ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เกลียดการต้องหน้าดำคร่ำเคร่งตะลุยอ่านหนังสือที่เรียนมาทั้งเทอมเพื่อสอบเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง (แถมยังออกไม่ตรงกับที่อ่านอีก เจ็บใจนัก!) วันนี้มินิมอร์จะพามารู้จักกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่แค่ดูวิธีการทำแบบฝึกหัดของคุณก็รู้แล้วว่าคุณเรียนรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง (เอ หรือมันจะแย่หนักกว่าการทำข้อสอบนะเนี่ย)
newscientist.com
โปรแกมอัลกอริทึ่มสุดเจ๋งนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกับกูเกิล แคลิฟอร์เนีย โดยโปรแกรมที่ว่านี้จำทำหน้าที่ตรวจสอบแบบฝึกหัด และการบ้านที่ผ่าน ๆ มาของนักเรียน เพื่อวิเคราะห์ดูว่าแบบฝึกหัดไหน หรือบทเรียนใดที่เราทำผิด จะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเรามีความรู้โดยรวมเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนมากน้อยแค่ไหน (ขี้เกียจสอบได้ แต่ก็ขี้เกียจทำการบ้านไม่ได้อยู่ดีนะ)
ระบบนี้ผ่านการทดลอง โดยนำคำตอบจากโจทย์คณิตศาสตร์ของนักเรียนจำนวน 1 ล้าน 4 แสนข้อ มาวิเคราะห์และจัดเรียง เป็นกลุ่ม ๆ เพื่อหาดูว่าแนวโน้มคำตอบและวิธีทำแบบไหน ที่แปลว่าเรียนไม่เข้าใจ
โปรแกรมนี้จะทำให้ผู้สอนรู้ความสามารถและพื้นฐานของเด็กแต่ละคนโดยละเอียด เพราะคำถามมีความแม่นยำมาก ทำสัก 12 ข้อก็สามารถรู้ได้แล้วว่านักเรียนคนนั้นมีความเข้าใจ หรือไม่เข้าใจส่วนไหนของบทเรียนแต่ละบท
ถ้าการสอบมีไว้เพื่อวัดความรู้ที่นักเรียนได้ โปรแกรมนี้จะถูกพัฒนาจนแม่นยำมากพอที่เราจะไม่ต้องสอบกันอีกต่อไป ผู้สอนจะสามารถรู้ได้ว่าเราอ่อนตรงไหน เก่งตรงไหน และจะได้สอนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจได้อย่างตรงจุด
ด้านนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ก็เปรยว่ามันน่าจะดียิ่งกว่านี้ถ้าในอนาคตโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะสามารถบอกเราได้ว่าเราจะสอนเด็กที่มีพื้นฐานความรู้ ความสามารถที่ไม่เท่ากันให้มีคุณภาพได้อย่างไร (นั่นสิ แค่คำนวณผลแต่ไม่บอกวิธี ความเหนื่อยตกไปอยู่ที่คุณครูเต็ม ๆ)
telegraph.co.uk