มนุษย์อยู่ร่วมกับผู้อื่นก็เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่แต่ละคนต้องการ
ไม่ว่าจะเป็นความจำเป็นทางกายหรือใจ
ตั้งแต่เด็กเราจำเป็นต้องมีครอบครัวก็เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย
มีบ้านให้อยู่ มีคนดูแล โตขึ้นมาอีกหน่อย
เราก็เริ่มอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนเพื่อความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
เราเข้าสังคมเพื่อคอนเนกชั่น เพื่อหน้าที่การงาน เพื่อการเป็นที่ยอมรับ
เพื่อให้เรารู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง
Aristotle นักปราชญ์ชาวกรีก กล่าวว่า “Man is a social animal” ด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ตามลำพังได้ มนุษย์เพียงคนเดียวนั้นไม่อาจสืบเชื้อสาย ไม่อาจป้องกันตัวเองและไม่อาจหาเลี้ยงชีพอยู่ได้นาน แต่ Thomas Hobes และนักปรัชญาหลายคนเห็นแย้งว่าก่อนที่เราจะมารวมกันเป็นสังคมนั้น เรามีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ ไร้สังคม ไร้กฎเกณฑ์ ต่างใช้พละกำลังช่วงชิงสิ่งที่ต้องการ แต่เมื่อมนุษย์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ปัจจัยในการใช้ชีวิตจึงซับซ้อนขึ้น บรรพบุรุษของเราจึงต้องยอมจับมือกันเพื่อความปลอดภัยและผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน
จนกระทั่งการเข้ามาของสิ่งพิมพ์
การผลิตในระบบอุตสาหกรรม
ทำให้เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกแทบทุกอย่างจนแทบไม่จำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์ด้วยกันอีกต่อไป
เราอ่านหนังสือแทนฟังเรื่องเล่า เราดูโทรทัศน์แทนการนั่งชมการแสดงสด
เรามีสมาร์ตโฟนและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ทำหน้าที่แทบจะทุกอย่างแทนเราได้โดยไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้าน
นี่จึงอาจเป็นยุคที่ถ้อยคำประเภท
‘ไปด้วยกัน ไปได้ไกล’ หรือ ‘คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย’
กลายเป็นคำตกยุคที่ไม่สามารถจูงใจให้เราอยากร่วมหัวจมท้ายกับคนอื่นอีกแล้ว ยืนยันด้วยตัวเลขจาก Euromonitor
International ที่พบว่าในปี 1996 มีคนที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียวทั่วโลกราว
153 ล้านคน และในอีก 10ปีต่อมาเพิ่มมาเป็น
202 ล้านคน และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าตัวเลขจะพุ่งสูงไปถึงราว
80% ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
เช่น ญี่ปุ่น จีน หรือบราซิล ส่วนในสหรัฐฯ นั้นประชากรกว่า 124.6 ล้านคนหรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศครองตัวเป็นโสดอยู่ในขณะนี้
ที่น่าสนใจคือไม่ใช่เพียงคนรุ่น Millennials เท่านั้น
แต่เจนเอ็กซ์กว่า 43% ก็คิดว่าชีวิตแต่งงานเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว
Eric Klinenberg ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย New
York ผู้เขียนหนังสือ Going Solo: The Extraordinary Riseand Surprising Appeal of Living Alone กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
การอยู่คนเดียวนั้นเป็นผลจากการให้คุณค่าแก่แนวคิดเชิงเสรีนิยม
บทบาททางสังคมของผู้หญิงที่มากขึ้น
รวมทั้งความเป็นเมืองที่ขยายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก
และการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
เราจึงอยู่คนเดียวได้อย่างไร้ปัญหา
หากอ่านตรงนี้ยังไม่จุใจ กดฟังศาสตร์จารย์ Eric Klinenberg อธิบายยาวๆ ได้ที่นี่
ในเมื่อเรามีทุกอย่างที่ต้องการแล้ว การอยู่คนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลอีกต่อไป เช่นที่ Eric Klinenberg กล่าวเสมอว่า “การอยู่คนเดียวคือทางเลือก ไม่ใช่การลงทัณฑ์”
เมื่อการกักขังในพื้นที่จำกัดคือการลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดในสังคม
ขั้นกว่าของการลงโทษผู้ที่กระทำผิดในเรือนจำก็คือการถูกแยกออกจากการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
การขังเดี่ยวเกิดจากแนวความคิดความเชื่อที่ว่าห้องคุมขังของเรือนจำที่มีลักษณะปิดทึบ
ตัดขาดจากโลกภายนอก จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
บั่นทอนความสามารถในการกระทำผิดของผู้ต้องขังได้ คิดดูให้ดีแล้วคงไม่ต่างจากการการลงโทษเด็กๆ
เมื่อทำผิดด้วยวิธี time
out ซึ่งให้แยกตัวออกไปนั่งมุมห้อง
ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ
จากคอลัมน์ Core ใน giraffe Magazine 31—One Life Stand Issue