ถ้าได้ดูคลิปนี้แล้วคุณจะอึ้ง...และแล้วใครหลายคนก็ต้องอึ้งไปตามๆกัน เมื่อได้ดูคลิป 'เหตุผลที่รถไฟใต้ดินตรวจกระเป๋าไว' คลิปสุดกวน (อวัยวะเบื้องล่าง) ที่ตั้งคำถามแบบเสียดสีปนฮาถึงมาตรฐานการตรวจสอบความปลอดภัยของรถไฟฟ้าใต้ดินพร้อมใส่สตอรี่ลงไปว่า จริงๆแล้วผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลที่ทำให้พนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจกระเป๋าของผู้โดยสายได้รวดเร็วราวมีพลังวิเศษนั่นก็คือ 'ป้าไสว' อดีตเจ้าหน้าที่ CIA มือหนึ่งผู้มีความฝันอยากกลับมาพัฒนาให้รถไฟฟ้าใต้ดินไทยมีความปลอดภัยที่สุดในโลกด้วยการใช้วิชาความรู้ของ CIA มาฝึกฝนพนักงาน
แน่นอนนั่นไม่ใช่เรื่องจริง มันคือคลิปไวรัลที่การตลาดยุคใหม่ชื่นชอบเหลือเกินในทุกวันนี้ แต่ด้วยกระแสตอบรับที่ดีคลิปนี้ ก็ได้ทำให้ชื่อของ'ป้าไสว'อยู่ในความสนใจของชาวเน็ตได้ไม่ยาก
แล้วจริงๆป้าไสวคือใคร... ทำไมถึงเล่นได้สมบทบาทขนาดนั้น
หากถอดภาพอดีต CIA ออกไป ป้าไสวในชีวิตจริงก็มีชื่อเรียกเป็นของตัวเองว่าป้า แหม่ม—กรุณา ลูกตุ้มทอง สาวใหญ่วัยเกษียณที่ด้วยช่วงวัยเช่นนี้เธอก็น่าจะนั่งเล่นนอนเล่นอยู่บ้านได้อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องพาตัวเองไปออกกองถ่ายที่ใช้เวลาถ่ายทำแต่ละวันยาวนานหลายชั่วโมง
แต่เธอบอกว่านั่นคือความฝันความฝันที่เพิ่งก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างเมื่อชีวิตล่วงเลยหลักกิโลเมตรที่50 มาแล้ว
“ตอนสาวๆเราก็อยากเล่น อยากแสดงนะ แต่อะไรหลายอย่างมันไม่เอื้ออำนวย”
...มีคำพูดเล่นๆ ในหมู่คนหนุ่มสาวที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า หากอยากกลายเป็นตำนานก็จงตายตั้งแต่อายุ 27 ปี—ตายและเป็นอมตะอยู่ในความทรงจำของผู้คนเหมือนกับตำนานระดับโลกผู้จากไปในวัย 27 อย่าง Jimi Hendrix, Kurt Cobain หรือ Amy Winehouse
แต่คำพูดนี้ก็ดูเหมือนจะถูกจำกัดอยู่แค่คนที่ประสบสำเร็จถึงขีดสุดตั้งแต่วัยเยาว์เท่านั้น ส่วนกับคนธรรมดาโลกไม่จำอย่างเราๆ ถึงจะรีบด่วนตายจากไป นอกจากน้ำตาของคนใกล้ชิดที่สักวันหนึ่งก็ต้องเหือดหาย หลังเขม่าควันในเชิงตะกอนมอดดับ ชื่อเสียงเรียงนามที่เราหวังให้มันกลายเป็นตำนาน ก็คงถูกโลกลืมเลือนไปในระยะเวลาอันสั้น
ใช่แหละว่าใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง แต่กับเรื่องความฝันคงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวใดๆมาบังคับได้ว่า ห้ามทำมันหลังเลยวัย 27 ปีมาแล้ว
ไม่มีอะไรสายเกินไป ไม่ว่าใบหน้าจะเหี่ยว ย่นริ้วรอยตีนกาจะขึ้น เรี่ยวแรงจะถดถอย อย่างที่ป้าไสว...เอ้ย! อย่างที่ป้าแหม่มเชื่อเสมอ จนกลายมาเป็นนักแสดงที่ได้ไปโผล่ในพื้นที่ของสื่อแทบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา คลิปไวรัล ภาพยนตร์อินดี้ระดับรางวัล หน้าปกนิตยสาร หรือแม้กระทั่งก้าวไปทำอีกหนึ่งความฝันที่ฝังใจมานานนับ 40 ปี ด้วยการพาตัวเองไปดิ่งพสุธา กระโดดร่มลงมาจากเวหา ในตอนที่อายุเลย60 ปีมาแล้ว โดยยืนยันกับเราว่าใช้ชีวิตมาถึงขั้นนี้ “ป้าก็ไม่กลัวตายแล้วล่ะ”
ป้ารู้ตัวหรือเปล่าว่าตัวเองดังแล้ว
ป้าไม่ได้คิดว่าป้าดังนะ ป้าแค่คิดว่าป้าได้ทำงานที่ตัวเองชอบคิดแค่นั้นเอง
ตอนนี้คนในอินเทอร์เน็ตจะรู้จักป้าจากบท CIA ในคลิป 'เหตุผลที่รถไฟใต้ดินตรวจกระเป๋าไว'แต่จริงๆ แล้วในชีวิตจริงป้าคือใคร
ป้าชื่อป้าแหม่มนะคะ เป็นคนอีสาน เป็นคนหนองคาย ย้ายเข้ามากรุงเทพฯ ตอน พ.ศ.2516 ตอนนั้นย้ายตามสามีเข้ามา แล้วก่อนที่จะมาเป็นนักแสดงอย่างตอนนี้ ตอนสาวๆ ก็เลี้ยงลูก ทำมาหากินอย่างเดียว ทำงานไปรษณีย์อยู่พักหนึ่ง พอไม่ชอบก็เปลี่ยน ทำนู่นทำนี่มาเรื่อย คือป้าจะเป็นคนไม่ยึดติด ทำอะไรก็ได้ ขอแค่ให้เราชอบ
มาเป็นนักแสดงได้อย่างไร
เริ่มแรกเลยคือตอนพ.ศ. 2530 ภัทราวดีเธียเตอร์เขาเปิดแคสติ้ง ตอนนั้นเราก็อายุเลยสามสิบมาแล้วนะ แต่ความที่เรียนนาฏศิลป์เรียนขับร้องมา ก็เลยอยากแสดง เราเลยลองไปสมัครดู พอไปเขาก็จับเราแสดง สมมติให้เป็นคนที่ติดอยู่บนภูเขา3 วัน หิวก็หิวกลัวก็กลัว แล้วมองเห็นเรือไกลๆ ป้าก็แสดงไป ใช้จินตนาการของตัวเอง แล้วก็มีให้เล่นเป็นคนใบ้อะไรประมาณนี้ ป้าก็ไม่คิดว่าป้าจะผ่านหรอก แค่อยากลองดู เพราะคนที่มาแคสกับเราก็มีแต่เด็กๆ อายุสิบเจ็ดสิบแปดทั้งนั้น แต่พอแคสต์เสร็จสมัยก่อนมันยังไม่มีโทรศัพท์มือถือใช่ไหม ก็จะมีไปรษณียบัตรมาแจ้งว่าคุณได้ผ่านการคัดเลือก ตอนนั้นดีใจมาก หลังจากนั้นก็ไปซื้อชุดวอร์มเสร็จสรรพ เพื่อที่จะไปเรียนการแสดงจริงจังแต่ยังไม่ทันได้ไป แฟนป้าก็มาด่วนจากไปเสียก่อน พอสามีเสียเราก็เหลือลูกเล็กอยู่สองคนเลยไม่ได้สนใจอะไร ทำงานหาเงินส่งลูกเรียนหามรุ่งหามค่ำอย่างเดียว ทำทุกอย่าง จนลูกเรียนจบออกมาทำงาน ตอนนั้น พ.ศ.2546 ป้าก็มาขายส้มตำอยู่แถวรัชดา ในช่วงขายส้มตำ นั่งว่างๆ เปิดอ่านนิตยสารทีวีพูลเล่นๆ แล้วเจอเขาเปิดรับนักแสดง รับคนอายุ 45-60 ปี ตอนนั้นเราอายุ 50 แล้ว ก็คิดว่าน่าจะลองอีกสักครั้ง ครั้งแรกที่ไปแคสต์เลยคือหนังของ เจ้ย—อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แต่ก็ไม่ได้หรอก หลังจากนั้นก็ไปแคสต์อยู่อีกประมาณสองปีถึงจะได้ เรื่องแรกที่ได้เล่นก็หนังของเจ้ย หลังจากนั้นก็มี ใหม่—อโนชา สุวิชากรพงศ์ โทรมาหาให้ไปช่วยเล่น เจ้านกกระจอก (2009) หลังจากนั้นก็เป็นของ จุ๊ก—อาทิตย์ อัสสรัตน์ เล่นมาเรื่อยๆ ไปช่วยเล่นหนังให้นักศึกษา ได้ไปเล่นโฆษณาต่างๆ เช่นอาวุโสโอเคของ AIA แล้วล่าสุดคือเป็น CIA นี่แหละ
ทุกวันนี้ป้าเป็นนักแสดงอาชีพเลยหรือเปล่า
หลักๆ คือได้เงินเดือนในตำแหน่งแม่มากกว่า (หัวเราะ) แต่ที่มาเป็นนักแสดงเพราะป้าเรียนนาฏศิลป์มาไง อยากเป็นนักร้องด้วย แล้วพอตอนแก่ก็ได้ร้องสมใจแล้ว เคยไปร้องที่บ้านพิษณุโลก (บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย) มาด้วยนะ เราอายุ 64 แล้ว ป้าแค่คิดว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด คืออยากทำอะไร ถ้ามีโอกาสก็จะทำ
ไม่กลัวญาติพี่น้องจะมองไม่ดีเหรอครับ อายุก็เยอะแล้ว ยังมาเล่นบทเพี้ยนๆ หรือเคยทำอะไรเสี่ยงๆ อย่างกระโดดร่มมาแล้วด้วย
เป็นคนบ้าป้าก็เล่นมาแล้วนะ เขาไม่ได้บอกเราล่วงหน้าด้วย มาบอกหน้างานเลย (หัวเราะ) ก็มีญาติไม่เข้าใจบ้างเหมือนกัน ป้าเคยไปเล่นเอ็มวีรับบทเป็นคนเข็นขยะไปขาย พอเขาเห็นเราเข็นขยะในทีวี พี่สาวน้องสาวร้องไห้เลย (หัวเราะ) เขาบอกเขารับไม่ได้ แต่การแสดงก็คือการแสดงน่ะ ชีวิตจริงไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ป้าก็บอกเขาว่าจะไปซีเรียสอะไร
ส่วนลูกตอนแรกๆ เขาก็ห้ามเพราะไม่อยากให้เราเหนื่อย เรื่องของเรื่องคือครั้งแรกๆ ไปถ่ายโฆษณาถึงตีสาม เขาก็โกรธ แต่เขาไม่กล้าพูดหรอก เพราะเขาคงรู้นิสัยเรา เขาก็ได้แค่พูดว่า ถ้าอยากเล่นนักเงินเดือนไม่ต้องเอา ป้าก็ตอบว่าถ้าไม่ให้ ก็ไม่เอา (หัวเราะ) ตอนหลังๆ เขาก็เริ่มเข้าใจ แต่ก็จะมีบางครั้ง อย่างตอนไปกระโดดร่มในรายการ The Expert ปรากฏการณ์ปลุกฝัน เราก็ยอมรับว่า มีลืมๆ ไปเหมือนกันว่า หัวอกพี่น้องลูกหลานเขาจะคิดอย่างไร ลืมไปเพราะมันเป็นสิ่งที่เราอยากทำ เอาแต่ใจตัวเอง เพราะเรื่องกระโดดร่มมันฝังใจป้า มันถึงได้กล้าบ้าระห่ำไปขนาดนั้น ยิ่งพอตรวจสุขภาพร่างกายผ่าน โอ้โห มันเหมือนเราถูกหวยรางวัลที่หนึ่งเลยนะ ทีนี้ไม่สนใจแล้ว จะตายก็ตายไปเถอะ ตอนนั้น 62 แล้ว ก็ยังสู้
"คุยกับเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน พิมพ์คุยกันแบบภาษาวัยรุ่น—กินข้าวยาง กินแย้ว อะไรแบบนี้ก็ว่ากันไป กระเซ้าเย้าแหย่กัน เพราะเราไม่อยากแก่ไปตามวัย คือกับเพื่อน ถึงเราจะอายุขนาดนี้ เวลาเจอกันก็ยังเหมือนเป็นเด็กกันอยู่นะ"
ทำไมเรื่องกระโดดร่มถึงฝังใจขนาดนั้น
มันค้างคาในหัวใจมาเกือบ 40 กว่าปีไง ตอนนั้นป้ามีพี่ชายเป็นตำรวจพลร่ม พอป้าจบ ม.ศ.3 ก็ไปขอพ่อบอกว่าอยากเป็นตำรวจพลร่มด้วย พ่อเขาก็บอกว่า เราเป็นผู้หญิง ไม่ให้ไป แต่สุดท้ายก็ไปสอบข้อเขียนที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย จำชื่อได้ขึ้นใจ ผ่านไปสอบเรื่องสุขภาพที่โรงเรียนนายเรือ เมื่อก่อนนั่งรถเมล์ผ่านโรงเรียนนายเรือ นี่ต้องหยิกขาตัวเองนะ น้ำตามันพานจะไหล ทีนี้เหลือแค่สอบสัมภาษณ์ วันที่ 10 เมษายน จำได้ขึ้นใจเลย แต่พอวันที่ 7-8 มีโทรเลขมาแจ้งว่าพ่อป่วยหนัก สุดท้ายพ่อก็เสีย พอพ่อเสียแม่ก็เสียต่อ ตรอมใจตายไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เราเหลือน้องๆ อีกสี่คน สุดท้ายก็ต้องกลับมาทำงานดูแลน้องๆ น้องคนเล็กเพิ่งอายุ 8 ขวบเอง เราก็กลับมาทำร้านกาแฟของพ่อต่อ ตอนนั้นถึงเราจะโตมากับร้านกาแฟ แต่เราก็ไม่เคยชงหรอก ก็ชงผิดชงถูก ร้านพ่ออยู่ข้างๆ ศาลากลางจังหวัด ลูกค้ามีตั้งแต่ภารโรงยันผู้ว่าราชการจังหวัด เขาก็ไม่ว่าอะไรนะ เขาเข้าใจเรา
คนรุ่นราวคราวเดียวกับป้าเดี๋ยวนี้หันมาใช้เทคโนโลยีอย่างไลน์หรือเฟซบุ๊กกันเยอะ ป้าเล่นกับเขาด้วยไหม
เล่นไลน์นะ แต่ก็ยังไม่เก่งหรอก ตอนแรกไม่เล่นเลย ลูกซื้อให้ แต่พอมาทำงานแบบนี้ ก็ต้องเล่น บางทีฝ่ายแคสติ้งเขาบอกให้เราส่งรูปให้หน่อย เราก็ทำไม่ค่อยเป็น ต้องนั่งรถไปที่ทำงานลูกแถวสีลม ไปให้ลูกสาวทำให้ (หัวเราะ) แต่หลังๆ ก็เลยต้องหัดเล่น ไม่อยากให้เขาเดือดร้อน ให้หลานเพื่อน อายุแค่ 9 ขวบเองนะสอน บางทีก็ให้หลานคนนั้นคนนี้สอน ให้หลานสะใภ้สอน บางทีก็หลานสาว ตอนนี้คือ ไลน์มาไลน์ตอบได้ ถ่ายรูปจัดเก็บได้ ส่งรูปได้ คุยกับญาติพี่น้อง เขานั่งนินทาเรา เขาก็ไลน์มาบอก แล้วก็ได้คุยกับเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน พิมพ์คุยกันแบบภาษาวัยรุ่น—กินข้าวยาง กินแย้ว อะไรแบบนี้ก็ว่ากันไป กระเซ้าเย้าแหย่กัน เพราะเราไม่อยากแก่ไปตามวัย คือกับเพื่อน ถึงเราจะอายุขนาดนี้ เวลาเจอกันก็ยังเหมือนเป็นเด็กกันอยู่นะ มานั่งคุยกันเหมือนสมัยเรายังผูกคอซอง แต่ขอโทษเถอะ นั่งไป พอหันไปมอง ไอ้นี่ก็หัวล้าน ไอ้นี่ก็ฟันหลอ (หัวเราะ)
เทคโนโลยีพวกนี้มันทำให้ป้าได้ใกล้ชิดกับลูกหลานมากขึ้นด้วยหรือเปล่า
