งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯครั้งที่ 71 ผ่านพ้นไปสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันเสาร์ (13 กุมภาพันธ์)ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการแข่งขันกีฬา(และการไปส่องผู้ชายหล่อ ผู้หญิงสวย)แล้ว ความคุกรุ่นเจียนเดือดของกระแสขบวน'ล้อการเมือง'ภายในงานก็ยังร้อนแรงไม่มีตกง่าย ๆ (ของเขาแรงดีจริง ๆ) ตกลง'ล้อการเมือง'มีไว้ทำไม ? หุ่นกระดาษและป้ายผ้ามันน่ากลัวและอันตรายจนพี่ ๆ ทหารต้องมาเฝ้าทั้งกองร้อยเลยจริงไหม ?
มินิมอร์ชวน 'วรยุทธ มูลเสริฐ' นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ ประธาน กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาคุยให้รู้เรื่องกันไปเลย!
มินิมอร์ : ผ่านมาแล้ว 2 วัน กระแสที่ได้ตอบกลับมาเป็นยังไงบ้าง ?
วรยุทธ : กระแสตอบรับจากคนในสังคมค่อนข้างดี มีการวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงพูดคุยในหลาย ๆ ประเด็น ทั้งสองฝ่าย
ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมที่มีทั้งชอบและไม่ชอบ แต่ภาพรวมเราก็ได้เห็นคนในสังคมถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผมว่ามันทำให้คนในสังคมฉุกคิดและรู้จักตั้งคำถามในประเด็นที่สังคมควรจะวิพากษ์วิจารณ์และตระหนักให้มากขึ้น
(อืมม นั่นสิเนอะ คิดไม่เหมือนกัน เถียงกันก็ไม่เห็นเป็นไร อย่างน้อยก็ดีกว่าเงียบไม่มีการถกเถียงเพื่อพัฒนาเลยนี่นา)
มินิมอร์ : รู้สึกมั้ยว่าปีนี้กระแสมันดูแพร่ไปในวงกว้างกว่าทุกปี เพราะอะไรมันถึงไปได้กว้างและมีกระแสที่หลากหลายขนาดนี้
วรยุทธ : ผมว่าปกตินะ ล้อการเมืองที่ผ่านมาก็มีกระแสตอบรับที่หนักมากเหมือนกัน ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องน่ายินดีมากนะที่คนในสังคมตื่นตัว ออกมาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงกันอย่างมีเหตุผลได้อย่างกว้างขวาง มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ไม่แปลกใจะเกิดกระแสที่หลากหลายแตกต่างกันขนาดนี้ มันเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำความเข้าใจได้
(มินิมอร์ : เออ จริงแฮะ คนมันหลากหลาย คิดเหมือนกันได้หมดสิแปลก)
มินิมอร์ : แล้วกว่าจะออกมาเป็นที่พูดถึงขนาดนี้ ใช้เวลาทำนานแค่ไหน ? คนมาช่วยกันเยอะมากหรือเปล่า ?
