5 กลยุทธ์รับมือ'สินค้าฝาแฝด'ในซุปเปอร์มาร์เก็ต

        แต่ก่อนแต่ไรเข้าใจ ว่าการเป็นคนรัก คือเรียนรู้กันและกัน ไม่ใช่! นี่มันเนื้อเพลงวงซีล เอาใหม่...

        แต่ก่อนแต่ไรเข้าใจ ว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต คือแหล่งจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เราๆท่านๆอุ่นใจและไว้วางใจกับสินค้าที่คัดสรรแล้วบนชั้นวางของ แต่ทุกวันนี้ หลายๆคนอาจจะเคยพบว่าเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วแกะสินค้าที่ซื้อมา ลองมองดูดีๆ พบว่า ‘เฮ้ย! พลาด!’ พลาดเพราะหยิบสินค้าฝาแฝดมา จ่ายเงินแล้วเรียบร้อย จะให้โทษแคชเชียร์ก็ไม่ได้ เอ... นี่เราเร่งรีบไป หรือสายตาเราเริ่มยาวตามอายุ หรือว่า...สินค้ามันดูเหมือนกันจนเราแยกไม่ออกกันแน่(วะ)

รูปประกอบ: สิ่งที่คิดว่าจะไปซื้อ(ซ๊าย) ความเป็นจริงที่ติดกลับมาบ้าน(ขวา)


และ ณ จุดจุดนี้ (สำเนียงพริตตี้) ขอแนะนำให้ทุกทุกท่านในที่นี่ได้รู้จักกับ

'House Brand'

        House Brand โดยทั่วๆไป ก็คือการที่ผู้จัดจำหน่ายสินค้าผลิตสินค้าชนิดเดียวกันที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันมาจัดจำหน่ายในสถานที่ขายของตัวเอง ลองนึกภาพน้ำเก๊กฮวยแก้วละ 3 บาทในตู้แช่ร้านโชว์ห่วย เนี่ยแหละ House Brand ที่อาแปะทำมาสู้กับของน้ำเก๊กฮวยบรรจุขวดตั้งแต่รุ่นพ่อ ทำไปทำมาอาแปะค้นพบว่า เฮ้ย สูตรเก๊กฮวยอั๊วขายดีหว่ะ อั๊วะบรรจุขวดขาย 5 บาทบ้างดีกว่า นี่ก็คือการยกระดับ House Brand ซึ่งหลายๆซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ยกระดับ House Brand เป็นสินค้าพรีเมียม เป็นของนำเข้า เราๆท่านๆก็ได้มีทางเลือกมากขึ้น
        แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะสวยหรู เมื่อบางครั้งผู้ผลิต House Brand เหล่านั้นทำรูปลักษณ์ออกมาให้เหมือนสินค้าดัง (เหมือนแบบที่ใช้คำว่าแรงบันดาลใจไม่ได้) สินค้าฝาแฝดแบบนี้มักจะตั้งราคาถูกกว่า และอาจแถมความเจ็บใจให้ฟรีเมื่อรู้ตัวว่าหยิบผิดหลังจ่ายเงินแล้ว ส่วนคุณภาพนะหรือ? - เราไม่รู้หรอกจนกว่าจะได้ใช้จริง


รูปประกอบ: ยกตัวอย่าง House Brand สินค้าอย่างน้ำหวานเข้มข้นที่ครองใจคนไทยมาหลายเจนเนอเรชั่น เมื่อหยิบผิดเป็นน้ำเขียวฝาแฝด ท่านจะได้รับรสความหวานระทมขมขื่น ด้วยกลิ่นเมนทอลทะแม่งๆ ลอยทิ่มจมูก รสสัมผัสเพี้ยนๆ และเมื่อนำไปผสมกับโซดาจะพาให้นึกว่ากินยาผิด รสขมระทมฝังแนบในคอและเพดานปากอย่างยาวนาน เป็นฝันร้ายที่ยากจะลืมเลือนจากใจ  จะเททิ้งไปก็สงสารมดที่จะมากินต่อ


แล้วจะรับมือกันอย่างไง ไม่ให้พลาด?

