Social Giver คืออะไร? ทำไมถึงได้เข้าแข่งขันเวทีสตาร์ทอัพระดับโลก? หาคำตอบได้ในนี้

        การจ่ายเงินสำหรับท่องเที่ยวพักผ่อนในสายตาคนทั่วไปอาจดูเป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในยามเศรษฐกิจโลกยังคงลุ่มๆ ดอนๆ ดังนั้นนอกจากเรื่องความคุ้มค่าของเงินที่ต้องจ่ายไป ยังมีวิธีการใดอีกบ้างที่จะช่วยกระตุ้นให้เจ้าของเงินกล้าควักกระเป๋าจ่ายค่าประสบการณ์ ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’ ได้มากขึ้น - นั่นคือเรื่องที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ควรใคร่ครวญ

        ใครที่อยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรมภาคสังคม อยากบริจาคเงินให้องค์กรการกุศล แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ตรงไหน – มาลองเริ่มได้ที่ 'Social Giver' เว็บไซต์ขายดีลที่ชวนคุณออกไปทดลองสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ หาความสุขใส่ตัวครั้งหนึ่งในชีวิต ที่แต่แตกต่างกับเว็บไซต์อื่นๆ ตรงที่ เมื่อเราจ่ายเงินซื้อดีล Social Giver จะแบ่ง 30% ไว้เป็นค่าดำเนินการ อีก 70% จะถูกส่งไปให้องค์กรเพื่อสังคม ปัจจุบัน Social Giver ขายดีลไปแล้วเป็นมูลค่ามากกว่าหนึ่งล้านบาท และกำลังขยายขนาดออกไปไกลกว่าเดิม เนื่องจากชนะการประกวดสตาร์ทอัพระดับโลกมาหลายเวที อ่านมาถึงแค่วรรคนี้ ใครสนใจก็คลิกเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์กันได้เลยที่ >> www.socialgiver.com <<



        บูม—อาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ และ อลิซ—อลิสา นภาทิวาอำนวย คือ หนุ่มสาวนักธุรกิจเพื่อสังคมที่สนใจปัญหาการขาดแคลนทุนและความพร้อมในการประชาสัมพันธ์ขององค์กรภาคสังคมในเมืองไทย ทั้งคู่จึงคิดแพลตฟอร์ม Social Giver ขึ้นมาประสานระหว่างสามส่วนได้แก่ 1) โรงแรม ร้านอาหาร และบริการต่างๆ 2) หน่วยงานเพื่อสังคมที่ต้องการเงินสนับสนุน และ 3)ผู้ใช้บริการ 
        ก่อนจะมาเป็นทีมที่คอนเซปต์แน่นแบบนี้ พวกเขาต้องผ่านการคิด การทดลองโมเดล สลับกับพัฒนาไอเดียซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอดเวลา 2 ปี ทั้งคู่เลือกหยิบความโดดเด่นของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยมาเป็นตัวตั้ง เนื่องจากบริการเหล่านี้ต้องสูญไปอย่างไร้ประโยชน์ถึง 1.6 พันล้านบาทต่อวัน จึงคิดแปลงห้องพักว่างๆ โต๊ะอาหารโล่งๆ ให้กลายเป็นดีลดีๆ ที่คนทั่วไปเอื้อมถึง แถมยังได้ช่วยแนะนำโครงการดีๆ ให้คนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขามาถึงจุดนี้ได้กันดีกว่า


5 ขั้นตอนเริ่มสตาร์ทธุรกิจเพื่อสังคม ในแบบของ Social Giver

1. มองหาประเด็นในสังคมที่เราอยากแก้ไข
2. ระดมสมอง คิดค้นวิธีแก้ปัญหาให้หลากหลายไว้ก่อน
3. คุยกับคนให้มากเข้าไว้ ลองเสนอไอเดียให้เพื่อนๆ คนใกล้ตัวฟังก่อน และพูดคุย ทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เราต้องร่วมงานด้วย
4. ทดลองโมเดล ทดสอบระบบหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบในสเกลเล็กๆ แล้วปรับปรุงจนกว่าจะได้ผลที่พอใจ
5. ทำใจพร้อมรับมือปัญหาที่จะเข้ามาทุกขั้นตอนในการทำงาน

 “ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบใดก็ตาม หากเรามอบคุณค่าบางอย่างให้แก่ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระยะยาว ระยะกลาง ระยะสั้น ทุกคนก็พร้อมจะร่วมมือด้วย” อลิซ—อลิสา socialgiver.com
รู้จักกับพวกเขาได้มากขึ้นผ่านทางwebsite หรือ คลิปวิดิโอนี้กันได้เลย

กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) คือ กิจการที่มีการแก้ไขหรือพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายหลัก ผ่านกลไกการค้าหรือการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการตอบสนองความท้าทายที่มีอยู่หรือกำลังจะเกิดขึ้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน



จาก Give Me A Break พักคือการให้
คอลัมน์ Startup —giraffe issue 21
LAZY ISSUE 1/2 SEP 2015
photo : unsplash.com