Novel On-Screen เก็บตกงานเสวนาไขปริศนา "นิยายแบบไหนถึงจะได้เป็นละคร" ในยุคทีวีดิจิทัล



ทีวีดิจิทัลคืออะไร? ถ้าลงในรายละเอียดหลายคนอาจจะตอบไม่ได้ แต่ที่คนทั่วไปพูดได้คือมีช่องให้ดูเยอะขึ้น! แล้วคนไทยน่ะชอบดูเรื่องบันเทิง ก็แปลว่าในยุคทีวีดิจิทัลก็มีละครให้ดูเยอะขึ้นไง! นับเป็นโอกาสทองของเหล่านักเขียน ที่งานของตัวเองจะถูกซื้อไปทำละคร แต่ทำยังไงงานถึงจะไปเตะตาผู้จัดและช่องได้? อ่านคอนเทนท์รวบรวมไอเดียจากงานเสวนา "นิยายดี พล็อตเด่น สู่ละครดังในยุคทีวีดิจิทัล" จัดโดยสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์กันเถอะ



มินิมอร์ไปงานนี้ด้วยคำชักชวนจากพี่สาวใจดีซึ่งทำงานในสถาพรบุ๊คส์ ว่ามีงานเสวนาน่าสนใจนะ ยิ่งเมื่อดูชื่อวิทยากรในวันนั้น โอ้โห...งานนี้พลาดไม่ได้! ท่านแรกคือ คุณสมรักษ์ ณรงค์วิชัย จากช่อง 3, คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ หรือ ว.วินิจฉัยกุล, คุณนันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ นักเขียนบทละคร และ ผศ.ดร.สรตี ผู้เป็นตัวแทนของนักอ่านทุกท่าน

งานเสวนาจัดขึ้นวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559 ณ ห้อง meeting room 2 ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เนื้อหาการเสวนานั้นยาวเกือบ 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว! มินิมอร์คัดเอาจุดเด่น จุดสำคัญมาให้เพื่อนๆ ได้ลองเอาไปใช้ในงานเขียนของตัวเองกัน!




"การเชื่อมโยงทั้งสองสิ่งเข้าหากันได้ ย่อมเป็นผลดีต่อวงการละคร"


งานเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานของคุณวรพันธ์ โลกิตสถาพร ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ขึ้นมา และมีประเด็นที่น่าสนใจ การอ่านกับการดูเป็นพฤติกรรมที่ต่างกัน แล้วทำอย่างไรเรื่องราวที่เดิมเรารับรู้ด้วยการอ่าน จะทำให้เราเพลิดเพลินได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นการดูแทน



ในช่วงแรกพูดถึง "นิยายดี" น่าสงสัยกันว่านิยายที่ดีนั้นจริงๆ แล้วต้องเป็นอย่างไร มินิมอร์มีไอเดียจากวิทยากรในงานทุกท่านในงานมาบอก แต่จะให้บอกหมดคาดว่าจะต้องอ่านกันไปหลายชั่วโมง งานนี้ต้องเนื้อๆ เน้นๆ! อาจจะสรุปไม่ได้ตรงทุกคำพูด แต่เนื้อหาตามนี้เลย



นิยายดีคืออะไร 

โดยคุณหญิงวินิตา


“เป็นนวนิยายที่มีสัดส่วนของบันเทิงและสาระพร้อมกัน”

คุณหญิงได้เล่าต่ออีกว่า สัดส่วนของบันเทิงและสาระนั้นขึ้นอยู่กับว่านักเขียนจะจัดสรรอย่างไรให้ลงตัว และนักเขียนใหม่บางคนก็มีปัญหาตรงนี้ ซึ่งก็ต้องเรียนรู้กันต่อไป





ท่านเพิ่มเติมว่า อาหารบางอย่างกินแล้วอิ่มท้องแต่ไม่อร่อยเลย อาหารอร่อยบางอย่างก็กินแล้วอ้วนแต่ไม่ให้ประโยชน์ มินิมอร์ว่าเป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพได้ชัดจริงๆ นะเนี่ย




ผู้อ่านในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะมีพฤติกรรมการอ่านต่างกันไป อย่างยุคก่อนหน้าการอ่านคือต้องเปิดหนังสือเท่านี้ ในยุคนี้เปลี่ยนไปเป็นการเปิดมือถือหรือแทบเล็ทแล้วเอานิ้วสไลด์เพื่ออ่านแล้ว มินิมอร์ว่านี่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเลยนะ โดยเฉพาะช่วงหลังมานี้ที่ ebook มาแรงมาก จากประสบการณ์ที่เจอมา ผู้อ่านหลายท่านแม้จะซื้อหนังสือแล้ว แต่พอมี ebook ก็ซื้ออีก เพราะพกติดตัวไปอ่านง่ายกว่านั่นเอง ส่วนที่ยังซื้อแบบเล่มเพราะเป็นคุณค่าทางใจ เยี่ยมเลย :>




มาฟังอ. สรตี เล่าในมุมมองของผู้อ่านบ้าง

“เลือกตามรสนิยม อ่านแล้วอิ่มเอม”

อ. สรตีกล่าวว่านิยายดีคือนิยายที่คนอ่านสามารถอ่านได้รวดเดียวจบ จบแล้วยังมีอะไรค้างอยู่ให้คิดถึง สงสัยว่าตัวละครนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป และหลายครั้งก็อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก อ.ยังยังเสริมอีกว่า ถ้างานของคุณหญิงเป็นอาหาร...คนอ่านก็กินจนอ้วนแล้ว



ก็สอดคล้องกับที่คุณหญิงวินิตาบอกในข้างต้น ว่าอาหารกินอิ่มก็ต้องอร่อยมีคุณค่าด้วยนะ!

“นิยายคือบันเทิงคดี แปลว่าคนอ่านต้องการความบันเทิง”

แน่นอน เป็นนิยายก็ต้องอ่านสนุก แต่จะสนุกแบบคอมิดี้ ดราม่า หรือว่าระทึก นั่นก็แล้วแต่แนวของนิยาย แต่สนุกแล้วยังให้สาระด้วยนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเลยทีเดียว




มาทางคุณสมรักษ์ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่สายละครของช่อง 3 บ้าง

“ยุคดิจิทัล คาแรคเตอร์ของแต่ละช่องนั้นไม่เหมือนกัน”


การรู้คาแรคเตอร์ของแต่ละช่อง จะเพิ่มโอกาสในการเสนองานที่เหมาะกับความต้องการของช่องและผู้จัดนะ


“3HD จะเน้นละครสังคมเมือง ซึ่งต้องการอะไรที่ต่างออกไป”

คุณสมรักษ์ยกตัวอย่างช่องโทรทัศน์ในเครือของช่อง 3 อย่างเช่นช่อง 33 หรือ 3HD นั้น จะเป็นช่องที่เน้นเรื่องราวแนว mass หรือกระแสหลัก ในอนาคตกำลังจะมีละครในช่อง 28 หรือ ช่อง 3SD ซึ่งเป็นแนวตลาดที่คนดูทั่วๆ ไปชอบ ไม่ใช่เฉพาะแต่ในเขตเมือง


“ดูว่าโครงสร้างน่าสนใจ ต่างจากเรื่องก่อนๆ (ที่เคยทำมา) ยังไง หัวใจของเรื่องและ ตัวละครมีมิติไหม แบนไหม”

หลายคนบอกว่านิยายพล็อตซ้ำกันไปซ้ำกันมา แต่ในความซ้ำนั้น...ก็ต้องมีเอกลักษณ์ของตนเองใช่ไหมล่ะ! นี่เป็นการบ้านสำคัญของนักเขียนเลย หัวใจของเรื่องก็คือสิ่งที่นักเขียนต้อการจะส่งสารให้คนอ่านทราบ ถ้ามันชัดก็จะทำให้นิยายไปในทิศทางเดียวกัน และตัวละครก็ต้องมีเหตุผล ที่มาที่ไป ไม่ใช่จู่ๆ อยากทำอะไรก็ทำได้เลยยยย ไม่สมเหตุสมผล แบบนี้ที่คุณสมรักษ์เรียกว่าตัวละครแบนนั่นเอง




