'ลุงตู่-ทรัมป์' รุนแรง โหด ดุดัน ทำไม'นักการเมืองยิ่งสุดโต่ง'คนยิ่งรัก?

ต่างคนต่างความชอบ แต่บางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่านักการเมืองที่มีท่าทางรุนแรง แกร่งกร้าว ดุดันทำไมจู่ ๆ ถึงได้รับความนิยมกันอย่างล้นหลามขึ้นมา นอกจากคำอธิบายทางสังคมศาสตร์ มินิมอร์อาสาไขข้อข้องใจด้วยบางส่วนจากงานวิจัยที่จะทำให้เรารู้สึกว่า โห ครั้งหน้าถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ทำอะไรไม่โอเค ฉันจะไม่แชร์มาด่าแล้วอ่ะ เพราะยิ่งแชร์ ยิ่งเผยแพร่ นักการเมืองท่าทางรุนแรงก็จะยิ่งได้รับความนิยม (อ้าว จริงดิ?)



Raphael Boleslavsky ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านการบริหารธุรกิจจาก มหาวิทยาลัย Miami ก็อาสาไขข้อข้องใจให้เราแบบรู้ใจ

ส่วนหนึ่งที่นักการเมืองแบบสุดโต่งได้รับการยอมรับมากขึ้น มีสาเหตุมาจากการที่พวกเขามีพื้นที่ทางโทรทัศน์ (แทบจะทั้งวัน) ถูกพูดถึงทางโซเชียลมีเดีย (แทบจะตลอดเวลา) โดยนักวิจัยให้เหตุผลว่าการได้เห็นนักการเมืองอยู่ตลอดเวลา มันสามารถดึงความสนใจจากผู้คนได้มากกว่าตัวลักษณะนิสัยของนักการเมืองคนนั้นจริง ๆ เช่น เขาพูดนโยบายเป็นยังไง ดูน่าเชื่อถือมั้ย เวลาอภิปรายกับคนอื่น ๆ ล่ะ โอเคหรือเปล่า (มิน่าล่ะในเกาหลีเหนือถึงได้ฉายภาพท่านผู้นำซ้ำ ๆ เพราะมันมีผลต่อความเชื่อของเรานี่เอง น่ากลัวแฮะ)


การได้เห็นอะไรยาวนาน เห็นบ่อย เห็นถี่ ใคร ๆ ก็พูดถึง มันมีอิมแพคมากกว่าการได้รับข้อมูลแน่น ๆ เสียอีก (โถ ทำมันถึงเป็นแบบนี้ไปได้นะ) โดยสมมติฐานของเขาก็ไม่ซับซ้อน เพราะเขามองว่านักการเมืองแบบสุดโต่ง พูดจาหวือหวาเรียกคำด่าบ้างชมบ้าง โยนกล้วยใส่นักข่าวบ้าง วีนนักข่าวบ้าง (เอ่อ สองอันหลังไม่น่าใช่โดนัลด์ ทรัมป์แฮะ) เป็นการจับความสนใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมไว้ได้ ซึ่งยิ่งทำให้พวกเขาถูกพูดถึงซ้ำ ๆ ต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด ได้รับความสนใจมากกว่านักการเมืองที่ออกโทรทัศน์น้อยกว่า (ถึงจะมีข้อมูลหรือนโยบายที่ดีงามมากว่าเพียงใดก็เถอะ)

แล้วแบบนี้มีทางแก้มั้ยนะ ? (ดูไม่แฟร์กับนักการเมืองอื่น ๆ ที่พยายามเสนอนโยบายอย่างตั้งใจเลย) งานวิจัยเขาก็ใจดีตอบให้จ้ะว่าถ้าอยากจะให้คนโฟกัสที่นโยบายจริง ๆ การรับฟังนโยบายหรือเห็นนักการเมืองในเวลาสั้น ๆ ทางสื่อ จะทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถคิดได้ว่านโยบายจริง ๆ เป็นอย่างไร คาแรคเตอร์ของนักการเมืองเป็นอย่างไร (ไม่หลงไปกับการเห็นหน้าพวกเขาบ่อย ๆ เท่านั้น) ครั้งหน้าลุงทรัมป์ทำอะไรไม่โอเคเราจะไม่แชร์แล้วจ้ะ ฮืออออ

ยังไม่จบจ้ะ เพราะงานวิจัยแรก ดั๊นมาพอดีกันเป๊ะกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การเมืองของมหาวิทยาลัย California ที่ออกมาบอกเลยว่าท่าทางของนักการเมืองมีผลยิ่งกว่านโยบายของพวกเขาซะอีก!

 Gabriel Lenz ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่วิจัยเรื่อง "ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อนโยบายและการแสดงออกของนักการเมือง" เขาศึกษาเรื่องวิธีการลงคะแนนเสียงของผู้คนล้วน ๆ โดยศึกษาย้อนหลังกันยาวนานมากตั้งแต่การแข่งขันลงสมัครรับเลือกตั้งของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในปี 1980 โน่นน แล้วก็ไล่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 


งานวิจัยนี้ก็บอกว่าเสียใจด้วยนะ ยังไงเราก็เลือกนักการเมืองที่มีบุคลิกที่เราชอบมากกว่าอยู่ดี (ซึ่งจะชอบแบบไหนก็แล้วแต่คนเลยจ้ะ ชอบแบบดุดัน ชอบแบบพูดจาเสนาะหู หรือชอบแบบนอบน้อม) นโยบายของนักการเมืองคนนั้้นจะเป็นอย่างไรเราให้ความสำคัญน้อยกว่าบุคลิกที่เราชอบ (เช่น เราชอบคนที่ดูเป็นคนดี นโยบายเขาจะแปลกประหลาดยังไง ถ้าดูเป็นคนดีเราก็ไว้ใจ  พร้อมเลือกเขา หรืออีกคน โห ดูเลวอ่ะ ไม่ชอบเลย นโยบายจะดีแค่ไหนเราก็พร้อมเบือนหน้าหนี)

ไม่น่าเชื่อเลยว่าพฤติกรรมการลงคะแนนเลือกตั้งจะมีอะไรที่ซับซ้อนและพลิคล็อคได้ขนาดนี้ อ่ะ แต่ถ้ายังคลางแคลงใจหรือไม่จุใจกับข้อมูล ไปตามหาอ่านเพิ่มเติมกันได้ งานวิจัยแรกเขาตีพิมพ์ในวารสาร American Economic Journal: Economics ส่วนอันที่ 2 หาอ่านได้จากหนังสือ Follow the Leader? 



อย่างไรก็ตามงานวิจัยก็เป็นส่วนหนึ่งในการพยายามหาคำอธิบายสิ่งต่าง ๆ จากทฤษฎีหนึ่ง มุมมองหนึ่ง (ถ้าไม่อยากปักใจเชื่อ ก็ตามอ่านตามหาข้อมูลให้ดี บริหารวิจารณญานตัวเองก่อนได้) อย่างน้อยที่สุดวันนี้เราก็จะได้หันมาถามตัวเองมากขึ้น สงสัยกับตัวเองมากขึ้น ว่า เอ นี่เราเป็นอย่างงานวิจัยที่เขาบอกหรือเปล่านะ? ทุกวันนี้พอจะเลือกตั้งสักทีเราได้ศึกษานโยบาย แนวความคิดของแต่ละพรรคการเมืองอย่างจริงจัง ถี่ถ้วนแล้วหรือเปล่า หรือเราแค่ตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกใครเพราะเรารักหรือเกลียดเขา เลือกตั้งครั้งหน้าจะได้มีวิจารณญานและภุมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งขึ้นอีกเนอะ


ที่มา: phys.org,phys.org