ก็เหมือนกับการได้กินผักที่อร่อยด้วย" เขาสรุป
The World in 2016 / The Economist