ต่อด้วยคุณบ๊วย นันทวรรณ ผู้มีผลงานบทโทรทัศน์ละครดังมากมาย ล่าสุดก็ “ปดิวรัดา” ที่ฮิตขนาดท่านนายกฯ ออกปากแนะนำ


“นิยายมีความบริสุทธิ์กว่าทีวี เพราะมีอิสระที่จะเขียน”



เนื่องจากข้อจำกัดด้านเรทติ้ง ทำให้บางสิ่งบางอย่างไม่สามารถนำเสนอในโทรทัศน์ได้ และผู้เขียนบทโทรทัศน์ก็ต้องปรับให้เหมาะสม นักเขียนนิยายสามารถพูดเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และการเมืองได้อย่างเสรี แต่ละครโทรทัศน์ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ นี่คือข้อจำกัด


“นักเขียนบทโทรทัศน์ต้องปรับบทให้เหมาะกับคนดูหลายช่วงอายุ และแบ็คกราวนด์”
“ต้องแคร์จริยธรรมทางนิเทศศาสตร์ ต้องใส่ใจเรื่องงบประมาณ”

เพราะโทรทัศน์นั้นตั้งอยู่กลางบ้าน ที่มีคนหลากหลายช่วงวัยอยู่ด้วยกัน นักเขียนบทก็เลยต้องคำนึงถึงเรื่องนี้อย่างหนักเลยทีเดียว คุณบ๊วยยกตัวอย่างนิยายเรื่อง “มือปืน” ว่าเป็นนิยายที่สนุก แต่เหมาะเป็นภาพยนตร์มากกว่าละคร เพราะโรงภาพยนตร์นั้นมีการควบคุมและจำกัดช่วงวัยคนดูอย่างชัดเจน การจะทำละครที่เล่าด้วยแก่นของเรื่องว่าการเป็นมือปืนนั้นไม่ดี และต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง กว่าจะถึงบทสรุป เด็กที่วุฒิภาวะยังไม่พร้อมอาจจะทำพฤติกรรมเลียนแบบได้

แถมการทำนิยายให้เป็นบทโทรทัศน์ยังต้องคิดด้วยว่าจะเหมาะกับงบประมาณละครไหมนะ บางเรื่องถ่ายต่างประเทศกว่า 50% บางเรื่องก็เป็นฉากแฟนตาซี คุณสมรักษ์จึงเสริมตรงนี้ และยกตัวอย่างละครเรื่อง “บุรำปรัมปรา” ซึ่งเกี่ยวกับเทพนิยาย ทางช่องอยากจะสร้างมานาน แต่ด้วยข้อจำกัดทาง Computer Graphic ทำให้เพิ่งมาสร้างได้เมื่อไม่นานมานี้นี่เอง




Plot ที่ดีคืออะไร?


คุณหญิงวินิตาได้บอกว่า พล็อตที่ดีต้องร่วมด้วยตัวละครที่น่าสนใจ แล้วอย่างไรล่ะ?

“พล็อตที่ดีต้องชัดเจนว่านำเสนออะไร บอกอะไรคนอ่าน”
“ตัวละครมีชีวิตน่าสนใจยังไง ทำให้คนอ่านสนใจด้วยมั้ย แล้วตัวละครไปกับพล็อตด้วยมั้ย”

พล็อตกับตัวละครนั้นแยกจากกันไม่ได้จริงๆ ตัวละครใช้ชีวิตตามพล็อต ขณะเดียวกันพล็อตก็ไม่เกิดถ้าตัวละครไม่ได้ใช้ชีวิต ทุกอย่างมันต้องสอดคล้องแล้วสนับสนุนซึ่งกันและกันไงล่ะ