วรยุทธ : เวลา 25 วัน ใช้คน 50-60 คน คือเวลามันน้อยมาก กระบวนการทำหุ่นจริง ๆ ต้องใช้เวลา ปีนี้มีเวลาน้อยกว่าปีก่อน ๆ เพราะมหา'ลัยเปิดเทอมช้า (มินิมอร์ : ขนาดทำแป๊ปเดียว ยังถูกพูดถึงขนาดนี้ พีคมาก)
มินิมอร์ : แล้วตกลง 'ล้อการเมืองมีไว้ทำไม'? คิดยังไงเวลาได้ยินวลีทำนองว่า "โหยยยย ทำอย่างอื่นเถอะ ล้อการเมืองไปทำไม ไม่เห็นมีประโยชน์เลย"
วรยุทธ : คือการล้อการเมืองมันเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬามามากกว่า 40 ปีแล้ว เป็นประเพณีที่พวกเราสองมหา'ลัยก็ทำกันมาทุกปี
(มินิมอร์ : อ่ะ ถ้าไม่เชื่อ มินิมอร์ขออวดขบวนล้อการเมืองในรอบหลาย ๆ ปีมาประกอบด้วยแล้วกัน)
งานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 68 ปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์
tlcthai.com
ฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 66 ปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์
ในขณะเดียวกันก็เป็นกระบอกเสียงของประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ถูกคุกคาม ไม่มีใครสนใจความเดือดร้อนของพวกเขา ล้อการเมืองเป็นกระบอกเสียงให้คนเหล่านี้ด้วย มันมีประโยชน์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว
มินิมอร์ : อย่างนี้จะมีคนหาว่าเราทำสังคมแตกแยกหรือเปล่า แบบ อ้าว ก็อยู่เงียบ ๆ สงบ ๆ ก็ดีอยู่แล้วไง จะมาตั้งคำถง คำถามอะไรกันวุ่นวาย
วรยุทธ : เราไม่ได้ต้องการสร้างความแตกแยก แต่เรานำเสนอปัญหาที่มันมีอยู่แล้วในสังคม ส่วนตัวแล้วเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบเมื่อเราทำออกมา เราก็พยายามรับฟังทุก ๆ ความคิดเห็น ผมได้แต่หวังว่าสักวันนึงคนที่มองล้อการเมืองไม่มีประโยชน์จะเข้าใจล้อการเมืองอย่างที่ผมเข้าใจว่ามันคือการฉุกคิด การตั้งคำถามกับสังคมที่เราอยู่
มินิมอร์ : ทำไมเรายังยืนกรานที่จะทำ ทั้ง ๆ ที่เสี่ยงที่จะโดนหาว่าเป็นเด็กดื้อ พี่ ๆ ทหารเองเขาก็ดูเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ไม่กลัวเหรอ ?
วรยุทธ : ผมคิดว่าล้อการเมืองเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาทุกปีและเป็นบทบาทที่นักศึกษาควรทำ ควรออกมาตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ในสังคม ในแง่หนึ่งแล้วเราก็แบกรับความเป็นธรรมศาสตร์และมรดกทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่อยู่คู่กับมหา'ลัยมา
แต่ผมอยากเห็นสังคมไทยพัฒนาอย่างอารยะ ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันได้ ผมหวังว่าสักวันผมจะเห็นสังคมไทยที่ผมรักเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งการทำล้อการเมืองนับว่าเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดของพวกเรา "ล้อการเมือง"ต้องส่งสารเหล่านี้ออกไปให้ได้
มินิมอร์ : เราคิดยังไงที่พี่ ๆ ทหารเขาไม่ค่อยพอใจกับหุ่นกระดาษและป้ายผ้าที่เราทำ
วรยุทธ : ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องกลัวการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการตั้งคำถาม ถ้าเรามั่นใจว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟครับ
ไม่ว่าเราจะเป็นหนึ่งในคนที่ชอบหรือไม่ชอบขบวนล้อการเมือง จากกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่เราคงปฏิเสธไม่ได้จากการชวนคุยครั้งนี้คือความใจกว้างแสนกว้างยิ่งกว่าแม่น้ำโขงของกลุ่มอิสระล้อการเมืองฯ ที่พร้อมรับฟังทุกคำติชม
คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนคิดเหมือนกัน (ซึ่งก็ไม่เห็นต้องคิดเหมือนกันเลยนี่นา) แต่ในความต่างนั้นเราทุกคนควรมีสิทธิที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงกันอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรงและความเกลียดชัง ที่สำคัญถ้ารักจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับสาธารณชนก็อย่าลืมเปิดใจรับคำวิจารณ์ให้ได้ ดูน้อง ๆ นักศึกษากลุ่มอิสระล้อการเมืองเป็นตัวอย่างก็ได้นะจ๊ะ
ที่มา : prachatai.org, กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์