ใช่ๆ เหมือนเวลาเจอกัน ให้เขาสอนเรากด เราก็ได้มองเห็นหน้ากัน แล้วป้ามีลูกอีกคนใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย เปิดบริษัทเกี่ยวกับส่งเด็กนักเรียนไปเรียนที่นู่น อยู่กับป้าและลุงของเขา คนโตอยู่ที่ไทย คนเล็กอยู่เมืองนอก ไปอยู่เป็น 10 ปีแล้ว ตอนเขาอยู่ใหม่ๆ เมื่อก่อนไม่มีอะไรพวกนี้ เราก็ต้องติดต่อกันผ่านจดหมาย กว่าจะได้คุยกันแต่ละที เมื่อก่อนมีแค่โทรศัพท์บ้าน แล้วบางทีพอเราออกจากบ้าน ลูกโทร.มา ก็ไม่ได้คุยกัน แต่พอมันมีตัวนี้ยิ่งสะดวกใหญ่เลย อย่างวันนี้กินข้าวกับอะไร ตำส้มตำก็ถ่ายโชว์เลย
เวลาคุยกับลูกด้วยช่วงวัยที่แตกต่างกันมีทะเลาะกันบ้างไหม
ไม่นะ ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ใกล้ชิดเราจริง เขาคงคิดว่ามันจะใช่เหรอ เป็นแม่ลูกไม่เคยด่ากัน แต่ป้าไม่เคย คืออย่างเด็กๆ มันก็มีซนอยู่แล้วแหละ แต่ป้าจะมีวิธีสอน แล้วจะไม่สอนต่อหน้าคนอื่น แต่จะยกตัวอย่างให้ฟัง ไม่ด่านะ แค่ยกตัวอย่างให้ฟังว่าแบบไหนไม่ดี แบบไหนควร ไม่ควร เราต้องทำให้เขามียางอายตลอด คือตอนพ่อเขาเสีย ลูกอยู่ ม.2 กับ ม.3 เราก็ไม่ได้ร่ำรวย แต่จะพยายามใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
แล้วเราจะทำความเข้าใจคนที่อายุแตกต่างจากเรามากๆ ได้อย่างไร
อย่างว่าแหละมันคนละยุค ป้าก็คงเครียดนะถ้าให้มาเลี้ยงลูกในยุคนี้ แต่ป้าคิดว่า ถ้าเป็นแบบนั้น เราก็คงต้องรับให้ได้ ไหลตามเขาไป ต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละยุคมันแตกต่างกัน
พอใช้ชีวิตมาถึงอายุ 64 ปีแล้ว ตอนนี้ป้ามีความทุกข์ใจอะไรบ้าง
ก็คงเหมือนคนมีอายุส่วนใหญ่ สิ่งที่เรากังวลก็คือคนรอบข้าง อย่างเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันก็ตายไปเยอะแล้ว บางครั้งด้วยอายุตัวเองเราก็คิดเหมือนกันว่าเราจะไปวันไหน เวลารวมรุ่น ร้องเพลงเฮฮากัน พอเห็นเพื่อนสนุกมากๆ ก็จะเริ่มใจเสีย กลัวมันจะไปก่อน เดี๋ยวนี้เซนซิทีฟมาก เวลามีบทดราม่านี่ไม่ต้องใช้น้ำตาเทียมเลย แต่บางทีก็ต้องเตือนตัวเองว่า อย่าไปคิดถึงมันเลย มันยังมาไม่ถึง สิ่งที่เราทำได้คือ ทำตัวให้มีความสุขที่สุด อันไหนทำได้ทำ อันไหนแบ่งปันได้แบ่ง อันไหนให้ได้ให้
"ก็ฉันเคยสวยมาแล้ว เคยขาวมาแล้ว ใครมาบอกว่าหนังเหี่ยวก็ช่าง ตอนนี้มีความสุขกับปัจจุบันมากกว่า"
กลัวตายไหม
