ทุกทีที่เข้าห้องน้ำแล้วต้องเจอรอยเท้าประวัติศาสตร์ของคนก่อนหน้าบนฝารองนั่งนี่มันชวนให้หงุดหงิดจริง ๆ (เขามีให้นั่งราบ ไม่อยากนั่งก็อย่านั่ง แต่อย่าขึ้นไปเหยียบสิ ฮือออ) แม้จะมีฟอร์เวิร์ดเมลล์ที่พยายามล่อลวงผู้คนว่าถ้าแกขึ้นไปนั่งยอง ๆ บนโถแบบนั่งปกติมันจะแตกแล้วบาดก้นแกนะ แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด รอยเท้าประวัติศาสตร์ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่มนุษย์ผู้หวงแหนความสะอาดของช่วงล่างตัวเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมฉันต้องเอาร่างกายเปลือยเปล่าของฉันไปสัมผัสกับโถที่คนใช้ร่วมกันเป็นร้อยด้วยยะ! ปัญหาจะหมดไป วันนี้มินิมอร์จะพาข้ามโลกไปไกลถึงเยอรมัน ที่ที่ให้กำเนิดส้วมสองวัฒนธรรมขึ้น!
แม้ต้นตอดราม่าจะต่างกัน เพราะที่เยอรมนีเขาประสบปัญหาการนั่งส้วมเนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม (ไม่ใช่มารยาทสาธารณะซะทีเดียว) โดยปีที่ผ่านมาประเทศเยอรมันรับผู้อพยพจากทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกาเข้าประเทศมากว่า 1.5 ล้านคน (ช่างเป็นประเทศที่ใจกว้างเสียจริง) โดยผู้อพยพมีวัฒนธรรมเรื่องส้วมที่ต่างจากคนเยอรมันอย่างสิ้นเชิง (ดูสิ แม้แต่เรื่องส้วมก็เป็นวัฒนธรรมแฮะ)
ผู้อพยพหลายคนเมื่อต้องเข้าส้วมแบบนั่งบนโถ ก็มักจะไม่สบายใจจนบางทีเลือกปลดปล่อยความทุกข์บนพื้นห้องน้ำมันซะเลย บางคนก็เลือกที่จะเดินหาทุ่งหาป่าก็ว่ากันไป แต่ที่แย่ที่สุดหลาย ๆ คนเลือกจะอั้นเอาไว้ไม่ยอมขับถ่ายเมื่อเจอส้วมแบบที่ต้องนั่งโถ (เออ ไม่น่าเชื่อ นี่กลายเป็นปัญหาระดับชาติเหมือนกันแฮะ)
เรื่องราวความขัดแย้งแบบส้วม ๆ ยังดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด เมื่อเกิดการเหยียดเชื้อชาติขึ้น! (หูยย ไปไกลมากจริง ๆ แฮะ) โดยคนเยอรมัน (บางคน) ก็ตำหนิว่าอะไรเนี่ย ล้าหลังถึงขนาดไม่รู้จักการใช้ส้วมเลยเหรอ !?
แต่ปัญหาทั้งหมดต้องคลี่คลายลงแบบสร้างสรรค์ เอาใจใส่ และเข้าใจวัฒนธรรมผู้อื่นอย่างมาก เมื่อบริษัทเครื่องสุขถัณฑ์ออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ เราจะหมดปัญหาความแตกต่างในการเข้าส้วมตลอดกาล เพราะเขาออกแบบส้วมที่นั่งยอง ๆ ก็ได้ นั่งราบก็ดีเพื่อรองรับทุกความต้องการอันหลากหลาย
gifsec.com