บรื๊ออ ใครจะกล้าพัก ? 'ค่ายกักกันสมัยสงครามโลกฯ'ที่ถูกปรับให้เป็นรีสอร์ท

รีสอร์ทหรูที่มีเสียงขับกล่อมชวนเคลิ้มจากเกลียวคลื่น ท่ามกลางลมสบายแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใครกันจะไม่อยากไปสัมผัส (ถ้ามีเงินพอน่ะนะ พูดแล้วก็เศร้า...) แต่เดี๋ยวสิ แล้วถ้ารีสอร์ทหรูบนเกาะกลางทะเลที่ว่านี้ถูกปรับปรุงมาจากค่ายกักกันเชลยศึกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ล่ะ เราจะยังอยากไปพักอยู่ไหม ?


layoverguide.com


เรื่องราวการรีโนเวทครั้งใหญ่ (ที่กระทู้รีวิวการรีโนเวทบ้านในพันทิปทุกกระทู้ต้องหลบไป) เริ่มต้นจากการที่รัฐบาลมอนเตเนโกร ประกาศว่าจะให้นักพัฒนาจากสวิตเซอร์แลนด์และอียิปต์มาปรับปรุงค่ายกักกันเชลยศึกของนาซีเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลายเป็นบีชรีสอร์ทสุดหรู (คิดได้ไงเนี่ย)


ค่ายกักกันฯนี้ตั้งอยู่บนเกาะ Mamula ที่อยู่กลางทะเลเอเดรียติก (ถ้างงว่าทะเลเอเดรียติกอยู่ไหน ทะเลนี้เป็นส่วนหนึ่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนล่ะ) โดยค่ายกักกันฯ จะกลายร่างเป็นรีสอร์ทที่มีทั้งไนท์คลับ สปา และการบริการสุดประทับใจรอผู้มาเยือนอยู่ (จะไปดีไหมนะ)


ค่ายกักกันเชลยศึกของนาซีเยอรมัน แม้อ่านเผิน ๆ จะเห็นคำว่าค่ายแล้วชวนนึกถึงค่ายลูกเสือ ค่ายเพลง ค่ายภาษาอังกฤษ ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้วค่ายกักกันฯ เป็นศูนย์รวมความโหดร้ายที่มนุษย์ทำกับมนุษย์อย่างเจ็บปวดที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ค่ายกักกันฯมีไว้ขังนักโทษการเมืองและผู้ต่อต้านนาซีเยอรมัน อ้อ แล้วไม่ได้มีแค่ค่ายเดียวนะ เพราะนาซีเยอรมนีสร้างค่ายกักกันในทุกที่ที่เขายึดครองได้เลยล่ะ

เพราะอย่างนั้นไม่ว่าจะภูเขาหินรกร้างว่างเปล่า หมู่บ้านเก่าแก่ หรือแถบชายฝั่งทะเลที่สวยงามในย่านทะเลเอเดรียติกล้วนแต่อยู่ภายใต้การปกครองของนาซีเยอรมันทั้งสิ้น (เสียดายความสวยงามของธรรมชาติจัง)


แต่ใช่ว่าไอเดียสุดแปลกนี้จะราบรื่นนะ เพราะค่ายกักกันฯนี้ในอดีตมีเชลยผู้ถูกคุมขังอย่างทรมาน และอดอยาก รวมถึงมีผู้เสียชีวิต 130 ราย ครอบครัวผู้เสียชิวิตและถูกคุมขังจึงไม่พอใจ แต่ที่สำคัญที่สุดพวกเขาไม่พอใจเพราะรัฐบาลสัญญาไว้ว่าถ้าสร้างรีสอร์ทจะคงสภาพเดิมของค่ายกักกันฯเอาไว้ และทำให้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ไว้ให้คนได้ศึกษาต่อไปมากที่สุด

แต่รัฐบาลดันมาผิดสัญญาซะนี่เพราะภาพที่ออกมามันดูมีแต่เก้าอี้อาบแดด สระน้ำอลังการ (ก็จริงแฮะ) แต่ก็ต้องยกนิ้วให้ครอบครัวเชลยศึกทุกท่านเลยล่ะที่ใจกว้างพอในการยอมให้สร้างรีสอร์ทครั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยอมรับได้


ค่ายกักกันฯ การทรมาน ความเกลียดชัง สงครามโลกครั้งที่ 2 นี่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์เดียวที่สร้างแผลไว้ในใจมนุษย์ ว่ากันว่าเราไม่ได้เกิดมาโดยไม่มีการเชื่อมโยงกับสิ่งใด เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดกับคนรุ่นก่อน ๆ จึงเชื่อมเอาความเจ็บปวดและสร้างรอยแผลลึกไว้ในใจคนรุ่นหลังอย่างเรา ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แม้จะไม่มีใครกลับไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ในแง่ความรู้สึกเราต่างเลือกได้ว่าจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร จะยอมรับความเกลียดชังไว้เพื่อส่งให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป หรือเลือกจะเรียนรู้ความผิดพลาดจากอดีตร่วมกันเพื่อไม่ให้ความเจ็บปวดเหล่านั้นเกิดขึ้นอีก เลือกแบบไหนดีนะ ?

ที่มา