1. รูปลักษณ์ แพ็คเกจ ฉลากสินค้าฝาแฝด

        จุดแรกแห่งความพลาด คือแยกไม่ออกเพราะโขกกันมาราวกับโคลนนิ่ง ทั้งสีสัน ลุคแอนด์ฟิล เป๊ะเว่อร์  จนแม้แต่กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่คร่ำหวอดวงการออกแบบ และมีสายตา pixel perfect ก็ยังเกิดอาการหยิบพลาดจนเสียเซลฟ์ในการประกอบอาชีพไปพักใหญ่

2. ฮวงจุ้ยชั้นวางสินค้า

        งานนี้ต้องเจาะลึกกันถึงฮวงจุ้ย เพราะเป็นพระเอกหลักของความพลาดทั้งปวง แค่รูปลักษณ์เหมือนกันยังไม่เท่าไหร่ เจอการจัดวางที่มีชั้นเชิงระดับเกจิอาจารย์เข้าไปนี่จบข่าว ถ้ามองปราดเดียวที่ชั้นวางสินค้า 90% ที่โชว์หรา เห็นง่าย หยิบคล่อง คือสินค้าฝาแฝดเต็มแผง!! แล้วของจริงล่ะ? โน่นนนน...ไปกระจุกอยู่มุมเล็กๆ สุดขอบสายตา พาให้อยู่นอกสายตา

        ซ้ำร้ายซุปเปอร์บางแหล่งอาจหาญ ถอดชั้นวางด้านล่างแล้วเอาสินค้าจริงมาวางทั้งกล่องลัง ถ้าหากว่าผู้เคราะห์ร้ายเดินผ่านมาหยิบของด้วยโหมดออโต้เมติก  ร้อยทั้งร้อยหยิบพลาด  ต้องตั้งสติให้ครบ ปรับระบบเป็นแมนนวล และพิจารณาดูให้ดีว่า สิ่งที่เห็นมิใช่สิ่งที่เป็น

3. สร้างวิบากกรรมการเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์

        ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งทำเนียน จัดของไม่เสร็จตลอดปีตลอดชาติ ไม่ว่าจะเข้ามาเวลาไหน ก็พบสภาพเดิม เหมือนเรากำลังบุกก่องถ่ายหนังที่โกดังสินค้า บรรดาชั้นวางสินค้ามีกล่อง ลัง รถเข็นขนสินค้า บ้างก็ของในสต็อกไม่แกะแพ็ค วางขวางเกะกะไปทั่ว และจุดไคล์แม็กซ์สำคัญคือ สิ่งกีดขวางเหล่านั้นมักจะอยู่ขวางหน้าบรรดาสินค้าของแท้ ให้เข้าถึงยาก มารผจญแท้ๆ...

4. ตัดทางเลือก

        ซุปเปอร์มาร์เกตใหญ่ที่เข้าประจำ สินค้าครบครัน บัดนี้เนียนเลิกขายสินค้าตัวจริงไปหลายต่อหลายชนิด ทำให้หาซื้อยากเข้าไว้ แล้วแทนที่ด้วยสินค้าฝาแฝดของตัวเอง โปรดอย่าลืมว่า ถ้าไปแล้วไม่เจอสินค้าที่ต้องการมากๆ เข้า เราย้ายไปซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์อื่นก็ได้เถอะ  เราเลือกได้

5. แล้วถ้าพลาด?

        หากหยิบพลาด ซื้อผิดมาแล้ว เปิดหรือแกะแล้ว กลับไปเปลี่ยนคืนไม่ได้แล้ว จะทำอย่างไร? กรณีน้ำเขียว หากพลาดไปแล้ว แนะนำให้รินถวายศาลพระภูมิ เจ้าที่ นางกวัก หรือกุมารทอง ณ สถานประกอบกิจการของท่าน เพื่อความเป็นสิริมงคล หา... อะไรนะ... ปกติท่านฉันน้ำแดงเหรอ อ้าว... (กุมขมับ)