จับตาเกมโกะหยุดโลก อะไรกันแน่ที่ทำให้ Alpha Go ชนะมนุษย์?!



        โกะเป็นเกมที่ร่ำลือกันมานานแสนนานแล้วนะครับว่าเป็นเกมที่มีกติกาง่ายๆ เด็กอนุบาลก็เข้าใจได้ แต่การจะเล่นให้เก่งนั้นยากเหลือแสน ต้องสั่งสมประสบการณ์เป็นสิบปี มันถูกเรียกว่าเป็นเกมแห่งพระเจ้า ถูกขนานนามให้เป็นหนึ่งในเกมที่ ‘ยาก’ ที่สุด ‘สวยงาม’ ที่สุด ‘ซับซ้อน’ ที่สุด
        ในอีกฐานะหนึ่ง มันเป็นเกมที่มนุษย์ถือครองไว้อย่างภูมิใจ หลังจากที่ระบบปัญญาประดิษฐ์ Deep Blue เอาชนะแชมเปี้ยนหมากรุกไปได้เมื่อหลายสิบปีก่อน โกะจึงเป็น ‘ปราการด่านสุดท้าย’ ที่มนุษย์เชื่อว่านี่แหละคือสิ่งที่ระบบปัญญาประดิษฐ์ไม่อาจเอาชนะได้แน่ๆ 


สารคดีเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่าง Deep Blue กับแชมเปี้ยนหมากรุก

        แต่แล้วในปีนี้ ระบบปัญญาประดิษฐ์ AlphaGo ก็เอาชนะแชมเปี้ยนโกะภาคพื้นยุโรปสามสมัยได้ และไม่ใช่ชนะแบบฉิวเฉียดนะครับ แต่ชนะแบบพลิกกระดานเลยทีเดียว นั่นคือแข่ง 5 ตา ชนะรวด 5 ตา และสองวันที่ผ่านมามันเพิ่งเอาชนะแชมป์เปี้ยนโกะ อันดับหนึ่งของโลกอย่าง Lee Sedol ไปแล้วสองเกมติด


forbes.com

        หลายคนอาจสงสัยว่า การชนะโกะครั้งนี้มีความพิเศษเหนือกว่าการชนะหมากรุกครั้งที่แล้วอย่างไรในเมื่อก็เป็นเกมกระดานเหมือนกัน

        ทั้งใช่และไม่ใช่ครับ
        ‘ใช่’ ตรงที่ว่า สักวันหนึ่งปัญญาประดิษฐ์จะต้องเอาชนะมนุษย์ในเกมโกะได้ แต่ที่ ‘ไม่ใช่’ ก็คือ คอมพิวเตอร์ไม่อาจเอาชนะคนในเกมโกะได้ ด้วยวิธีที่เอาชนะในเกมหมากรุก
        มีการคำนวณว่าในเกมหมากรุกนั้นมีการขยับที่เป็นไปได้ (ในหนึ่งตา) เฉลี่ยอยู่ที่ 35 แบบ ส่วนโกะนั้นมีการขยับที่เป็นไปได้อยู่ 250 แบบ นั่นหมายถึง ‘กระทั่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุด ยังไม่อาจคำนวณหาหนทางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (จนจบเกม) ได้ครบ’ มีผู้กล่าวไว้ว่า รูปแบบของเกมโกะนั้นมีมากกว่าจำนวนอะตอมในจักรวาลนี้เลยทีเดียว

      
  โปรแกรมเมอร์ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการพัฒนา ‘ระบบวิธีคิด’ ให้คอมพิวเตอร์คิด วิเคราะห์ ได้เหมือนมนุษย์จริงๆ !

        ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง AlphaGo คือหน่วยวิจัย DeepMind ที่กูเกิลซื้อมาในราคา 400 ล้านดอลลาร์ฯ พวกเขาถนัดการสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่ ‘เรียนรู้ในเชิงลึก’ (deep learning) ซึ่งทำได้โดยการจำลองหน่วยซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้คล้ายกับโครงข่ายนิวรอน (เซลล์ของระบบประสาท ที่สื่อสารด้วยกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมาก) ในสมองมนุษย์ เมื่อเราใส่ข้อมูลใดๆ เข้าไปมากพอ มันก็จะเรียนรู้และมีความสามารถตามข้อมูลนั้นไปด้วย นั่นคือมันไม่ได้เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกสร้างมาเพื่อทำงานเพียงอย่างเดียวตลอดชีวิตอีกแล้ว แต่มันจะพัฒนาเป็นปัญญาประดิษฐ์ครอบจักรวาล (General Purpose AI) ที่ทำงานได้แทบทุกอย่าง
        ในฐานะมนุษย์ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าตนเองเล็กจ้อย
        ในฐานะมนุษย์ เราเคยภาคภูมิใจนักหนาและหวงแหนว่าสิ่งต่างๆ เป็น ‘คุณสมบัติเฉพาะ’ ของตนเอง ทั้งการประดิษฐ์ภาษา อารมณ์ขัน ความรู้สึกรู้สา ศีลธรรม ศิลปะ กระทั่งเกมอย่างโกะหรือหมากรุก แต่วงการปัญญาประดิษฐ์กำลังทำให้ คอมพิวเตอร์รุกล้ำเข้ามาใน ‘อาณาเขตแห่งมนุษย์’ ด้วยโจทย์คณิตศาสตร์ที่จัดการได้อย่างง่ายดาย
        เหมือนเคยครับ เหมือนทุกครั้งที่่อ่านข่าวเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์
        มันทำให้ผมนึกสงสัยว่า แล้วมนุษย์พิเศษอะไร



ชมการแข่งขันแมตช์ที่สองซึ่งเพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ได้ที่นี่
ระหว่างรอการแข่งขันแมตช์สามระหว่างแชมป์โลก Lee Sedol  กับ Alpha Go
ในวันเสาร์ที่ 12 มีนาคมนี้

จากคอลัมน์ Lab : โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
giraffe magazine 33 — Countryside Issue 
ติดตามอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe