เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Makers Tipsminimore
ต้องขยาย! "มนุษย์" ในละครน้ำเน่า บอกอะไรเราเรื่อง "พล็อตที่ดี"
  • กลับมาอีกแล้วววว กับความรู้ที่ได้มาจากงานเวิร์คช็อป พล็อตรักให้เป็นเรื่อง โดยสถาพรบุ๊คส์ คราวนี้ใครเป็นคอละครไทยคงจะโปรดปราน เพราะเป็นไอเดียที่มาจากนักเขียนบทโทรทัศน์มือรางวัล การันตีละครคุณภาพหลากหลายเรื่อง เรียกได้ว่าเจอผู้จัดที่ลงล็อก ชื่อนี้มาทีไรคนพากัน hype ตลอด และเขาคือ “ยิ่งยศ ปัญญา” นั่นเอง

    บทความก่อนหน้า



    ยิ่งยศ ปัญญา ชื่อนี้ถ้าไม่ใช่คอละครที่เลาะดูถึงทีมสร้าง อาจจะสงสัยว่าใครฟะ แต่ถ้าพูดถึง “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” เวอร์ชั่น ปอ-ทฤษฎีและพลอย เฌอมาลย์ หรือเรื่อง "ทองเนื้อเก้า" เวอร์ชั่นนุ่น วรนุช และล่าสุดที่ละครโคตรจะม้ามืดอย่าง “สุดแค้นแสนรัก” ละครเรื่องบ้านๆ ที่ครองใจคนได้ทั้งต่างจังหวัดและในเขตกรุงเทพมหานคร 

    จากพลังนักแสดง ความคมคายของบทที่กะเทาะเอาแก่นของคนออกมา ในความน้ำเน่า ในเสียงด่าทอที่สะท้อนในละคร มองเผินๆ อาจจะเป็นละครประโลมโลกทั่วไป แท้จริงแล้วสะท้อนแง่มุมต่างๆ ของมนุษย์อย่างถึงพริกถึงขิง

    บอกเลยว่าสิ่งที่ คุณยิ่งยศ ปัญญา จะเล่าให้ฟัง(และมินิมอร์เรียบเรียง) แซบไม่แพ้ฝีปากย่าแย้มเลยจ้า


    "ละครเป็นเรื่องของมนุษย์"

    "พี่แบ่งเกรดว่า คน และ มนุษย์ นั้นไม่เหมือนกัน"


    เอ๊ะ เรื่องนี้ยังไง เดี๋ยวมินิมอร์จะขยายความเพิ่ม

    หัวใจหลักที่ คุณยิ่งยศ ปัญญา ย้ำมากๆ คือ “ละครเป็นเรื่องของมนุษย์” หลายคนอาจจะคิดว่าเฮ้ย มันก็แค่ละครน้ำเน่าตบตีกันไปวันๆ แต่...ในละครที่ใส่ใจกับการทำพล็อต ทำบท มันคือการตีแผ่ด้านต่างๆ ของ “คน” 

    ลำยอง จาก "ทองเนื้อเก้า" ตัวเอกละครที่มีชีวิตผกผัน รุ่งโรจน์ และร่วงโรย จากบทโทรทัศน์โดย ยิ่งยศ ปัญญา
    (ภาพจาก sanook)

    คุณยิ่งยศยังกล่าวอีกว่า ในสุดแค้นแสนรัก ตัวละครทุกตัวเป็น “คน” หมด แต่ท้ายที่สุดแล้วใครจะพัฒนาเป็น “มนุษย์” ได้ ในเรื่องนั้นตัวละครต่างต้องหาความสุข พบเจอความทุกข์ ทนความทรมาน และใฝ่หาสิ่งสุดท้ายคือความสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เสาะแสวงหา


    “พล็อตที่ดีต้องดูว่าตีแตกความเป็นคนได้ขนาดไหน”


    ตอนอยู่ในงานมินิมอร์ชอบช่วงนี้จริงๆ นะ ฮึ่ม 
    บางคนอาจจะสร้างเรื่องๆ หนึ่งขึ้นมา เพราะรู้สึกว่าเฮ้ย ฉันอยากเขียนเรื่องของตัวละครแบบนี้ๆ อะ หน้าตาแบบนี้ สีผม สีตา ความสูง ดีไซน์รูปลักษณ์ภายนอกเสียเป๊ะ ถามว่าผิดไหม ไม่ผิด แต่สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมเลยคือตัวละครทุกตัวนั้น...เป็นคน (โอเค จะเป็นผี เป็นหมาแมวอะไรก็สุดแท้) แน่นอน...มันต้องดีไซน์เรื่องราวภายในจิตใจด้วย

    หมายถึงว่ามันมีความคิด มีความรู้สึก ซึ่งทั้งสองอย่างถูกหล่อหล่อมกล่อมเกลามาจากสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ที่เคยพบเจอมา บวกกับทัศนคติการมองโลกดั้งเดิมของเจ้าตัว แน่นอนว่าสิ่งที่กระทำลงไปมันจะต้องมีอะไรที่ทำให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า “เออ เพราะเป็น...สินะถึงตัดสินใจแบบนี้” หรือ “ถ้าเจอเหตุการณ์นี้...ต้องทำแบบนี้แน่” นี่แหละ goal อย่างหนึ่งของคนสาย fiction เลย ทำให้คนอ่านรู้จักและเข้าใจตัวละครได้


    กับดักของการสร้าง PLOT


    หัวข้อดูน่ากลัวมาก และตวามเป็นจริงก็น่ากลัวจริงๆ ล่ะ ในงานนั้นคุณยิ่งยศ ปัญญา ได้พูดถึงพล็อตที่ส่งเข้าประกวด ว่าทั้งหมดติดกับดักบางประการ เรียกได้ว่าสลัดไม่หลุด แล้วมันคืออะไรบ้างล่ะ?


    1. การสร้างงานเพื่อสนองความต้องการผู้ผลิตมากเกินไป

    ในที่นี้ คุณยิ่งยศ ปัญญา ได้พูดเลยว่าเหมือนสร้างพล็อตแบบอยากให้เป็นละครช่อง 3 มันดูจงใจเกินไป อาจจะมีตัวละครสไตล์นิยม ฉากที่ทางช่องชอบ หรือมีฉากที่เป็นสไตล์ละครเลย ซึ่งนิยายมันมีเสน่ห์แบบนิยายอยู่แล้วนะ อย่าทำแบบนั้นดีกว่า

    สำหรับมินิมอร์ว่าเวลาเราสร้างพล็อตอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนิยาย การ์ตูน หรืออื่นๆ ก่อนที่จะทำเพื่อให้คนอ่านชอบ เราต้องสร้างมันเพราะเราอยากทำก่อน เราชอบสิ่งนี้ เรารักสิ่งที่เราจะเสนอให้คนอ่าน เลือกตัวเองเป็นหลักก่อน

    แต่!....ถ้าจะเขียนแบบไม่สนอะไรเล้ย ฉันจะเขียนงี้ คนอ่านมาว่าไงฉันก็ไม่สน อันนี้ก็จะเสี่ยงต่อการอดตายสูงมาก *ทำไมเหมือนพูดจากประสบการณ์จริง* เราอาจจะต้องแบ่งสัดส่วนการเขียนตามใจตัวเองกับตามใจคนอ่าน อาจจะ 70/30 อะไรทำนองนี้.... แต่ไม่ว่าจะยึดตัวเองสัดส่วนเท่าไหร่ก็เถอะ จะ 100 ก็ได้ ยังไงก็ขอให้รักและตั้งใจในสิ่งที่ทำจ้ะ

    ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ละครเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่คุณยิ่งยศ ปัญญา กล่าวว่า 
    ถ้ารีเมคก็ต้องหาข้อมูลใหม่เพราะเทรนด์การเกษตรเปลี่ยนไปแล้ว นี่! ความใส่ใจ
    (ที่มาภาพ PANTIP)


    2. มีความคิดแบบ stereotype

    คุณยิ่งยศปัญญาบอกว่า ในหลายพล็อตที่ได้อ่านๆ มา มีความคิดบางประการที่แบบ เฮ้ย ถ้าเราลองมองโลก ทำความรู้จักกันคนให้มากกว่านี้ เราจะไม่เขียนแบบนี้อะ นี่ เดี๋ยวลิสต์ให้ดู

    • ทำไมคนเรียนจบจากเมืองนอกต้องเปรี้ยววะ (เออ...เพื่อนมินิมอร์ที่สายเนิร์ดๆ เยอะเลยนะ ฮาาา)

    • ทำไมคนจบจากเมืองนอกกลับมาถึงสนามบินแล้วต้องใส่ชุดหน้าหนาว (ในที่นี้คือหนาวเต็มสูบเลยนะ ไม่ใช่ใส่ให้อุ่นบนเครื่อง นี่ทำให้คิดว่าเออ...ตอนเขานั่งมาในเครื่องเขาเหนื่อยไหมนะ เพราะคนขึ้นเครื่องกลับมานี่มินิมอร์เห็นแต่งตัวสบายๆ กัน หรือว่าตัวละครที่แต่งชุดหน้าหนาวกลับมาไทยนี่เขาเลียนแบบไอดอลเกาหลี ที่ต้องมีแฟชั่นสนามบิน ตัสละครบางเรื่องใส่ชุดหน้าหนาวทั้งที่ประเทศซึ่งไปถ่ายอยู่เป็นใบไม้ผลิหรือฤดูร้อนอะแกกกกก)

    • นางร้ายต้องปากแดง นางเอกปากชมพู (หัวข้อนี้ คุณยิ่งยศ ปัญญา พูดขึ้นมาว่า “ในชีวิตพี่เจอคนร้ายกาจทาปากสีเบจ ทาสีกุหลาบแต่ใจสัตว์ก็มี” โอ้โห...จริงเลย)


    สุดแค้นแสนรัก ความรัก ชัง อคติ และแง่มุมต่างๆ ของมนุษย์
    (ที่มาภาพ becteroradio)

    ทั้งหมดนี้เกี่ยวกับมนุษย์อย่างไร?

    Stereotype ทั้งหลายมันคือกับดักที่ถ้าเราทำไป มันก็กลายเป็นความเด๋อในนิยายเท่านั้นเอง แบบว่าโคตร cliché เลยแก ซ้ำซากมาก คือไม่มีใครเขาทำแล้ว มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นจริงในชีวิตมนุษย์เดินดินอะ

    พอมาถึงตรงนี้จะแนะนำให้ดูเรื่อง "น้ำตากามเทพ" นะ เป็นซีรีส์ที่แซะละครไทยอีกที ชอบตอนจบมาก ความ surreal ในละครไทย ถ้าจบแบบ real จะเป็นไง

    แล้วเราจะหลุดจากมันได้อย่างไรล่ะ?

    อยากเขียนถึงนักเรียนนอกเหรอ? ไปถามเพื่อนสิ เพื่อนไม่มีก็ฝากถามคนรู้จัก หรืออย่าไปเชื่อว่าคนที่ทาปากแดงทาปากดำต้องเป็นคนเลวคนชั่ว นางมาร เฮ้ย ตั้งสติ การทาสีปากมันคือรสนิยมทางแฟชั่น ในโลกนี้มินิมอร์เคยได้ยินแต่ว่า “มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ” จากโคลงโลกนิติ ไม่เคยได้ยินว่า “NYXส่อสันดาน ชาติเชื้อ” ไรงี้ คนจะดีจะเลวรูปกายภายนอกไม่เกี่ยวเลย มันเป็นเรื่องภายในล้วนๆ เลยจ้ะ

    ถ้าเราอยากจะหลุดจาก stereotype สำหรับมินิมอร์ บอกได้เลยว่าต้องทำอย่างที่คุณยิ่งยศ ปัญญา บอกแหละ สนใจมนุษย์ ใส่ใจมนุษย์ มองโลก ศึกษาโลก ตั้งคำถาม หาคำตอบ และตีโจทย์ความเป็นมนุษย์ให้แตกนั่นเอง เพราะละครคือการได้ชำระจิตใจตัวเอง(ของคนดู)ในทางอ้อม คนดูละไม่จดจำหรอก ว่าเรื่องนี้ละครสั่งให้ทำ คือคนก็ฉลาดกว่านั้น แต่เขาจะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปเองไง

    ฉะนั้นถ้าเราจะสร้างงานสักอย่าง ไม่ว่าจะนิยาย ละคร การ์ตูน เรื่องสั้น ขอให้รักในงานตัวเอง สนใจเรื่องของมนุษย์ และใส่ใจในการพัฒนาตัวละครให้มีชีวิตและจิตใจ จะเป็นเรื่องที่ดีมากเลยล่ะ





    “ละครไม่สามารถสั่งสอนใครได้ แต่มันชำระล้างจิตใจได้”


    หวังว่าเพื่อนๆ จะชอบเรื่องที่มินิมอร์เอามาฝากนะจ๊ะ แต่...ยังไม่จบ (คนอ่านอาจจะร้อง ฮะ! ยังไม่จบอีก) บอกแล้วว่าซีรีส์เรื่องการสร้างพล็อตนั้นยาวมาก และสนุกมากเช่นกัน คราวหน้าจะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่มินิมอร์เก็บตกรวมจากหลายๆ หัวข้อมาให้อ่านกันจ้ะ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in