ใคร ๆ ก็รู้กันเกือบทั้งจักรวาลแล้วว่าเฟซบุ๊กมีปุ่ม Like แบบใหม่มาอวดโฉมพวกเรา คือจากนี้ไปเราจะไม่ได้แค่บอกใคร ๆ ว่า ไอไลค์ยูเท่านั้น แต่ love ก็ได้ บอกขำ haha ก็ได้ หรือจะ wow จะ sad หรือจะเวรี่ angry ใส่ใครก็แล้วแต่พวกแกเลือกเลย
นอกเหนือจากความตื่นเต้นแปลกใหม่แล้วรู้หรือเปล่าว่าปุ่มแสดงอารมณ์แบบล่าสุดนี้ เขาไม่ได้ปุปปัปก็คิดขึ้นมานะ แต่พี่มาร์คเขามองการณ์ไกล วางแผนมาปีกว่า ๆ แล้ว แถมมีการรวมทีมอเวนเจอร์มาคิดค้นอย่างถี่ถ้วนเพื่อบุกผู้ใช้ เอ้ย มาบริการผู้ใช้อย่างเรา ๆ แบบสุดชีวิต เจ้าอิโมติคอนแสดงอารมณ์จะแข็งแกร่งทรงพลังขนาดไหนกันนะ
Julie Zhuo ที่เป็น product design director ของเฟซบุ๊กเขาบอกว่าจะทำอะไรแต่ละทีต้องมีเบื้องลึกเบื้องหลังหมดแหละ อย่างการทำปุ่มแสดงอารมณ์ใหม่ก็เป็นเพราะว่าคนใช้เฟซบุ๊ก 1.44 พันล้านคน รวมถึง 90% ของคนที่เข้ามาใช้งานในแต่ละวัน ดูเฟซบุ๊กผ่านมือถือกันทั้งนั้น เขาเลยต้องการอะไรที่เร็วและง่ายกว่าการคอมเมนท์ มาตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างเรา ๆ นี่แหละ (อื้อหือ ช่างสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งจนน่ากลัวจริง ๆ)
การมีอิโมติคอนพวกนี้มันกลายเป็นที่สุดแห่งการเติมเต็มเฟซบุ๊กพอสมควร เพราะเฟซบุ๊กมันคือสังคมที่ผู้คนสื่อสารกันโดยไม่ได้พูด ไม่ได้ยินน้ำเสียงกันและกัน สังเกตมั้ยว่าบางทีเราพิมพ์อย่าง เพื่อนดันเข้าใจอีกอย่าง เพราะคิดว่าน้ำเสียงเราเป็นอีกอย่าง (โว๊ะ วุ่นวายแท้) อิโมติคอนการแสดงอารมณ์จึงเป็นความดีงามที่จะมาตอบโจทย์การบอกอารมณ์ให้ตรงใจเป๊ะมากขึ้น
แต่ แต่ แต่ ความท้าทายต่อไปคือ อารมณ์มีเป็นร้อยเป็นล้าน ถ้าเอามาทั้งหมดนั่นชีวิตก็จะยากไปนะ นั่นสิแล้วเขามีวิธีเลือกยังไงกัน ?
เฟซบุ๊กเขาถึงกับตั้งทีมอเวนเจอร์ขึ้น! โดยนอกจากทีมตัวเอง ยังมี Vyvyan Evans ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Bangor ผู้ศึกษาการใช้อิโมติคอนในการสื่อสารอย่างจริงจัง ซึ่งก็พบว่าเจ้าปุ่มแสดงอารมณ์หรืออิโมติคอนทั้งหลายไม่ใช่จู่ ๆ เราจะมโนขึ้นมาเองได้นะ แต่มันได้มาจากการแสดงภาษากายและการแสดงอารมณ์ทางสีหน้ามนุษย์จริง ๆ เลยล่ะ
ทีมอเวนเจอร์ยังไม่หมดแค่นั้น เฟซบุ๊กยังดึง Dacher Keltner ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยามาเป็นที่ปรึกษาด้วย ซึ่งศาสตราจารย์แกไม่ธรรมดานะบอกเลยเพราะเคยเป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้กับแอนนิเมชันหลากอารมณ์อย่าง inside out มาแล้ว!? (โห กว่าจะคิดปุ่มแสดงอารมณ์ใหม่ ๆ มันยากและละเอียดขนาดนี้เลยหรอ)
Dacher Keltner บอกกับคนในทีมเฟซบุ๊กว่าถ้าอยากจะแคปเจอร์ความซับซ้อนหลากหลายทางอารมณ์ของมนุษย์ไว้ได้มันควรอยู่ที่ประมาณ 20-25 อิโมติคอนนู่นแหละ แต่ด้วยข้อจำกัด 20 มันก็มากไปสำหรับเฟซบุ๊กไง มันเลยต้องเฟ้นหาแค่ 5 อารมณ์ที่คนใช้บ่อยที่สุด!
ปฏิบัติการอเวนเจอร์ค้นหาอารมณ์ที่มนุษย์ชาวเฟซบุ๊กใช้แสดงออกมาบ่อยที่สุดจึงเริ่มขึ้น ทีมเฟซบุ๊กอเวนเจอร์วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้จากทั่วโลก ด้วยการดูว่าสติกเกอร์ตัวไหนถูกใช้บ่อยที่สุด อิโมติคอนแบบไหนคนส่งให้กันมากที่สุด ไปจนถึงคอมเมนท์ที่เราเมนท์ด้วยคำเดียวกันมากที่สุด (โอเค ถ้าเป็นที่อื่น อาจจะ yes no wow อะไรก็ว่าไป แต่ถ้าในไทย 'สาธุ'นี่น่าจะเยอะสุดอ่ะแก)
หลังจากควานหาอารมณ์ที่คนใช้บ่อยที่สุด (ซึ่งยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรอีกมั้งเนี่ย) ผลที่ได้ยิ่งไม่น่าเชื่อว่าอารมณ์ที่คนส่งให้กันมากที่สุดคืออารมณ์'รัก'นะจ๊ะ (โห เคยคิดว่าเฟซบุ๊กทำให้คนส่งต่อความเกลียดให้กันซะอีกนะเนี่ย) จากนั้นก็เป็นพวกอารมณ์ขัน เศร้า ตกใจ กันตามลำดับ
Dacher Keltner ยังแนะนำเฟซบุ๊กอีกด้วยว่าที่จริงมันควรมีเสียงเพื่อแสดงอารมณ์และสื่อสารกันด้วยนะ แม้ตอนนี้จะยังทำไม่ได้ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่หรอกจ้ะ (ตาย ๆ เฟซบุ๊กมีเสียง ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง จินตนาการไม่ออกเลยแฮะ)
แม้ทีมอเวนเจอร์เฟซบุ๊กจะทำงานอย่างหนักหน่วงกว่าจะมีฟีเจอร์ใหม่แบบนี้ออกมาให้เราใช้ แต่ในทางกลับกันเฟซบุ๊กก็ใช้ข้อมูลทางอารมณ์พวกนี้ของเราไปปรับอัลกอริธึม เพื่อเลือกเนื้อหาที่เราชอบมาแสดง (เราไป Angry ใส่เพื่อนคนไหนมาก ๆ เฟซบุ๊กนางก็จะค่อย ๆ เฝดเพื่อนคนนั้นออกไปจากชีวิตเราเงียบ ๆ เอง ในขณะที่ศิลปินที่เราไป กด Love ไว้แบบไม่แคร์สื่อก็คงจะโผล่หน้ามาให้เห็นมากขึ้น ๆ) ซึ่งก็เป็นข้อดีของบริษัทหรือเพจที่จะปรับเนื้อหาตัวเองให้คนชอบและเข้ามาอ่านได้มากขึ้น
แต่ถ้าลึกไปกว่านั้นนี่ก็ไม่ต่างจากการที่ทีมเฟซบุ๊กอเวนเจอร์จะอ่านใจเราได้เลยนะ! เพราะเฟซบุ๊กก็จะรู้หมดเลยว่าเราชอบอะไร รักอะไร โกรธข้อความแบบไหน เซ้นซิทีฟจนร้องไห้กับข้อความแบบใด รู้แล้วไม่พอเฟซบุ๊กก็จะเลือกแสดงเนื้อหาที่สามารถทำให้เราถูกดูดติดแหง็กอยู่กับเฟซบุ๊กมากขึ้น (เดี๋ยวนะ ทุกวันนี้พี่ยังไม่พอใจอีกเหรอ สูญเสียไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า'เฟซบุ๊ก' ฮืออออ)
ถ้าไม่อยากถูกอ่านใจ หรือถูกควบคุมพฤติกรรมขนาดนั้น เขาก็แนะนำว่ากดไลค์เหมือนเดิมก็พอจ้ะ ไม่ต้องแสดงอารมณ์อะไรมาก (นิ่ง ๆ เท่ ๆ แบบรุ่นใหญ่กันไป)