เศร้าอยู่ได้! อยู่ให้ไหวในวันที่ความเศร้าเข้ามาหา



            เศร้าไปทำไม เรื่องแค่นี้เอง’

            คำพูดนี้นอกจากจะไม่ทำให้คนที่กำลังเศร้าเสียใจหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้นแล้ว ยังบ่งบอกว่าคนที่พูดประโยคนี้เห็นอกเห็นใจคนเศร้าก็จริง แต่ไม่เข้าใจว่าความเศร้าของเราแต่ละคนไม่เท่ากัน ต่อให้เป็นความผิดหวังจากเรื่องเดียวกัน แต่สภาพจิตใจ พื้นฐานความเป็นอยู่ทางสังคม พื้นฐานครอบครัว และปัจจัยอื่นๆ ย่อมทำให้เราแต่ละคนไม่มีทางรู้สึกได้เท่ากัน

            ภาวะทางจิตนั้นเป็นเรื่องที่ชี้วัดได้ยากอย่างยิ่ง นอกจากจะต้องว่ากันไปตามแต่ละกรณีของแต่ละคนแล้ว เมื่อพบว่าเป็นโรคขึ้นมา หนทางในการรักษาของแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกัน

            “การซักประวัติของจิตแพทย์จะไม่เหมือนโรคทางกายอื่นๆ โรคทางใจแบบนี้ต้องซักประวัติ พูดคุยกันนานมาก เพราะต้องทำความเข้าใจทั้งภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น และภาวะปกติในชีวิตที่ผ่านมาของเราย้อนกลับไปด้วย การรักษาก็เพื่อให้แต่ละคนกลับไปจุดที่ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างที่เคยเป็น เช่น บางคนบ้างานเป็นปกติ หรือบางคนนิ่งๆ เงียบๆ คือปกติของเขา ดังนั้นการรักษาของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกันเลย”

-- ผู้ที่เคยมีอาการซึมเศร้าเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเอง ที่ต้องลองผิดลองถูกอยู่ไม่น้อยกว่าจะพบยาที่ใช่ ยาตัวหนึ่งใช้ได้ผลกับคนนี้ แต่อาจไม่ได้ผลกับอีกคน การรักษาจึงต้องพิจารณาไปตามอาการ ทั้งกินยาและปรับการใช้ชีวิตให้สมดุลจนกว่าจะกลับมาเป็นปกติได้ในที่สุด

            ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกเป็นจำนวนกว่า 350 ล้านคนและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติในปี 2011 โรคซึมเศร้าสร้างความสูญเสียต่อสุขภาพมวลรวมของสังคมเฉพาะแค่ในไทย คิดเป็นมูลค่าถึง 10.6 ล้านบาท จึงมีการพยายามค้นหาหนทางใหม่ๆ สำหรับการรักษาในอนาคต นอกจากการกินยาและปรับการใช้ชีวิตแล้วยังเริ่มมีการทดลองรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กเฉพาะที่ (Transcranial Magnetic Stimulation :TMS) ในสหรัฐฯ แคนาดา อิสราเอล บราซิล และบางประเทศในยุโรป โดยจะปล่อยสนามแม่เหล็กไปกระตุ้นให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในเซลล์ประสาท ให้สมองส่วนที่ผิดปกติทำงานเพิ่มขึ้น หรือลดลง ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาไม่ต่างจากยา และยังช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อยามีอาการดีขึ้นจนหายซึมเศร้าได้เร็วขึ้นอีกด้วย

            แต่นอกเหนือจากยาและเทคโนโลยีล้ำๆ อีกสิ่งสำคัญก็คือความพยายามที่จะดีขึ้นของตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงความเข้าใจ การดูแลเอาใจใส่ของคนรอบข้าง ซึ่งจะช่วยให้เราเรียนรู้วิธีที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับความสุขและความเศร้าได้อย่างสันติ