เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Makers Tipsminimore
เรื่องน่ารู้ ในมุมมองของคนอ่าน คนดู ผู้ผลิต อะไรที่เรียกว่า "พล็อตดีๆ"
  • กลับมาอีกแล้ว สำหรับ Tips ดีๆ สำหรับคนสร้างผลงาน อย่างที่มินิมอร์เกริ่นเอาไว้ใน "เกริ่นก่อนคุย "พล็อตเด่นเป็นละคร" แล้วยุคนี้อะไรที่เป็นละครได้บ้าง?" ว่าเรื่องที่เขียนต่อไปนี้ แม้จะได้เนื้อหามาจากงานเวิร์คช็อปโครงการ "พล็อตรักให้เป็นเรื่อง" ของสำนักพิมพ์สถาพรและพิมพ์คำ ซึ่งเน้นด้านนิยายรัก แต่สิ่งที่วิทยากรทั้งสามท่านพูดนั้นใช้ได้กับทุกสายงานที่เป็นเรื่องแนว fiction จริงๆ มาเริ่มตอนแรกกันเลยดีกว่า!

    มินิมอร์ไม่อยากจะอารัมภบทมาก เพราะเนื้อหาเยอะจริงๆ แต่ก็จะกล่าวนำนิดๆ ว่าหัวข้อของวันนี้ จะเรียบเรียงมาจากช่วงที่ คุณสมรักษ์ ณรงค์วิชัย (รองกรรมการผู้จัดการไทยทีวีสีช่อง 3) ท่านได้พูดเอาไว้ในงาน พูดจริงๆ โนสคริปท์ เรียกได้ว่าความรู้ที่ท่านถ่ายทอดมานั้นเกิดจากการทำงานจริงมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน และได้ถ่ายทอดความรู้ให้ผู้สร้างงานอย่างเราๆ ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ จากฝั่งที่เรียกได้ว่าเป็นผู้บริโภคบ้าง 

    ปะ ไปอ่านกันเลย



    ยุคทีวีดิจิทัลส่งผลต่อการทำงานอย่างไร?



    เอาจริงๆ ถ้าเปลี่ยนสิ่งที่เป็นโจทย์ว่า "ทีวีดิจิทัลส่งผลอย่างไร" เป็น "โลกดิจิทัล โซเชียลเน็ทเวิร์กส่งผลอย่างไร" มินิมอร์ว่าน่าจะปรับใช้กับคนสร้างสรรค์งานได้หลายแขนงเลยล่ะ งั้นเดี๋ยวจะเขียนในแง่มุมอื่นผสมไปด้วยนะจ๊ะ

    ประเทศเราเริ่มเปลี่ยนเป็นระบบทีวีดิจิทัลได้พักหนึ่งแล้ว ช่วงแรกๆ เราก็ยังงงงวยหนหวยกันว่า เอ๊ะ แล้วมันคืออะไร นอกจากต้องเปลี่ยนเสาอากาศเพิ่มกล่องรับสัญญาณหรือซื้อโทรทัศน์ใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านมาได้พักหนึ่ง เพื่อนๆ หลายคนคงพอรู้สึกได้ว่าผู้ชมนั้นมีทางเลือกในการรับชมมากขึ้นแฮะ 

    นี่เลยเป็นที่มาของประการแรกที่คุณสมรักษ์ได้พูดเอาไว้


    1. โทรทัศน์มีความหลากหลายมากขึ้น

    คุณสมรักษ์ได้บอกไว้ว่า 

    เมื่อโทรทัศน์มีความหลากหลาย แต่ละช่องต้องกำหนด "ภาพ" ของตัวเองว่าจะนำเสนอในแง่ไหน ของช่อง 3 นั้นได้ดำเนินงานมานาน ไม่ใช่ช่องเกิดใหม่ จึงมีความชัดเจนในคอนเทนท์ว่ามีความหลากหลาย อย่างช่องดิจิทัลใหม่ๆ บางช่องเน้นตลาดวัยรุ่น บางช่องเน้นคนดูที่เป็นชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป หรือคนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด

    เอ้อ... ก็จริงเนอะมีบอลสดจากต่างประเทศโดยไม่ต้องซื้อกล่องโทรทัศน์ดาวเทียมเพิ่ม มีช่องสารคดีทั้งวัน เช่นเดียวกับที่มีช่องซึ่งฉายคอนเทนท์สายบันเทิงอย่างรายการวาไรตี้เป็นหลัก ละครของแต่ละช่องก็มีสไตล์ต่างกันออกไป อย่างช่อง 3 เน้นสังคมเมือง ก็จะมีช่องอื่นที่เน้นไปทางวัยรุ่น หรือว่าตลาดต่างจังหวัด 

    ช่อง 3 family เน้นเด็กและเยาวชนรวมถึงครอบครัว 3SD เน้นตลาดทั่วไป ต่างจังหวัด 3HD เน้นตลาดในเมือง

    บางช่องก็เน้นซีรีส์ ละคร หนัง พักหลังบางช่องถึงกับซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เกาหลีมาฉายวันเดียวกับที่ออกอากาศในเกาหลี! เรียกได้ว่าคนดูอย่างเราๆ แค่เปิดโทรทัศน์ก็มีอะไรให้เลือกดูมากมายแล้ว ยกเว้นหกโมงเย็นวันเสาร์ (อุ๊บส์)

    ไม่ต่างจากตลาดหนังสือ ไม่ว่าจะแนว fiction non-fiction หรือกระทั่งสายการ์ตูนเอง แม้ตอนนี้ใครๆ จะบอกว่าโหย โคตรแห่งความซบเซา แต่ในทางกลับกันมินิมอร์รู้สึกว่าในช่วงนี้มินิมอร์เห็นความหลากหลายของงานในตลาดมากขึ้น อาจจะไม่ใช่งานที่เด่นเพราะมาจากสำนักพิมพ์ใหญ่ แต่เรียกได้ว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่มั่นคงในทางตัวเองนี่มีเยอะเลยนะ!

    ซีรีส์เรื่อง Uncontrollably Fond ที่ช่อง 8 ฉายหลังเกาหลีเพียง 2 ชั่วโมง ส่วน Doctors ฉายตามเพียง 2 ตอนเท่านั้น - ที่มา
  • 2. สื่อสารได้ทุก Platform

    คุณสมรักษ์ได้บอกว่า

    "การติดตัว" ทำให้อยากดูอีก ส่งผลให้ไม่เลิกดู 

    โอ้โห...ทุกคน เห็นภาพตัวเองไหมจ๊ะ แบบว่า เฮ้ย ละครตอนอวสาน ดูไม่ทันอะ อยู่นอกบ้าน เอาไงดี มีทางเลือก (1) เปิด live stream ในเว็บไซท์ช่องดูสดนอกบ้านแมร่มเลย (2) ไม่ไหวจริง มันกินค่าเน็ท งั้นเดี๋ยวกลับไปใช้ wi-fi ที่บ้านเปิดดูย้อนหลังก็แล้วกัน (3) รอดูรีรัน!

    เอาจริงๆ มินิมอร์ทำงานเว็บไซท์มา ทำให้เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมากเอาการเลยนะ หลายคนทำงานใช้คอมพิวเตอร์ของออฟฟิศ เมื่อกลับบ้านก็ใช้แต่ Devices พวกโทรศัพท์มือถือหรือแทบเล็ต คนมีการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนตัวกันน้อยลง 

    ทางผู้ให้บริการสื่อบันเทิงต่างๆ จึงต้องปรับตัว เช่น เปิด live stream ให้คนดูได้ดูรายการที่ฉายสดๆ โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์ หรือทำแอพพลิเคชั่นเพื่อการดูย้อนหลังได้อย่างสะดวก 

    แล้วพอสะดวก...ทำไง? ติดจ้าาาา ไม่เลิกดูจ้าาา กดดูคลิปต่อไปเรื่อยๆนั่นเอง

     
    เวอร์ ยุคนี้ไม่ต้องเอื้อมแล้ว เขาลงแอพกดโทรทัศน์ในมือถือแล้ว รู้ยังงง  via GIPHY

  • 3. มีการกำหนด Rating

    ความก้าวหน้าของวงการโทรทัศน์อย่างหนึ่งคือมีการกำหนดเรทติ้งอย่างชัดเจน เพื่อเตือนผู้รับชมว่าเรื่องเช่นนี้ไม่เหมาะสมกับคนบางช่วงวัยนะ หรือถ้าจะดูก็ได้ แต่ผู้ปกครองควรอยู่ด้วยเพื่อให้คำแนะนำกับบุตรหลาน

    การทิ้งลูกให้โทรทัศน์เลี้ยงไม่ใช่วิถีคนเป็นพ่อแม่นะซิส จำไว้ *ดีดนิ้วเปาะ* 

    การใช้โทรทัศน์เลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องผิด ตราบเท่าที่พ่อแม่นั่งดูด้วยและทำให้มันเป็นกิจกรรมของครอบครัว แนะนำให้ลูกดูสารคดี หรือให้ลูกดูละครและพูดสอนไปด้วยว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดี และอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม แต่มันก็มีบางประเภทที่ไม่เหมาะกับคนในทุกช่วงวัย ระดับว่าเออ อย่าดูเลย พาลูกไปนอนเถอะ

    คุณสมรักษ์เล่าไว้ว่า 

    คนทำละครเรท น.18 ก็มีนะ (เรทติ้งที่ให้ต่ำกว่า 18 ควรได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครอง)  ซึ่งคนทำรายการแนวนี้จะยอมฉายงานของตัวเองในตอน 4 ทุ่มเลย 

    ในส่วนของช่อง 3 นั้นจะพยายามคุมให้ละครอยู่ในเรท ท. (ทั่วไป ดูได้จ้าาา ใครก็ดูด้ายยย) แต่คนเข้าใจผิดว่า ท.นี่คือห้ามมีความรุนแรงเลย ซึ่งไม่ใช่ สามารถมีความรุนแรงเรื่องเพศ ภาษา ในระดับที่เหมาะสมกับเนื้อหา "ไม่ได้ห้ามฆ่ากัน" แต่ว่ามี Limit ทางด้านภาพ ผู้สร้างและทางช่องต้องดูว่าได้เช่นไหน 

    อันนี้มินิมอร์ยกตัวอย่างได้ *ยกมือแบบเด็กเนิร์ดหลังห้อง*  สมมติเวลาดูละครอิงประวัติศาสตร์งี้ ถ้าเป็นของช่องสามที่ดังๆ ปีก่อนก็จะเรื่อง "ข้าบดินทร์" จะมาฟันคอให้ขาดเห็นกระดูสันหลังช่วงต้นคอมันไม่ได้ อาจจะเลี่ยงด้วยการใช้มุมกล้องแทน  ซึ่งกลายเป็นจุดดีไปซะงั้น เพราะบรรดาผู้กำกับต้องสรรหามุมกล้องที่ดูสวยดูอาร์ท มาสื่อถึงเนื้อหาให้ได้ โดยที่ไม่ต้องให้เห็นอะไรแบบจะๆ แก่ตา

    อันนี้ไม่รุนแรง แต่อยากให้ดู ไม่ค่อยเห็นละครเรื่องไหนมารอช้อนแสงยามโพล้เพล้
    ให้พระเอกไปรำดาบข้างช้างพังตัวโปรดเพื่อรอช้อนแสง sillouette แบบนี้อะ (ภาพจากกระทู้ PANTIP)
    ถ้าใครอยากดูละครบทดี แคสติ้งนักแสดงคนและช้างดี มุมกล้อง CG ดีมาก มินิมอร์แนะนำข้าบดินทร์จริงๆ ประทับใจสุดๆ นี่อวย ขีดเส้นใต้ไว้เลย นี่แน่ะ

    เหมือนเราเขียนนิยายหรือการ์ตูน ถ้าต้องการให้คนอ่านอ่านได้ทุกเพศทุกวัย หากเนื้อเรื่องมีเหตุการณ์รุนแรง เราก็ไม่ต้องใส่ซะเต็มที่ก็ได้ แต่บรรยายาหรือใช้การเล่าเลี่ยงไปให้รู้ความแต่ไม่ต้องรู้จะแจ้งจนเป็นภาพติดหัวแบบที่ไม่เหมาะสม (เอาไว้เขียนในเรื่องที่เขียนได้เนอะ) นี่ก็ถือว่าเป็นการฝึกมือเหมือนกันนะ ว่าเราจะสามารถใช้ภาพและภาษา ทำให้คนอ่านเข้าถึงเหตุการณ์และอารมณ์ได้ โดยไม่ต้องโยนความรุนแรงใส่คนเสพ

    อย่าปล่อยให้ลูกอยู่กับโทรทัศน์ เพราะแทนที่จะเล่นเป็นขบวนการห้าสี อาจจะเล่นโรลเพลย์เรียลเบอร์นี้เลย via GIPHY
    (อันนี้จากเรื่อง Fresh Off The Boat เกี่ยวกับครอบครัวคนจีนที่อพยพไปอยู่ในอเมริกา ผีมาก แนะนำให้ดู)
  • 4. หาสิ่งที่แตกต่าง

    คุณสมรักษ์ได้กล่าวว่า 

    ทางช่อง 3 นั้นเลือกตลาดที่ค่อนข้างเป็นตลาดใหญ่ หรือ Mass และต้องการสร้างความแตกต่างให้กับตลาด เช่นเมื่อก่อนทำละครชุด (ประเดิมด้วย 4 หัวใจแห่งขุนเขา) แต่ว่าปัจจุบันนี้ละครชุดนั้นจะไม่ทำแล้ว นับเป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากใช้ระยะเวลาถ่ายทำนาน โปรดัคชั่นใหญ่ และยังมีปัญหาอื่นๆ อีก ทางช่องจึงต้องหาความแตกต่างอื่นๆ ต่อ

    ปัญหาที่ช่องเจอคือ เมื่อละครแนวหนึ่งฮิตขึ้นมา ก็จะมีคนทำพล็อตซ้ำๆ เหมือนฟังเพลงที่เนื้อหาแตกต่างไปนิดๆ หน่อยๆ แต่ว่าทำนอง และ Tempo (จังหวะ) คล้ายเดิม จึงพยายามหาคนที่สร้าง Plot แตกต่างได้




    การสร้างความแตกต่างไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในแง่ของการสร้างงาน ในฐานะที่มินิมอร์ก็เป็นคนสายนี้คนหนึ่ง (สาย 12 ห้วยขวาง ปากคลองตลาด) การค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเองที่จะสร้างความแตกต่างให้กับชิ้นงานนี่แม่งโคตรยาก (ขออนุญาตไม่สุภาพ) 

    แล้วทำไงให้แตกต่างอะ?
    รออ่านหัวข้อ "พล็อต" ตอนหน้านะ มีแน่นอน เราจะทิ้งค้างเติ่งในหัวข้อนี้ไว้งี้แหละ จะได้มาอ่านต่อ ในพาร์ทของคุณ "ยิ่งยศ ปัญญา" นักเขียนบทโทรทัศน์มือทอง! *หัวเราะฮุฮิ*


  • 5. มีอิทธิพลต่อคนดู สร้างมาตรฐานสังคมได้

    คุณสมรักษ์อธิบายว่า 

    ละครเรท ท.นั้นสำคัญ เพราะสามารถ influence คนดูได้ สร้างมาตรฐานให้สังคมได้ อย่างปีก่อนที่ทำโครงการ "พล็อตรักให้เป็นเรื่อง" ก็เน้นเรื่องครอบครัว หาความหลากหลาย และสามารถปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีได้ 

    เคยมองซีรีส์เกาหลีทำไมมีสุภาพบุรุษ ทำไมผู้ชายปฏิบัติต่อผู้หญิงดี แล้วละครไทยล่ะ? ก็เลยสร้างชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพขึ้นมา


    (ภาพจาก PANTIP)
    อันนี้ถือเป็นทัศนคติของคนสร้างงานที่ดีเลยล่ะ! แต่ถ้าจะให้ตอบคำถามว่าทำไมซีรีส์เกาหลีถึงมีละครที่พระเอกเป็นสุภาพบุรุษเยอะจังนะ นั่นเพราะเขาก็เจอปัญหาเหมือนเรานั่นเอง

    เกาหลีใต้นั้นแม้จะดูเจริญ แต่สตรีก็ยังถูกกดขี่ด้วยสภาพทางสังคมอยู่มาก ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการทำงานหรือการตัดสินใจภายในครอบครัว ผู้จัดละครเกาหลีเลยสร้างซีรีส์ที่พระเอกแสนนนจะเป็นสุภาพบุรุษขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงให้ติ่งข้ามชาติอย่างเรากรี๊ดกร๊าดมัวเมา แต่เพราะต้องการ​ "กล่อมเกลา" และสร้างบรรทัดฐานใหม่ของ gender equality ในชาตินั่นเอง แบบว่าผู้ชายชอบด่าผู้หญิงต่อหน้าคนอื่นเหรอ ก็จะเริ่มโดนผู้หญิงและรอบข้างประณาม 

    "แกมันเลวจริงๆ สู้โบกอมของฉันก็ไม่ได้! เล่นละครเป็นถึงเซจา องค์ชายรัชทายาทแสนสูงส่ง แต่ก็ยังมีน้ำใจให้กับคนรับใช้ ไม่มาจิกหัวด่าเขา หรือดูอย่างดูคิมแรวอนซิ เล่นเป็นคุณหมอฮงจีฮง รวยจะตาย ไม่ดูถูกคนจนเลย ทำอะไรก็คิดถึงใจนางเอก จะตัดสินใจทำอะไรก็คุยปรึกษากัน นี่ คนรักกันเขาทำแบบนี้"

    #มินิมอร์ไม่ได้อินเล้ย #มินิมอร์ไม่ได้ติดละครเล้ย
    แน่นอนว่างานสายอื่นก็เหมือนกันนะ เราสามารถสร้างงานสะท้อนสังคมได้จริงๆ ไม่ผิดหรอก แต่สะท้อนแล้วได้อะไรอะ? ถามตัวเองกลับ มันถึงเวลาหรือยังที่พวกเราจะต้องสร้างงานชี้นำสังคมได้แล้ว อาจจะไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ใส่ให้มันเป็นอะไรที่เล็กๆ น้อยๆ ซ่อนให้คนอ่านงานซึมซับก็ได้นะจ๊ะ :>


    ทรงพระคิวท์มากเพคะ!
  • 6. พล็อตอาจจะอ่อน แต่เสริมได้

    งานบางเรื่องที่เลือกมานั้นสนุกจนวางไม่ลง แต่บางเรื่องอ่านแล้วจบไม่ได้ ไม่อยากอ่านต่อ บางเรื่องก็พล็อตอ่อน แต่มีประเด็นให้เอาไปใช้ต่อได้ ว่าต้องการพูดอะไรกับคนอ่านคนดู ต้องการบอกอะไร

    "Truth ของ Fiction" ก็คือการพูดความจริงของมนุษย์ในแง่ไหนก็ได้

    นี่คืองานของการ "ทำบทโทรทัศน์" ไงล่ะ พื้นฐานของนิยาย/การ์ตูน เรื่องที่เสพด้วยการอ่านกับการดูนั้นต่างกัน คนดูจะพุ่งความสนใจและใช้สมาธิในแบบที่ต่างออกไป บางครั้งนิยายบางเรื่องที่ดีอยู่แล้วก็ต้องมีการใช้บทโทรทัศน์ปรับให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ไม่ใช่เพราะนิยายไม่ดีนะ แต่เพราะบางทีพอเอามานำเสนอเป็นบทโทรทัศน์แล้วจังหวะของเรื่องมันเนือยไป อืดไป จนไม่สามารถยึดคนดูให้สนใจได้ แล้วคนดูมีรีโมทในมือไง ก็กดเปลี่ยนช่องเฉยเลยงี้

    กลุ่มเป้าหมายของทางช่อง 3 ที่คุณสมรักษ์บอกกับพวกเราในวันนั้นคือแม่บ้านและคนเมือง (นี่อยากเสริมคุณสมรักษ์ว่าผู้ชายก็ติดละครนะเอ้อออ) ที่ทางช่องคำนึงคือหาเรื่องที่มีเอกลักษณ์มีความแตกต่าง และเลือกละครทุกประเภท ทุกแนว คือจะโรแมนติก-คอเมดี้ ดราม่า หรือว่าธริลเลอร์ ละครผีก็ยังได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ พล็อตและเส้นเรื่องบอกหรือให้อะไรกับสังคมไหม

    คนดูส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทางช่องเลยมองว่าผู้หญิงจะชอบอะไร อยากได้อะไร

