ในขณะที่ใครต่อใครต่างบอกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย คลื่นลูกใหม่ในวงการหนังสือสองคนกลับเลือกลุกขึ้นปลุกปั้นสำนักพิมพ์จนเกิดเป็นกระแส อะไรที่ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาทำหนังสือ ความชื่นชอบการอ่านเพียงพอหรือไม่ และต่อไปนี้คือเรื่องราวของสองมือใหม่บนทางสายน้ำหมึกที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ!
จะว่าไปก็เหมือนนิยาย
วัยรุ่นสองคนจับพลัดจับผลูร่วมทริปเดินทางไกลไปยังอินเดีย ก่อนเสียงเรียก ‘ไจไจ’ ของคนขายชาบริเวณชานชาลารถไฟในอินเดีย ร่วมด้วยโชคชะตาจาก ‘หนังสือ’ เล่มหนึ่ง จะกลายเป็นจุดเชื่อมเล็กๆ ที่ทำให้พวกเขากลับมาพบกันอีกครั้ง
แบงก์—ธนาคาร จันทิมา เด็กหนุ่มผู้หลงใหลในงานเขียน จบการศึกษาจากเอกภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังคมอุดมงานเขียนสายแข็งที่ผลักให้เขาหันหน้าเข้าหาชั้นหนังสือ ก่อนบางเล่มจะกลายเป็นอาวุธติดมือเขามาจนวันนี้—แบงก์บอกกับเราตรงๆ ว่าชีวิตเขาเลื่อนไหลไปตามจังหวะโอกาส จากเด็กสายวิทย์ย้ายสู่คณะสายศิลป์ จากไม่อ่าน กลับรักการอ่าน และจากที่คิดว่าคงไม่มีใครชอบหนังสือที่เขาหมายตา กลับเจอคนนั้นอยู่ไม่ไกลตัว
“เราเรียนจบทั้งตรีและโท จากคณะอักษรฯ หลังจากนั้นก็หยิบจับงานเขียนมาเรื่อยๆ จนเมื่อประมาณปีที่แล้วเราตัดสินใจชวนเพื่อนอีกคนไปเที่ยวอินเดีย ทำให้ได้เจอกิ่งซึ่งเป็นเพื่อนของเพื่อนอีกที ในทริปเรายังไม่สนิทกันเท่าไหร่หรอก แต่มันมีบางจังหวะต่อจากนั้นที่ทำให้เราสองคนได้กลับมาเจอกัน” แบงก์เว้นจังหวะ ก่อนหญิงสาวผมสั้นข้างๆ จะรับช่วงเติมคำตอบให้กับเรา
“เรากลับมาเจอกันอีกครั้งหลังจากพี่แบงก์ได้อ่านรีวิวหนังสือ ‘ความฝันของไอน์สไตน์’ ที่เราเป็นคนเขียนลงเพจ Papercuts แล้วสนใจ อาจเพราะเขาคิดว่าคงไม่มีใครชอบหนังสือแนวเดียวกันมั้ง (หัวเราะ) ด้วยความที่รู้จักกันจากในทริปอยู่แล้ว เราก็เลยนัดเจอกัน แล้วพี่แบงก์ก็ส่งหนังสือแนวเดียวกันอีกเล่มหนึ่งมาให้อ่าน ซึ่งก็คือเรื่องซัม (SUM) นี่แหละ พอเราอ่านแล้วชอบ ก็คิดต่อว่าอยากร่วมกันทำให้มันเป็นภาษาไทย เลยเกิดเป็นโปรเจกต์สำนักพิมพ์ไจไจขึ้นมา” กิ่ง—ณัฐกานต์ อมาตยกุล อดีตนักศึกษาจบใหม่ผู้พลัดหลงเข้าวงการหนังสือมาตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่คณะเดียวกับแบงก์ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของสำนักพิมพ์ชื่อชวนจำอย่างไจไจ ก่อนไล่เรียงถึง ‘ซัม (SUM): สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย’ หนังสือเล่มแรกในการกำกับของทั้งคู่ ว่าเป็นเหมือนสะพานสานความสนใจของพวกเขาเข้าด้วยกัน ยิ่งกว่านั้นเธอยังเชื่อว่าสะพานนี้ยังเชื่อมกับอีกหลายคนได้ไม่ยากเหมือนอย่างใครมอง
“หลายคนอาจคิดว่าหนังสือแนววิทยาศาสตร์มันจะขายได้เหรอ แต่ถ้าได้ลองอ่านจะพบว่าซัมมีความแมสอยู่ประมาณหนึ่ง ไม่ได้มีกำแพงภาษายากๆ หรือทฤษฎีน่ากุมขมับ แค่ต้องเปิดใจรับมุมมองใหม่ๆ เท่านั้นเอง บางคนอ่านชื่อหนังสือแล้วอาจคิดว่าเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายอย่างเดียวหรือเปล่า แต่จริงๆ มันเปิดมุมมองให้เราตั้งคำถามกับชีวิตประจำวัน ความยุติธรรม อะไรอีกหลายอย่างด้วย” กิ่งอธิบาย ก่อนเราจะสงสัยว่าอะไรทำให้พวกเขามั่นใจในกลไกตลาดว่า จะเอื้อให้หนังสือแนว pop science ซึ่งถือว่า ‘ใหม่’ เติบโตได้ในวงการ
“อาจเพราะเราเคยทำงานในร้านหนังสือมาก่อน เลยทำให้พอมองออกว่าหนังสือเนื้อหาประมาณไหนจะขายได้ ซึ่งซัมเป็นหนังสือที่เราอ่านแล้วรู้สึกแบบนั้น” แบงก์ตอบทันควัน ก่อนจะเสริมว่าอาจเพราะความเป็นมือใหม่เลยไม่มีอะไรต้องเสีย “เรากับกิ่งยังใหม่ทั้งคู่ เราเพิ่งเคยทำสำนักพิมพ์ ส่วนกิ่งก็เพิ่งเคยแปลหนังสือ พอทุกคนใหม่มันเลยไม่กลัวเจ๊ง เหมือนกับว่าถ้าสำเร็จก็กำไร แต่ถ้าพลาดก็เท่าทุน เพราะเราเริ่มจากศูนย์”
ความมั่นใจบวกกับความสดใหม่ของฝีมืออาจคือเคล็ดลับความสำเร็จ เพราะเมื่อ ซัม เป็นรูปเป็นเล่มก็ได้รับเสียงปรบมือจากนักอ่านในระดับพอให้ทั้งสองใจชื้น และมีกำลังพอจะฟื้นความรักในงานหนังสือผ่านสำนักพิมพ์เล็กจ้อยแต่เจ๋งอย่างไจไจให้เราได้คอยจับตามองต่อไปในอนาคต
ติดตามความเคลื่อนไหวของไจไจได้ที่ facebook.com/chaichaibooks