“พล็อตต้องแน่น มีที่มาที่ไป ตัวละครไม่ว่าจะเล็กน้อยยังไง ก็ต้องมีที่มาที่ไป จะทำให้พล็อตแน่น”

คุณหญิงยกตัวอย่างเรื่อง “เจ้าบ้านเจ้าเรือน”  ที่กำลังเป็นละครในตอนนี้ ตอนที่อ่านนิยาย กระทั่งดูละคร คนดูมักสงสัยว่าทำไมสีนวลซึ่งเป็นภรรยาของพระเอกถึงยอมไปเสียทุกอย่าง ยอมพ่อแม่ให้พ่อแม่บงการชีวิต สามีร้ายกาจก็ยังยอม ท่านเล่าว่านั่นเพราะพ่อแม่เลี้ยงสีนวลมาอย่างลูกที่อยากจะเอาไว้กับตัวเพื่อปรนนิบัติ เลี้ยงไว้ในกะลาครอบ แต่พอท้ายสุดตนแก่แล้วก็อยากให้ลูกได้แต่งงาน พอเห็นพระเอก (ไรวินทร์) รูปงาม ดูเหมาะสม ก็เลยให้แต่งด้วยโดยไม่ถามความเห็นลูก ลูกก็ยินยอมตามพ่อแม่ ไม่คิดมีปากมีเสียงอะไร กระทั่งโดนสามีทำร้ายจิตใจก็ยังไม่หือไม่อือ นี่คือเหตุผลและที่มาว่าทำไมตัวละครนี้ถึงเป็นเช่นนี้



“อย่าเขียนในสิ่งที่คุณไม่รู้”

เพราะสิ่งที่รู้ เข้าใจ จะทำให้เราใส่ใจกับมัน รวมถึงสามารถเขียนข้อมูลที่ถูกต้องด้วย





คุณบ๊วย นันทวรรณเล่าต่อ และย้ำในสิ่งที่คุณหญิงวินิตากล่าวไว้


“พล็อตและตัวละครเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของบทละคร”


นั่นคือพล็อตจากนิยายยังไงก็เป็นหลักที่สำคัญของการเอาไปดัดแปลงเป็นบทละครอยู่ดี ตัวนิยายเองต้องมีสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่จดจำด้วย คุณบ๊วยยกตัวเอง “คุณชายรณพีร์” ตอนที่ได้อ่านตัวนิยายถึงฉากที่พระเอกซึ่งเป็นนายทหารอากาศ บุกเข้าไปหาผู้หญิงที่ให้เพื่อนต้องเลิกกับคู่หมั้นถึงกลางป่า เขาเจอเธอในฉากที่นางเอกแต่งชุดกินรี ปิดปีก ปิดหาง และโรยตัวลงมาด้วยสลิง แล้วสลิงก็ขาด สอดคล้องกับย่าอ่อน(น้องสาวย่าของบรรดาคุณชายพระเอก) ฝันว่าจะได้หลานสะใภ้เป็นนางฟ้าลอยลงมา นี่ก็เรียกว่าเป็น situation หรือสถานการณ์ที่มีพลังและน่าจดจำ



คุณสมรักษ์ได้พูดเสริม ว่าพล็อตที่ดีนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดในเรื่อง ก็ควรที่จะมีทางแก้ปัญหาอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างเรื่อง “วัยแสบสาแหรกขาด” ซึ่งเป็นละครเกี่ยวกับเด็ก ครอบครัว และเยาวชน ตัวนางเอกเป็นนักจิตวิทยาที่เข้าไปบำบัดเด็ก 5 คน จากครอบครัวที่มีปัญหา แต่ละบ้านมีปัญหาต่างกัน ส่งผลต่อพฤติกรรมเด็ก มีทั้งทำร้ายตัวเอง พูดโกหก ลักขโมย ใช้ความรุนแรง รวมถึงติดโซเชียล(cyber bullying) ซึ่งในบทละครเรื่องนี้ได้เสนอทางแก้เอาไว้ด้วย....มินิมอร์คิดว่าละครเรื่องนี้น่าสนใจไม่ใช่น้อยเลย เห็นท่านนายกฯ แนะนำอยู่เหมือนกันนะ *กระซิบเงียบๆว่าเป็นแฟนละครด้วย*





จนพาร์ทสุดท้าย “นิยายที่ดีในยุคทีวีดิจิทัลเป็นอย่างไร”


คุณหญิงวินิตาได้อธิบายถึงพล็อตที่ไม่จางหายไปจากนิยายไทยว่ามีดังนี้ และถ้าเป็นไปได้ เลี่ยงเถอะลูก! 




Romeo & Juliet 

จังหวะที่ท่านพูดว่า "ลงเอยที่รักกัน" *ฮาครืนกันทั้งหมด* จริงๆ เออ...แค้นไปรักไปจริงๆ ด้วยเนาะ




เมียหลวง vs เมียน้อย

ท่านเสริมว่าผู้หญิงแทบจะฆ่ากันตาย ผู้ชายลอยตัวตลอด! *คนในห้องทั้งขำและปรบมือดังมาก*





ปลอมตัว 

คนในห้องประชุมหัวเราะกันหนักอีกแล้ว เพราะนี่มันพิมพ์นิยมละครจริงๆ ยังมีหญิงสาวที่ปลอมตัวเข้าบ้านชายหนุ่มร่ำรวยอีกนะ บ้านไม่รวยไม่ไป บ้านชนชั้นกลางมีแค่สองสามห้องนี่อย่าหวัง แถมจะปลอมตัวไปต้องจบตรีจบโทมาแล้วด้วย! 





ทายาท 

*การหัวเราะต่อเนื่องนั้นเหนื่อยมาก* พล็อตนี้มีตั้งแต่หนังจีนกำลังภายในยันละครไทยเลย คุณบ๊วยเสริมว่าเวลาเจอพล็อตแบบนี้คนเขียนบทกุมขมับเลย หามุกเขียนขยายยากมาก คิดดูว่าเขียนมา 20 ปี เจอกี่เรื่อง



คุณสมรักษ์เห็นด้วย และสนับสนุนคำพูดของคุณหญิงวินิตา



ที่คุณสมรักษ์กล่าวมานั้นถือว่าสำคัญมากเลยทีเดียว ตอนนี้ช่องทีวีดิจิทัลเยอะมาก บางช่องทำแนวละครแซบๆ บางช่องเน้นสร้างสรรค์สังคม บางช่องก็เป็นละครวัยรุ่น มินิมอร์ว่าเราควรเลือกเสนองานของเราให้เหมาะสมกับแนวทางของช่องด้วย

มินิมอร์ขอเสริมเล็กน้อย ว่าคำแนะนำนี้มีประโยชน์อย่างไร การที่คาแรคเตอร์ช่องไม่เหมือนกันนี้ สร้างโอกาสให้นักเขียนในหลายๆ แนวได้มีโอกาสต่อยอดงานตัวเองมากขึ้น จากเดิมต้องเป็นละครชิงเกี่ยวกับความรักของวัยทำงานเท่านั้นถึงจะมีโอกาสโลดแล่นในโทรทัศน์ ทว่าในตอนนี้เราได้เห็นนิยายหลากหลายกลายเป็นละคร ตัวอย่างเช่น นิยายชวนระทึก สยองขวัญ เรื่อง "นางชฎา" ของ "ภาคินัย" ซึ่งได้ทำเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง 7, "ปริศนา เดอะ ซีรีส์" นิยายอมตะของ "ว. ณ ประมวลมารค" อันประกอบด้วย "ปริศนา - เจ้าสาวของอานนท์ - และรัตนาวดี" ก็ได้เป็นละครต่อเนื่องกันที่ช่อง pptv, ช่อง ONE HD เองก็หยิบเอาหนังสือจากเพจฮิตอย่าง "บันทึกของตุ๊ด" มาสร้างเป็น "ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์" และร่วมมือกับสำนักพิมพ์แจ่มใส่ นำนิยายวัยรุ่นหลายชุดจาก JLS หรือ Jamsai Love Series มาทำเป็นละครวัยรุ่น 

เห็นไหมว่าทีวีดิจิทัลคือโอกาสของนักเขียนจริงๆ นะ :>



คุณบ๊วยเองก็พูดคีย์เวิร์ดสำคัญหลายเรื่องเลย

“Content is the King”

“ละครไม่ได้ชอบให้หนังสือมาตาม เขียนนำได้ทำไปเลย”

คุณสมรักษ์เสริมว่าบางทีพอละครแบบนี้ฮิต ก็เฮโลกันเขียนตามกันมา ซึ่งช่องก็ไม่หยิบมาทำนะ และอีกเรื่องที่สำคัญมาก คุณบ๊วยบอกว่าอย่างปดิวรัดาเองก็เข้าข่ายพล็อตโหลข้างต้นเยอะมาก แต่มันมีรายละเอียดที่ทำให้รู้สึกว่าน่าทำ


“ไม่ว่าจะเขียนเรื่องในอดีต หรือออกไปนอกจักรวาล สิ่งที่คนเขียนบทดดูคือความเป็นมนุษย์”

คุณบ๊วยอธิบายต่อว่าเพราะมนุษย์นั้นมีชีวิตจิตใจ มีรายละเอียดของชีวิตแตกต่างกัน พล็อตคล้ายกันก็จริง แต่ย่อมมีเสน่ห์ต่างกัน นี่คือเรื่องที่นักเขียนต้องใส่ใจให้มากเลยล่ะ




อ.สรตี กล่าวปิดท้ายในประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ ว่าในตอนนี้คนเราก็มีพื้นที่ให้เขียนและอ่านมากมาย  นิยาย ละครก็คือการรับข่าวสารอย่างหนึ่ง


“เป็นประสบการณ์จำลองของคนรับสาร”
“เป็นอาวุธอย่างหนึ่ง ที่จะติดไปกับชีวิตให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น”




แถมท้ายด้วยมุกที่พาทั้งห้องหัวเราะของคุณหญิงวินิตา ว่าด้วย “คุณชาย”

ท่านเล่าถึงนิยายที่มีพระเอกเป็นหม่อมราชวงศ์...ใส่สูท
อยู่ในวังใหญ่ ปูหินอ่อน หน้าบ้านจอดโรลสรอยซ์
ทุกเรื่องเป็นอย่างนี้หมด



มินิมอร์สนับสนุนให้ทุกคนเขียนแบบใส่ใจข้อเท็จจริงของยุคสมัยนะ!



ท้ายงานมีคนส่งคำถามไว้ว่า "ทำอย่างไรถึงจะเป็นนักเขียนได้" คุณหญิงวินิตา ได้ตอบอย่างหนักแน่นว่า "ลูกไม่ต้องมาถาม กลับไปก็เขียนเลย"

ปะ! เริ่มเขียนกันเถอะ




เอื้อเฟื้อภาพถ่ายวิทยากรโดย สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ 
เยี่ยมชมผลงานของสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ และสำนักพิมพ์ในเครือได้ที่ลิงก์ข้างล่างเลย



นักเขียนนิยายก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน แต่ในความฝันนั้นก็ต้องคำนึงถึงโลกความจริงด้วย ต้องขอบคุณทางสถาพรบุ๊คส์ ที่จัดงานนี้ให้นักเขียนและนักอ่านได้ตักตวงความรู้ และอย่างที่คุณหญิงวินิตาท่านได้กล่าวเอาไว้ในงาน “อาชีพนี้นี่ไม่มีหลักประกันว่าความสำเร็จ ความล้มเหลว มันอยู่ตรงไหน” สิ่งที่มินิมอร์คิดว่านักเขียนทุกคนสามารถทำได้ก็คือตั้งใจเขียน ลุยเต็มที่ด้วยความใส่ใจ แล้วผลของการทำงานหนักนั้นจะทำให้เราหายเหนื่อยเลยล่ะ!