5 สถาปัตยกรรมสุดน่ารักสำหรับน้องหมา ที่คนรักหมาพลาดไม่ได้

        ผลสำรวจอันน่าตกใจของ Georgia Regents University และ Cape Fear Community College เมื่อปี 2013 ระบุว่า 'ถ้าให้เลือกช่วยสุนัขกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่โดนรถชน คนรักสุนัขจะเลือกช่วยสุนัขของตัวเองมากถึง 40%' อาจจะฟังดูโหดร้าย แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความรักของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์เลี้ยงเก่าแก่ชนิดนี้อย่างชัดเจน

Kenya Hara เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ของใช้ไลฟ์สไตล์สุดเก๋อย่าง MUJI แต่มีบริษัทของตัวเองในนาม HARA DESIGN INSTITUTE เป็นผู้สร้างผลงานกราฟิกดีไซน์ งานโฆษณา งานโปรดักต์ บรรจุภัณฑ์ ตราสัญลักษณ์ เว็บไซต์ งานนิทรรศการ งานเพื่อสังคม หนังสือสิ่งพิมพ์ ออกแบบโปรแกรมทัวร์ และอีกมากมาย เขาบอกว่า เขาทำงานแค่สองอย่าง คือ หนึ่ง - งานที่เขาทำได้รับมอบหมายให้ทำ และ สองงานที่เขาต้องการเสนอไอเดียไปสู่สังคม
รูปประกอบ: Kenya Hara

        และหนึ่งในงานที่ 'ต้องการเสนอไอเดียไปสู่สังคม' ที่น่าสนใจของเขานั้น ก็คือการก่อตั้งโปรเจกต์ในชื่อ Architecture for Dogs หรือ สถาปัตยกรรมสำหรับสุนัข เมื่อปี 2012 โดยรวบรวมสถาปนิกผู้รักสุนัขมาร่วมกันออกแบบ ด้วยแนวคิดที่ว่าสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มานานแสนนาน ตั้งแต่การเลี้ยงเพื่อล่าสัตว์ในอดีตจนมาถึงการเลี้ยงเพื่อเยียวยาจิตใจในปัจจุบัน เขาจึงอยากจะสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักของมนุษย์ - สำหรับนักออกแบบบางคน ความรักในสุนัขก็พางานออกแบบของพวกเขาก้าวไปอีกขั้น บางที 'ความรัก' อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสร้างสรรค์งานศิลปะสามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็เป็นได้

และ นี่คือตัวอย่างผลงานบางส่วน...

1. Architecture for Long-Bodied-Short-Legged Dog

        ผลงานของ Atelier Bow-Wow กับการออกแบบเก้าอี้มีทางลาดเพื่อทำให้หมาดัชชุนของเขาที่มีขาแสนสั้นขึ้นมาบนโต๊ะได้ง่ายขึ้น

2. NO DOG, NO LIFE

        โดย Sou Fujimoto ออกแบบชั้นวางที่อัดแน่นด้วยข้าวของในชีวิตประจำวันของเธอ พร้อมกับฟังก์ชั่นช่องใส่สุนัข เพื่อแสดงถึงว่าสุนัขนั้นคือส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิต


3. Mobile Home for Shiba

        ผลงานของ Toyo Ito ออกแบบรถเข็นเพื่อสุนัขอายุมาก แถมติดร่มกันฝนและหิมะให้ด้วย น่ารักมาก คิวท์มาก  

4. Papier Papillon

        ของ Shigeru Ban ออกแบบพื้นที่สำหรับสุนัขที่สามารถใช้วัสดุที่ปรับเปลี่ยนได้ ที่สามารถปรับเป็นเตียงนอนโยก หรือแม้กระทั่งเขาวงกต (และในรูปที่เอามาโชว์เป็นเขาวงกตอยู่นะ)

5. D-TUNNEL

        และสุดท้ายคือ ผลงานของ Kenya Hara บันไดสำหรับสุนัขที่อาจดูเรียบง่าย แต่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับขนาดความสูงของสุนัข ไม่ใช่ความสูงตามค่ามาตรฐานที่ 15 เซนติเมตรต่อหนึ่งขั้นบรรทัด ซึ่งเป็นค่าที่เหมาะสมกับสรีระของมนุษย์ผู้คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลเสมอมา


        Architecture for Dogs แสดงให้เห็นว่า การออกแบบชิ้นงานเพื่อสุนัขที่พวกเขารักดั่งสมาชิกในครอบครัว รวมถึงการรู้จักนิสัยใจคอเป็นอย่างดี ย่อมนำไปสู่งานออกแบบที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ ห่วงใย และหวังดี นอกจากตัวงานที่เรามองเห็นหรือสัมผัสได้แล้ว ยังทำให้เราเห็นสายสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างงาน ตัวผลงาน และผู้ใช้ ที่สะท้อนผ่านรายละเอียดของผลงานแต่ละชิ้นสายสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นด้วยตานี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในงานทุกประเภท สำหรับนักออกแบบ ในการทำงานครั้งต่อๆ ไปอย่าลืมตรวจเช็กสายสัมพันธ์เส้นนี้ว่า มันยังอยู่ดีหรือเปล่า แม้ว่าจะมองไม่เห็นแต่ก็คงรู้สึกได้...จริงไหม

ส่วนหนึ่งจาก Love Design Love My Dog สถาปนิกหมาๆ 
คอลัมน์ Artboard—giraffe issue 22
STARTUP ISSUE 2/2 SEP 2015