ชุดนี้ท่านได้แต่ใดมา ย้อนรอยแฟชั่นหรูหราที่แลกมาด้วยความไม่เป็นธรรม

    

    วินาทีที่สาวน้อยร่างอรชรสวมเสื้อผ้าสุดหรูเดินเฉิดฉายอยู่บนรันเวย์ หรือตอนที่เราแต่งตัวเก๋ๆ เดินห้างฯ ในเวลาเดียวกันนั้นยังมีแรงงานร่างผ่ายผอมอีกหลายคนกำลังทำงานงกๆ ในโรงงาน เพื่อผลิตเสื้อผ้าให้เราเราสวมใส่กัน...
    ใครเคยตั้งคำถามบ้าง ว่าเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่ตอนนี้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของใคร? ไม่ใช่แค่ห้องเสื้อไหนเป็นคนตัดเย็บ แต่เริ่มตั้งแต่ใครเป็นคนปั่นด้าย ใครทอมันเป็นผืนผ้า หรือแม้แต่ใครเป็นคนปลูกฝ้ายก่อนที่จะเอามาแปรรูปเป็นเส้นใย 
กลุ่มที่ชื่อว่า Fashion Revolution ได้ตั้งคำถามนั้น 
พวกเขาเริ่มฉุกคิดถึงปัญหาที่ไม่เคยมีใครในวงการแฟชั่นใส่ใจมองเห็น เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2013 โรงงานผ้าในเมือง Dhaka ประเทศบังคลาเทศถล่มลง ทำให้มีแรงงานเสียชีวิต 1,133 ราย บาดเจ็บอีกมากกว่า 2,500 ราย จำนวนความเสียหายทำให้มีคนมองเห็นว่ายังมีหลายชีวิตที่ต้องแออัดยัดเยียดกันในโรงงานนรก เพื่อผลิตสิ่งที่ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อในเวลาต่อมา 


    และพวกเขาก็นับเอาวันที่ 24 เมษายนของทุกปีเป็น Fashion Revolution Day เพื่อระลึกถึงเรื่องเศร้าเรื่องนี้
ส่วนวิธีการต่อสู้ก็เพียงแค่สวมเสื้อกลับด้านให้เห็นฉลากด้านใน ถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย พร้อมตั้งคำถามกับแบรนด์เสื้อผ้า ผ่านแฮชแท็กว่า #WhoMadeMyClothes โดยหวังว่าแบรนด์จะมีคำตอบให้
ในปีที่ผ่านมาก็ถือว่ากิจกรรมนี้สร้างปรากฎการณ์ได้พอสมควร เคยเป็นเทรนด์ฮิตอันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ด้วยซ้ำ แถมมีคนดังเข้าร่วมด้วย เช่น นางแบบ Lily Cole คุณยาย Iris Apfel เข้าร่วมโปรโมต รวมถึง Emma Watson และ Cate Blanchett ที่ออกความเห็นห่วงใยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมผ้าชั้นต้นด้วยเหมือนกัน แต่ Fashion Revolution กลับไม่ได้รับการตอบรับจากอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างจริงๆ จังๆ ซึ่ง Huffington Post ได้วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะบริษัทเสื้อผ้าเองก็ไม่รู้ว่า ’ใคร’ เป็นคนผลิตผ้าให้พวกเขา (ฮา)
การรู้ว่าเสื้อผ้านี้ made in somewhere ไม่ได้แปลว่าเรารู้ถึงกระบวนการผลิตว่ามันนรกหรือสวรรค์อย่างไร แล้วการรณรงค์ช่วยเหลือในขั้นต่อไปก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ 

ดังนั้นทฤษฎีในการสร้างความเปลี่ยนแปลงคือ หวังให้แบรนด์มองเห็นว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และนำเสนออย่างโปร่งใสว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นนั้นมาจากไหนกันแน่ (โรงงานนรกในบังคลาเทศ หรือโรงงานดีๆ ในลอสแองเจลิส) และใครเป็นคนลงมือทำ (พวกเด็กๆ ขาดสารอาหาร หรือผู้ใหญ่ที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง) หรือกระทั่ง พวกเขาได้รับค่าจ้างเท่าไหร่ (วันละ 2 ดอลลาร์ฯ หรือ 15 ดอลลาร์ฯ) 

เอาเถอะ ถึงมันจะเป็นแค่การต่อสู้ที่ดูไกลตัวคนไทยเรา น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีแคมเปญนี้อยู่ ถ้าจะเทียบกับพวก Don't Judge Challenge หรือ Ice Bucket นั้นก็ไม่ติดฝุ่น แต่ ใครที่บังเอิญอ่านสิ่งนี้อยู่ อยากบอกว่าคุณไปร่วมกับเขาได้นะ เราก็ทำแล้ว #FashRev