ไม่ ความตายมันคือสิ่งที่เราต้องเจออยู่แล้ว แต่สิ่งที่กลัวคือเวลาเราเจ็บป่วยแล้วกลายเป็นภาระลูกหลาน แค่นั้นเอง คือเราก็เห็นมาเยอะ บางคนนอนอยู่บนเตียงเป็นสิบปีกว่าจะไป แล้วถ้าเป็นแบบนั้นคนที่ดูแลนั่นแหละจะไปก่อน แต่ถ้าเรื่องความตาย ไม่กลัวหรอก ไม่งั้นป้าจะไปกระโดดร่มเหรอ ตายก็ตายไปเลย อย่างไปเที่ยวแม่ฮ่องสอน 1,844 โค้ง ไปมาแล้วตั้งสองครั้งสามครั้ง มีคนถามไม่กลัวตกเหวเหรอ ก็บอกไม่กลัว
แล้วอย่างสมัยสาวๆ ป้ากลัวแก่ กลัวหนังเหี่ยว กลัวมีตีนกาบ้างหรือเปล่า
ไม่เลย ก็ฉันเคยสวยมาแล้ว เคยขาวมาแล้ว ใครมาบอกว่าหนังเหี่ยวก็ช่าง ตอนนี้มีความสุขกับปัจจุบันมากกว่า แต่ก็มีบ้างนะ เวลานั่งคุยกับเพื่อน ก็นึกย้อนถึงสมัยสาวๆ เหมือนกัน นึกย้อนถึงความทรงจำดีๆ บ้างครั้งนึกถึงแล้วก็นั่งยิ้มอยู่คนเดียว แต่ยิ่งเรามีประสบการณ์มากๆ อายุเยอะๆ ถ้าเรามัวแต่คิดถึงอดีต เราจะยิ่งไม่สามารถดึงตัวเองกลับมาได้ เพราะฉะนั้นป้าจะไม่อยู่กับอะไรพวกนี้นานๆ พยายามพาตัวเองออกไปข้างนอก คือถ้าถามว่า ตอนนี้เราแก่ไหม มันก็คงแก่ แต่มันก็แก่แค่ภายนอก แต่ภายในนี่ไม่ใช่ บางทีไปงานของเพื่อนๆ เขาแห่ขบวนกลองยาว ป้าก็จะกระโดดไปเต้นกับเขาเลย (หัวเราะ)
ตอนสาวๆ กับตอนนี้ที่ 64 ปีแล้ว ชีวิตแตกต่างไปจากตอนนั้นอย่างไร
ตอน 64 ปีมันสบายเกินไป เพราะเราไม่มีหลานให้ต้องเลี้ยง พอนั่งสบายเกิน ก็จะมานั่งคิดว่า ชีวิตมันแค่นี้เองเหรอ เมื่อก่อนตื่นมาก็ต้องทำงาน หาเงินมาให้ลูก คือถามว่าตอนนั้นเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะ ลำบาก แต่มีความสุข ตอนนี้เลยดีหน่อย ที่ป้าได้มาทำงานแสดง มันเลยทำให้เราไม่เบื่อ
ทำไมป้าถึงชอบงานแสดง
คำเดียวเลยคือรัก ชอบทุกอย่าง งานแบบนี้ถ้าไม่รักทำไม่ได้นะ เพราะเราต้องไปนั่งรอ ไปถ่ายโฆษณา ไปถึงเช้า รอจนถึงบ่ายสามโมงก็มี ตื่นไปถ่ายตีสามก็มี ถ้าไม่ชอบคงอดทนไม่ได้ แล้วอะไรที่เราชอบ เราจะทำมันได้ดี
ไม่ว่าใครก็ต้องแก่ ในช่วงวัยแบบป้า เราจะใช้ชีวิตให้มีความสุขได้อย่างไร
เดินทางสายกลาง ไม่ตำหนิใคร ไม่ว่าใคร ทำความเข้าใจว่าโลกก็เป็นเช่นนั้น การมองโลกในแง่ดีไม่ใช่เรื่องเลวร้ายนะ แล้วก็ทำอะไรที่อยากทำ อย่างเพื่อนป้าบางคนก็เล่นไพ่ คือป้าก็ไม่ชอบการพนันหรอก แต่ป้าก็จะไม่ไปว่าเขา เพราะว่าความสุขของคนเรามันคนละอย่างกัน ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะแยะ เงินไม่ใช่ความสุข ป้าไม่เคยอธิฐานขอให้ตัวเองรวยเลยนะ
ทุกวันนี้ซื้อหวยบ้างไหมครับ
ถ้าลอตเตอรี่ก็มีบ้าง (หัวเราะ)
จากคอลัมน์ Face—giraffe Magazine 28—Elder Issue