5 หนังดีศรีอิหร่าน มามองอิหร่านผ่านหนังกันเถอะ

        ในยุคหนึ่งหนังอิหร่านมักมีภาพจำของภูมิทัศน์ที่แห้งแล้ง พูดถึงชนชั้นล่าง ความยากจนข้นแค้น และสภาวะปากกัดตีนถีบ แต่ช่วงหลังหนังอิหร่านยุคใหม่มีความร่วมสมัยและพูดถึงประเด็นที่แปลกแตกต่างไปจากเดิมมากขึ้น และ นี่คือส่วนหนึ่งของหนังดีศรีอิหร่านที่เราไม่อยากให้มองผ่านไปเพียงเพราะว่าไม่ใช่แนวที่คุณเคยดู


1. Taxi (2015)

        หนึ่งในผู้กำกับที่ทำหนังวิพากษ์วิจารณ์สังคมอิหร่านมาตลอด Jafar Panahi เขาถูกรัฐบาลอิหร่านตัดสินโทษ ห้ามไม่ให้ทำหนังเป็นเวลา 20 ปี นอกจากนั้นยังห้ามให้สัมภาษณ์กับสื่อใดๆ รวมถึงห้ามออกนอกประเทศด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจอย่างที่สุด เพราะไม่มีอะไรน่าเศร้าไปกว่าการที่คนทำหนังถูกห้ามไม่ให้ทำหนัง ถ้าเป็นผู้กำกับคนอื่นอาจจะนอนสิ้นหวังซังกะตายอยู่ที่บ้าน แต่ 5 ปีที่ผ่านมา Panahi ได้(แอบ)ทำหนังไป 3 เรื่องแล้ว!
        Taxi (2015) ผลงานล่าสุดของเขาถ่ายในรถแท็กซี่ทั้งเรื่อง Panahi รับบทคนขับแท็กซี่ด้วยตัวเอง โดยเขาจะขับรถไปรอบกรุงเตหะราน รับผู้โดยสารขึ้นมา พูดคุยกันไปเรื่อยเปื่อย แต่บทสนทนาในรถก็สะท้อนถึงปัญหา ความเชื่อ และอุดมการณ์ในสังคมอิหร่าน สิ่งที่ร้ายกาจและแหลมคมที่สุดของ Taxi คือฉากสุดท้ายที่... << SPOIL กรุณาลากเม้าส์เลือกข้อความเพื่ออ่าน ถ้าเป็นมือถือก็จิ้มจอค้างแล้วเลือกข้อความ  Panahi ลงจากรถไป แล้วอยู่ดีๆ ก็มีชายลึกลับมาขโมยกล้องและข้าวของไปจากรถ แน่นอนว่านี่คือการวิพากษ์รัฐบาลที่สอดแนม จับต้อง และคุกคามเขา >>
        ความหลอกหลอนยิ่งทวีขึ้นไปอีกเมื่อเราคิดได้ว่า Panahi ต้องทำหนังอย่างหลบๆ ซ่อนๆ แบบนี้ไปอีกอย่างน้อย 15 ปี


ตัวอย่างภาพยนตร์


2. Persepolis (2007)

มองอิหร่านผ่านสายตาของเด็กหญิงคนหนึ่ง ด้วยการ์ตูนแอนิเมชั่นขาวดำฝีมือของ Marjane Satrapi นักเขียนการ์ตูนและผู้กำกับสาวที่ได้เฝ้ามองการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 และ สงครามระหว่างอิรัก-อิหร่านตลอดมา หนังได้รางวัลขวัญใจคณะกรรมการในเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2007 แถมยังกระโดดไปเข้าชิงภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ด้วย ระหว่างหาหนังมาดู ลองหาหนังสือฉบับการ์ตูนแปลไทยมาลองอ่านกันก่อนได้ ในชื่อ ‘แพร์ซโพลิส’ ของสำนักพิมพ์กำมะหยี่

ตัวอย่างภาพยนตร์


3. A Separation (2011)

        นี่คือหนังอิหร่านที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่ง การันตีด้วยรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมและเข้าชิงรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีเดียวกันด้วย ว่าด้วยคู่สามีภรรยาที่กำลังจะหย่าร้างกัน เนื่องจากภรรยาต้องการย้ายไปอยู่ต่างประเทศ แต่สามีต้องการอยู่ดูแลพ่อที่อิหร่าน หนังไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนา เพศ และชนชั้นในอิหร่านได้อย่างถึงแก่น อย่าให้ต้องพูดอะไรอีกเลย ไปหามาดูเถอะ!

ตัวอย่างภาพยนตร์


4. No One Knows About Persian Cats (2009)

เรื่องราวของนักดนตรีหนุ่มสาวสองคนที่เพิ่งออกจากคุก พวกเขาพยายามหนีออกจากอิหร่านเพื่อไปแสดงดนตรีในงานคอนเสิร์ตที่ลอนดอน หนังเผยให้เราเห็นภาพความเป็นไปของศิลปินใต้ดินในกรุงเตหะราน และวัฒนธรรมของแท้ในกลุ่มวัยรุ่นอิหร่านซึ่งรับรองว่าคุณไม่เคยอ่านผ่านตาในหนังสือท่องเที่ยวทั่วไป เรื่องนี้ได้ Roxana Saberi นักข่าวสาวชาวอเมริกันผู้เคยติดคุกอิหร่านมาก่อน ร่วมเขียนบทจากประสบการณ์ตรงด้วย 

ตัวอย่างภาพยนตร์


5. The Day I Became a Woman (2000)

        เผยความนัยภายใต้ฮิญาบสีเข้มขรึมของผู้หญิงอิหร่านผ่านงานภาพสุดเซอร์เรียล แปลกประหลาดราวกับต้องมนตร์ เช่น ฉากเครื่องใช้ภายในบ้านกลางทะเลทรายเวิ้งว้าง สตรีในผ้าคลุมสีดำปั่นจักรยานกันเป็นทิวแถวที่เปิดโอกาสให้เราได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงสิ่งที่ผู้หญิงในประเทศนี้ต้องเผชิญหน้า ลองลิ้มรสมือครั้งแรกของ Marzieh Meshkini ภรรยาของ Mohsen Makhmalbaf ผู้กำกับหนังดังในระดับตำนานของอิหร่านกันได้ตามอัธยาศัย

ตัวอย่างภาพยนตร์


ส่วนหนึ่งจาก Taxi แท็กซี่คันนี้สี...  
คอลัมน์ Top Shelf (Movie)—giraffe issue 22
STARTUP ISSUE 2/2 SEP 2015
อ้างอิง : ranker.com, rogerebert.com, theculturetrip.com