17 ปีแล้วนะรถไฟฟ้าไทย พัฒนามาได้แค่ไหนแล้วล่ะ ?

กรุงเทพเมืองฟ้าอมรนับเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการจราจรติดขัดเป็นอันดับต้น ๆ แต่กรุงเทพฯ เองก็มีระบบขนส่งมวลชนให้เราเลือก(หลบเลี่ยงรถติด) ได้หลากหลายทั้งรถ เรือ ราง ยันพี่วินหน้าปากซอย แถมหนึ่งในตัวเลือกดี ๆ นั่นก็คือรถไฟฟ้า BTS ที่เปิดให้เราใช้บริการมาได้ 17 ปีแล้ว! (นานเหมือนกันนะเนี่ย) มินิมอร์เลยจะพามาดูว่าตลอด 17 ปีที่ผ่านมาบรรดารถไฟฟ้ามีอัตราการพัฒนาแค่ไหนกัน แล้วมันเป็นจริงอย่างที่เพจ #น่าเบื่อ เขาบ่นไว้ไหมนะ



Facebook Fanpage : น่าเบื่อ

ประเทศของเรามีรถไฟฟ้าเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างไม่ต้องกลัวปัญหารถติดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 (17 ปีมาแล้ว ถ้าจะนับวันนับเดือนกันจริง ๆ ก็คือ 16 ปีกับ 29 วัน แต่เพื่อความเข้าใจง่ายมินิมอร์ขอนับตามปี พ.ศ. แล้วกันเนอะ)

รถไฟฟ้าสายแรกที่เปิดให้ใช้บริการก็คือ BTS สายสุขุมวิท (สีเขียวอ่อน) ระยะทาง 17 กิโลเมตร ที่เปิดให้บริการจากสถานีหมอชิต และสิ้นสุดที่สถานีอ่อนนุช และ BTS สายสีลม (สีเขียวเข้ม) ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ถึงสถานีตากสิน 

ผ่านไปได้ 5 ปี ในปี 2547 รถไฟฟ้าใต้ดิน (ก็ที่เราเรียกกันว่า MRT นั่นแหละ) สายเฉลิมรัชมงคล จากสถานีหัวลำโพง ไปสถานีบางซื่อระยะทาง 21 กิโลเมตรก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาช่วยแบ่งเบาการจราจรอีกหนึ่งสาย


realist.co.th

ความยาวของ BTS สายสุขุมวิทงอกระยะทางออกมาจากการให้บริการครั้งแรกเมื่อ 17 ปีก่อนอีก 5.25 กิโลเมตร เป็น 22.25 กิโลเมตร ส่วนสายสีลมงอกออกมาอีก 8.17 กิโลเมตร เป็น 14.67 กิโลเมตร ในขณะที่น้อง MRT 12 ปีที่ผ่านมายังไม่งอกระยะทางออกมาให้บริการเพิ่มเลย (เขากำลังเร่งสร้างกันอยู่ ใจเย็น ๆ กันสิ)

มาดูกันดีกว่าเมื่อเทียบกับจำนวนปีที่เปิดให้บริการ กับระยะทางที่รถไฟฟ้าวิ่ง รถไฟฟ้าไทยจะมีอัตราการพัฒนาเป็นอย่างไร



1.BTS สายสุขุมวิท
ขบวนสีเขียวอ่อน ๆ ที่เห็นอยู่ด้านบนสุด ให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ระยะทางรวม 22,250 เมตร เปิดใช้มา 17 ปี อัตราการพัฒนาระยะทางเพิ่มขึ้น ปีละ 1,308 เมตร หรือตกเดือนละ 109 เมตร และถ้าคิดเป็นวัน ก็วันละ 3.58 เมตร ถ้าจะละเอียดไปอีกก็ตกชั่วโมงละ 14.91 เซนติเมตร (จะรู้ไปทำไมเนี่ย)

2.BTS สายสีลม
ขบวนสีเขียวเข้มลำดับถัดมา ให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ระยะทางรวม 14,6700 เมตร  เปิดใช้มา 17 ปี อัตราการพัฒนาระยะทางเพิ่มขึ้น ปีละ 862.9 เมตร หรือตกเดือนละ 71.9 เมตร และถ้าคิดเป็นวัน ก็วันละ 2.36 เมตร หรือพัฒนาระยะทางเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 9.83 เซนติเมตร (สั้นกว่าไม้บรรทัดอีกนะ)

3.MRT สายเฉลิมรัชมงคล
ขบวนสีน้ำเงินด้านล่าง ให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ.  2547 ระยะทางรวม 21,000 เมตร   เปิดใช้มา 12 ปี อัตราการพัฒนาระยะทางเพิ่มขึ้น ปีละ 1,750 เมตร หรือตกเดือนละ 145.8 เมตร และถ้าคิดเป็นวัน ก็วันละ 4.79 เมตร หรือชั่วโมงละ 19.95 เซนติเมตร

รถไฟฟ้าทั้ง 3 สายที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน มีอัตราการพัฒนาระยะทางเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 1,306 เมตร หรือราว ๆ วันละ 3.57 เมตร หรือชั่วโมง 14.87 เซนติเมตรนั่นเอง 



flickr.com

อย่างไรก็ตามอัตราการพัฒนาเมื่อเทียบกับเวลาและระยะทาง ก็เป็นคนละเรื่องกับความเร็วในการสร้างระบบราง ก็แหม ถ้าอัตราการพัฒนาของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย เกี่ยวข้องโดยตรงกับระยะเวลาการก่อสร้างของบรรดารถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ บรรดารถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดินที่ก่อสร้างไปแล้ว และกำลังจะเริ่มก่อสร้างทั้งหลายต้องใช้เวลาตั้งแต่ 7 ปี ไปจนถึง 27 ปีเลยทีเดียว (มันจะรอนานไปนะ)

แต่ก็เป็นโชคดีของชาวกรุงเทพฯ ที่ตอนแรกกำหนดการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าหลาย ๆ สาย คือ ปี 2572 นู่น ก่อนจะเร่งรัดขยับขึ้นมาเร็วขึ้นเป็นสิบปี ส่วนจะมีรถไฟฟ้าสายไหนมีกำหนดสร้างเสร็จให้เราได้ชื่นใจบ้างภายในปีนี้ ถึงปี 2564 เลื่อนลงมาดูไปพร้อม ๆ กันเลย


aecnews.co.th

ปี 2559 สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ (เย่ ได้ใช้ปีนี้แล้ว)
ปี 2561 สายสีแดงอ่อน (ชานเมือง) บางซื่อ-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์
ปี 2562 สายสีน้ำเงิน ท่าพระ-บางซื่อ ,สายสีแดง รังสิต-บางซื่อ,สายสีเขียว หมอชิต-คูคต และสายสีแดงเชื่อมแอร์พอร์ตลิงค์ ดอนเมือง-พญาไท (เป็นปีที่มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการเยอะมาก ดีงามที่สุด)
ปี 2563 สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ และสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี
ปี 2564 สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง

ว่ากันว่าถ้ารถไฟฟ้าเสร็จสิ้นทุกสายแล้วจะออกมาหน้าตาแบบนี้ (ขยายดูกันเอาเองนะว่าผ่านหน้าบ้านใครบ้าง  คลิกดูรูปใหญ่ที่นี่ 




news.mthai.com

ถ้าบรรดารถไฟฟ้าสารพัดสีสร้างเสร็จหมดคงสะดวกดีน่าดู นอกเหนือจากสายที่เสร็จปีหน้า ปีนู้น และปีนู้น ๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าบางสายจะมีกำหนดผุดออกมาเมื่อไหร่ (หรือต้องรอให้คนใช้แก่กันหมดก่อนนะ ฮือออ) ยังไงมินิมอร์ก็เอาใจช่วยให้รถไฟฟ้าทุกสายสร้างเสร็จอย่างปลอดภัย ให้บริการได้อย่างราบรื่น เพราะอัตราการพัฒนาจะเร็วมาก เร็วน้อยก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าสุดท้ายเราได้รถไฟฟ้าคุณภาพดี มีระบบมั่นคง แถมบริการเยี่ยมมาใช้ ว่าไหมล่ะ