จ๊ะเอ๋! พ.ร.บ.ความมั่นคงดิจิทัล'กลับมาล้วงข้อมูลเราอีกละ แถม'ยุทธศาสตร์ไซเบอร์'ให้ด้วย!

มองไปทางไหนก็เทคโนโลยี มองไปทางไหนก็สื่อดิจิทัล สารพัดข้อมูลของเราทั้งสำคัญและไม่สำคัญจึงถูกบรรจุไว้ในโลกดิจิทัลเป็นจำนวนมาก กฎหมายที่กำลังพูดเรื่องข้อมูลดิจิทัล แม้ทางหนึ่งจะดูเวรี่ไกลตัว (แหม่ ก็ขึ้นชื่อว่ากฎหมาย แค่คิดก็ตาลายแล้วอ่ะ) แต่อีกทางหนึ่งมันคือสิ่งที่กำลังพูดถึงชีวิตประจำวันของเรา ข้อมูลของเรา รูปแฟนของเรา (เอ่อ ก็ใช่แหละ) ถ้าไม่ชอบให้ใครมาเที่ยวหยิบมือถือไปดูซี้ซั้ว ก็อย่ามองข้าม'พรบ.ความมั่นคงดิจิทัล' เชียว

สัญญาว่ามินิมอร์จะพาไปทำความรู้จักชุดกฎหมาย'ความมั่นคงดิจิทัล' ที่กลับมาจ๊ะเอ๋ เราอีกครั้งแบบเนียน ๆ เพราะร่างกฎหมายพวกนี้จะต้องเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในเดือนมีนาคม (ก็เดือนนี้นี่แหละ!) เพื่อให้ทันบังคับใช้จริงภายในปี 2559 นี้แล้ววว 


ไหนว่าจะไม่หลอกกัน? บอกส่งเสริมเศรษฐกิจ นี่ส่งเสริมกันยังไงนะ?


ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.... หรือที่เรียกกันเล่น ๆ สวย ๆ แบบคนสนิทกันว่า ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ เป็นแค่หนึ่งใน พ.ร.บ.ที่ถูกเรียกโดยรวม ๆ ว่า พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล (อ่ะ ๆ ใจเย็น ๆ รู้ว่าตัวย่อเยอะ คำยากก็มา ค่อย ๆ ตั้งสตินะ)

ที่เรียกว่า พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะรัฐบาลลุงตู่ผู้น่ารัก ท่านมองการณ์ไกลแสนไกลว่าเนี่ยโลกมันก็เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจแบบดิจิทัลแล้วนะ เราก็ต้องมีกฎหมายมารองรับสิ  พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล จึงถูกร่างขึ้นมาเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลนั่นเอง


อ้อ แบบนี้เนื้อหาส่วนใหญ่ก็จะมารองรับเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลน่ะสิ ? แม้ความตั้งใจจะเป็นอย่างนั้นแต่ในเนื้อหาจริง ๆ กฎหมายที่ว่านี้ดั๊นไปพูดเรื่องความมั่นคงซะเป็นส่วนใหญ่ แถมให้อำนาจกับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่มากเป็นพิเศษด้วย (ทำไมถึงทำกับชั้นด้ายยย) พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัลเลยเรียกว่า ชุดกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล” น่าจะถูกต้องกว่า

แล้วไงใครแคร์? 'ความมั่นคงดิจิทัล' จะกระทบต่อชีวิตชิค ๆ ของเรายังไง ?


- ข้อมูลทางธุรกิจของใคร ใครก็ต้องห่วงเนอะ (เออ ขายครีมในอินสตาแกรมเรายังหวงสูตร หวงลูกค้าเลยแก) ดังนั้นถ้า พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ขึ้นมาแทนที่จะรองรับระบบเศรษฐกิจ บริษัททั้งไทย ทั้งต่างชาติคงต้องคิดหนักขึ้น ก็คนมันไม่มั่นใจนี่นาว่าข้อมูลทางธุรกิจ ธุรกรรม การงงการเงินของบริษัทจะปลอดภัยหรือเปล่า วันดีคืนดีพี่ ๆ  "คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ" จะมาขอ'ความร่วมมือ'ให้บริษัททำอะไร หรือไม่ทำอะไรขึ้นมาก็ได้ (ไม่นะะะ ฉันหวงสูตรครีมพันล้าน และหลักฐานทางการเงินของฉันมากบอกเลย)


- หวงโทรศัพท์ ข้อมูลส่วนตัวระดับไหนกันบ้าง? (โอเค ถ้ากิ๊กเยอะก็หวงมากหน่อย เข้าใจ ๆ) แต่ถ้าตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ แล้วล่ะก็เจ้าหน้าที่ของสำนักงานความมั่นคงไซเบอร์ฯ นางนึกอยากจะเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของเราก็เข้าได้เลย หมายศง หมายศาลอะไรไม่ต้องมี แค่หน้าตาเราอาจดูเป็นภัยสังคมพี่ ๆ แกก็สามารถใช้ประโยคเด็ด 'ขอความร่วมมือ'

รื้อค้นแคะแกะเกา เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารได้ทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น (เอ่อ ไปรษณีย์ก็นับเป็นสื่อดิจิทัลกับเขาด้วยเหรอเนี่ย เพิ่งรู้)(แล้วแถวบ้านคนร่างกฎหมายยังใช้โทรเลขกันอยู่หรอเนี่ย)


- แถมนิยามคำว่า'ภัยความมั่นคง'ก็ช่างไม่ชัดเจนเอาเสียเลย ว่าหมายถึงอะไรบ้าง ปัญหาทางเทคนิค ข้อมูลที่ส่งต่อ หน้าตาคนส่งข้อมูล หรือถ้าแฟนเราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วเกิดระแคะระคายว่าเรามีชู้ จะกลายเป็น'ภัยความมั่นคง'ด้วยมั้ยนะ โถถถถ  ก็แหม ถ้ายิ่งระบุไม่ชัด ก็จะยิ่งง่ายที่เจ้าหน้าที่จะบอกว่าใคร อะไร หรือการกระทำแบบใดก็ได้กลายเป็นความมั่นคงเสียหมด (มันไม่โอเคนะแก)

เอ แต่ที่ยุโรปเขาก็มีกฎการรักษาความมั่นคงไซเบอร์นะ แล้วเขาต่างกับเรายังไงอ่ะ ?


- อ่ะ มันก็ไม่ใช่แค่บ้านเราหรอกที่พูดเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ยุโรปเขาก็มีกลยุทธ์และกฎการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เหมือนกัน แต่ที่ยุโรปเขาทำเพื่อให้ระบบมันปลอดภัย มั่นคงด้วยตัวเอง ข้อมูลไม่รั่วไหลออก ในขณะที่ของเรามันสนับสนุนให้ข้อมูลไหลออกยังไงก็ได้ ถ้าภาครัฐเห็นว่าข้อมูลนั้นไม่โอเค 

- ความมั่นคงทางไซเบอร์ก็ไซเบอร์สิ ที่ยุโรปเขาก็ให้ธุรกิจดิจิทัล อย่างพลังงานการขนส่ง การธนาคาร และสุขภาพ รวมถึงธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานสถานการณ์ความเสี่ยงทางไซเบอร์ (อ่ะ ก็ยังโอเค ให้ธุรกิจตัดสินใจเองเนอะว่าอะไรเสี่ยงไม่เสี่ยง) แต่ที่ไทยต้องรายงานสถานการณ์ไซเบอร์จ้ะ (เออ จะเสี่ยงไม่เสี่ยงก็ต้องรายงาน) แถมให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงการสื่อสารทุกรูปแบบที่ไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องไซเบอร์เลย (ไปรษณีย์อย่างงี้ จะสั่งชุดนอนลายเสือดาว อยู่ ๆ มาโดนตรวจก็อายเขานะ ฮือออ)

'ยุทธศาสตร์ไซเบอร์' ของแถมให้จากกระทรวงกลาโหม 


สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวานนี้ (29 กุมภาพันธ์) เมื่อโฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาบอกว่าจะร่างยุทธศาสตร์ไซเบอร์ใน 3 ประเด็น คือ ...

"...1.ด้านการป้องกัน โดยกำหนดให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมต่อระหว่างการปฏิบัติงานร่วมกันในระดับนโยบายความมั่นคงที่ดูแลความปลอดภัยระดับชาติ ไปสู่กระทรวงกลาโหม รวมถึงพัฒนาความร่วมมือกับมิตรประเทศ 2.ด้านการป้องปราม คือการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามจากไซเบอร์ที่พร้อมจะดำเนินการเชิงรุกต่อฝ่ายที่เข้าแทรกแซง และ 3.ด้านการผนึกกำลังที่เป็นการเพิ่มมาตรการและขีดความสามารถในการผนึกกำลังไซเบอร์ให้ปฏิบัติการได้ในระดับชาติ..."

หูยย นึกว่าจะไปรบกับใคร นักรบไซเบอร์คงจะอารมณ์ประมาณนี้นี่เองเนอะ

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัลทั้งหมดนี้ มองเป็นเรื่องกฎหมายที่ละเมิดสิทธิั้นพื้นฐาน หรือแค่อยากรู้ว่ารัฐบาลจะล้วงข้อมูลเหล่าร้ายได้เก่งกาจแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่คงจะดีไม่น้อยคือเราอย่าปล่อยให้กฏหมายที่จะเข้ามาส่งผลต่อชีวิตเรา (ทั้งทางดีและร้าย) ผ่านเลยไปแบบเงียบ ๆ มาจับตาดูไปพร้อม ๆ กันดีกว่า (น่าสนุกออก)


ที่มา: dailynews.co.th,thainetizen.orgpolitic.tnews.co.th,ilaw.or.th,change.orgprachachat.net

ภาพ:stormwind.com  drealfmgrenada.com vceplus.com zakstudio.pl .knowhow.com 4thpark.com