Minimore Session ครั้งที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการเขียนในแบบ Non-Fiction โดยในครั้งนี้ Speaker ของเราคือ คุณหนุ่ม โตมร สุขปรีชา, คุณนิ้วกลม สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์และคุณแชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล นักเขียนที่เล่าความจริงออกมาได้อ่านสนุกจนหลายคนติดใจ มาดูกันดีกว่าว่าในวันนั้นมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
Fiction VS Non Fiction
- ไม่ว่าจะเป็น Fiction หรือ Non Fiction ก็เป็นการที่นักเขียนอยากถ่ายทอดความจริงในมุมที่นักเขียนเห็นเหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันคือวิธีการถ่ายทอด
- Fiction อาจจะใช้ตัวละครหรือสถานการณ์ที่สร้างขึ้น แต่งเพิ่มเข้าไป ซึ่งต้องอาศัยการตีความหรือมีประสบการณ์ร่วมกับผู้เขียนถึงจะตามทันและเข้าใจทั้งหมด
- Non Fiction จะเป็นการเล่าที่ตรงไปตรงมามากกว่า เหมือนเป็นสารอาหารที่ดูดซึมได้เลย เข้าใจง่าย และไม่มีการแต่งอะไรเพิ่มเข้าไป
- การมีตัวละครหรือสถานการณ์ที่แต่งเพิ่มเข้าไปในเรื่องประเภท Fiction บางทีก็ทำให้ความจริงที่เราอยากจะเล่านั้นชัดเจนกว่า Non Fiction เสียอีก
- สารคดีทุกวันนี้เส้นแบ่งจางมาก เช่น ภาพยนตร์หลายเรื่องก็อาจจะนับว่าเป็นสารคดีได้เลย อย่าง Spotlight ก็เล่ามาจากเรื่องจริง แต่ใช้ภาษาและเทคนิคการเล่าเป็นแบบภาพยนตร์ ดังนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะตีความสารคดีว่าเป็นอย่างไร
- สิ่งที่สำคัญก่อนจะเขียนก็คือเราต้องมีนิยามให้ตัวเองก่อนว่า สำหรับเราสารคดีคืออะไร เพราะนี่จะเป็นขอบเขตในการทำทุกอย่างว่าจะทำแค่ไหน ประเด็นคืออะไร เรื่องไหนเอา เรื่องไหนที่หลุดขอบเขตเราไปแล้ว
การหาข้อมูล
- การหาข้อมูลในการเขียนเป็นเรื่องสำคัญ และการเลือกข้อมูลมาใช้ก็สำคัญ อย่าเสียดายหากจะต้องทิ้งไปบ้าง ถ้ามัวแต่เสียดายเก็บไว้หมดอาจจะทำให้พังทั้งเรื่องเลยก็ได้
- พอเรารู้ว่าเราจะเขียนเรื่องอะไร ให้ทำตัวเหมือนเปิดเสาสัญญาณไว้ บางทีข้อมูลก็จะเข้ามาหาเราเองด้วยซ้ำ และเราก็จะเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องต่างๆ กับเรื่องที่เราต้องการจะเขียนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
- การเปิดเสาสัญญาณอีกวิธีหนึ่งคือการออกเดินทางคนเดียว คนที่เราพบเจอระหว่างทาง หรือสิ่งต่างๆ ที่เราเจอ อาจจะทำให้เราได้เห็นข้อมูลเรื่องนั้นๆ ในอีกมุมที่น่าสนใจเลยก็ได้
- หากเราอยู่กับข้อมูลที่เราหามามากพอ และเราเข้าใจมันจริงๆ มันจะออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ
วิธีการเล่า
- การเล่าเรื่องเดียวกันทำได้หลายมุม จะเล่าให้ง่ายหรือซับซ้อนก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเล่าให้มันง่ายเสมอไป ผู้อ่านหลายคนก็ต้องการความลึกความละเอียดของข้อมูล
- ข้อมูลบางชุดก็ทำให้มันง่ายไม่ได้ เพราะการทำให้ง่ายทำให้ความชัดเจนของข้อมูลลดลง ความรัดกุมก็ลดลงด้วย
- เราไม่สามารถสื่อสารถึงคนได้ทุกกลุ่ม บางครั้งก็ต้องคิดว่าเราอยากคุยกับกลุ่มไหนที่สุด ถ้าเราชัดเจนตรงนี้ได้ก็จะเล่าได้อย่างมีพลัง
- การวางโครงเรื่องก่อนจะช่วยได้มาก จะเปิดเรื่องอย่างไร จบอย่างไร ทิศทางเป็นยังไง ส่วนเรื่องรายละเอียดระหว่างทางให้มันออกมาเอง
- อีกสิ่งที่สำคัญคือประโยคที่เราอยากบอกกับคนอ่าน เราอยากจะสื่ออะไร ซึ่งมันจะเป็นแกนเรื่องของเรา ทำให้เรารู้ว่าเราต้องเล่าอะไร ใส่รายละเอียดตรงไหน
- ถึงจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ถ้ามันหลุดจากสิ่งที่เราอยากจะสื่อ บางครั้งก็ต้องตัดทิ้งเหมือนกัน
ของแถม
- การเขียนที่สนุกและมีความสุขที่สุดคือการได้เล่าในสิ่งที่เราอยากจะเล่าจริงๆ ไม่ว่าจะถ่ายทอดออกมาด้วยรูปแบบไหนก็ตาม
- ถ้าเราชอบและรักอะไรก็ตาม เราจะมีเวลาให้มันเสมอ ถ้าเราคอยแต่บังคับว่าต้องทำให้ได้เท่านั้นเท่านี้ ต้องเขียน ต้องอ่าน มันจะเป็นการกดดันตัวเองจนความสนุกลดน้อยลง
- อย่าดูถูกวิธีการมองโลกของตัวเอง งานเขียนของหลายคนที่เขาซื้อก็เพราะวิธีมองโลกของคนเขียน ถึงแม้ว่าบางเรื่องเราจะมีความเห็นไม่ตรงกับใคร แต่นั่นก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง