นับตั้งแต่สังคมไทยในอดีตที่ยังเข้มข้นด้วยความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา
จึงทำให้เกิดข้อสรุปว่าผู้ที่มีอาการทางจิต
หรือมีลักษณะอาการผิดแปลกไปจากคนปกตินั้น ถูก ‘ผีเข้า’
เมื่อเข้าใจไปว่าความผิดปกตินั้นเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ
จึงแก้ไขด้วยการพาไปให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์ ดูเจ้าเข้าทรง
หรือหากทำมาทั้งหมดแล้วยังไม่หายก็เหลือวิธีสุดท้ายคือกักขังไว้ในบ้าน ปล่อยให้
‘ผีบ้า’
ในสายตาของสังคมกลายเป็นโครงกระดูกในตู้ที่ใส่กลอนปิดตายไว้จนกว่าจะถึงเวลาจากโลกนี้ไป
จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 สังคมไทยได้ทำความรู้จักกับการแพทย์แผนปัจจุบัน
อาการทางจิตจึงค่อยๆ ถูกมองว่าเป็นโรคที่ต้องรักษา
แต่ด้วยความเข้าใจด้านจิตเวชที่ยังไม่แพร่หลายทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นสถานที่คุมขังผู้ป่วยมากกว่าสถานที่บำบัด
ความน่าสนใจคือแม้จะเป็นช่วงเวลาร้อยกว่าปีก่อนก็มีผู้ป่วยเข้ามาขอรับการรักษาจำนวนมากจนต้องแยกออกมาเป็น
‘โรงพยาบาลคนเสียจริต’ หรือที่เรามักเรียกกันว่า ‘หลังคาแดง’
ซึ่งต่อมาถูกสร้างภาพลักษณ์ให้น่ากลัวเกินจริงไปมาก
จนทำให้ผู้ที่มีอาการทางจิตไม่อยากไปหาหมอเพราะกลัวถูกชาวบ้านหาว่าเป็นบ้า
คนในครอบครัวก็ไม่กล้าส่งลูกหลานเข้าไปบำบัดอาการ เพราะมองว่าโรคทางจิตนั้นน่าอับอาย
เพราะฉะนั้นชนชั้นนำจึงเลือกที่จะปกปิดความเจ็บป่วยไว้
ส่วนชนชั้นแรงงานก็อาจไม่มีเวลาหรือทุนทรัพย์มากพอที่จะเข้ารับการรักษา
โชคดีที่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ คนในสังคมก็เริ่มเข้าใจโรคทางจิตมากขึ้นเรื่อยๆ
รวมถึงภาครัฐที่มีนโยบายให้ความช่วยเหลือเยียวยาไม่ต่างจากโรคทางกาย
เห็นได้จากสำนักงานประกันสังคมที่เพิ่งขยายความคุ้มครองสิทธิด้านการรักษารักษาพยาบาลแบบไม่จำกัดเงื่อนไขสำหรับผู้ป่วยจิตเวช
ไปเมื่อปี 2554
ปัจจุบันในโรงพยาบาลรัฐทั่วไป มีจิตแพทย์คอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยจิตเวชอยู่แทบทุกแห่งในกรุงเทพฯ โดยจิตแพทย์จะประจำอยู่ในแผนกอายุรกรรมอย่างเงียบๆ เป็นที่รู้กันเองในหมู่ผู้ป่วยด้วยกัน แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีผู้ป่วยอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลของจิตแพทย์ เนื่องจากสังคมยังมองว่าอาการซึมเศร้า ภาวะเจ็บป่วยทางใจนั้นเกิดขึ้นในสังคมเมืองมากกว่าในชนบท ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไรก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ไม่ต่างกัน
จากคอลัมน์ Core : giraffe Magazine 30 — Depression Issue
ติดตามอ่านฉบับเต็มได้ที่ giraffe