    (เอาตอนหน้ามาไวๆ ดิ! via GIPHY )
  • 7. เรทติ้งคือตัวชี้เป็นชี้ตาย

    สิ่งที่ชี้เป็นชี้ตายคือเรทติ้ง ซึ่งทางช่อง 3 ใช้ AC Nelson ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงตัวเลขจากกล่องวัดสัญญานเท่านั้น แต่ทางเอเจนซี่เชื่อเรื่องกระแสสังคม ดูกระแสของสังคมด้วย เรียกว่าส่งคนออกไปเดินดูตามบ้านเรือนว่าเขาเปิดอะไรกัน

    ทางช่องมีการออกไปสัญจรต่างจังหวัด เพื่อวัดว่าคนรู้จักและสนใจไหม แล้วเอามาวัดกับเรทติ้งอีกที 

    มีการใช้ Social Network (จากนี้มินิมอร์ขอย่อว่า SNS นะ) โดยดูกระจายกันเป็นกลุ่มๆ ดูสถิติจาก Instagram หรือ Twitter บางทีก็แกล้งพิมพ์อะไรแรงๆ แล้วดูคอมเมนต์เพื่อวัดกระแส จากนั้นก็จะอธิบายให้คนเข้าใจ แล้วคนก็จะประทับใจ อธิบายต่อ คนก็จะได้ใจกัน ไม่หายไปไหน


    ยาวมาก พาร์ทนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ว่าเดี๋ยวนี้ SNS มีส่วนสำคัญในหลายอย่างๆ ทั้งการวัดสถิติ การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยิ่ง Twitter มีการใช้ #Hashtag ด้วยได้ เวลาเราดูละครไปเล่นทวิตเตอร์ไปแล้วกดอ่านแท็กไปด้วย ก็เหมือนมีเพื่อนดูมากมายเลยทีเดียว ละครบางเรื่องมีแต่แท็กชื่อเรื่อง แต่บางเรื่องมีอีเวนท์สำคัญและโดนใจคน ถึงกับมีคนสร้างแท็กแยกต่างหากให้ ล่าสุดก็อย่างเรื่องพิษสวาททางช่อง ONE ที่คนพูดถึงมาก แต่ที่พูดถึงไม่แพ้กันคือเพื่อนพระเอกที่ตามเขาไปถึงนรก! ไอ้บ้าาา ตามไปทำไม และด้วยความสนใจใครรู้เรื่องคนอื่นเกินพอดีนี้ ถึงกับมีแท็ก #ไม่เสือกสิเชษ ขึ้นมาเลยทีเดียว

    นอกจากนี้การพูดคุยติดต่อกับผู้ใช้ก็จัดเป็นเรื่องสำคัญมากกกก การมีช่องทางติดต่อแบบทันท่วงทีเรียกได้ว่าสามารถสร้างคะแนนบวกได้เลย หลายๆ แบรนด์ถึงกับต้องจ้าง "แอดมิน" ที่มาคอยตอบแยกต่างหาก เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับลูกค้า คือตอบเฉยๆ ไม่ได้ด้วยนะ ต้องสนุก ต้องฮา และมีลูกล่อลูกชนเมื่อมีการโต้ตอบ คลายข้อสงสัย ก็จะเกิดความประทับใจ ชื่นชม และมีการพูดถึงต่อๆ กันไป 

    (พูดถึงตรงนี้...มีอะไรมาถามเราได้ที่ @minimoreweb นะ ทักได้ เราไม่ดุ)

    แต่เคสของคุณสมรักษ์นี่มินิมอร์ก็เห็นแหละว่าท่านเล่น SNS เหมือนกัน แต่การที่ลงไปวัดด้วยตัวเองอย่างนี้นี่นับถือมากๆ ถือว่าเป็นการปรับตัวตามโลกได้ดี นอกจากนี้ยังได้เห็นคนดูจริงๆ โดยไม่ผ่านรายงานที่กรองมาแล้วหลายด่านด้วย

    ในสายการเขียนนิยายลงอินเทอร์เน็ตหรือเขียนการ์ตูน หลายเว็บก็มีการจัดเรทติ้งเช่นกัน เรื่องไหนที่มีเรทติ้งดีเมื่อได้ตีพิมพ์หรือมีผลงานออกมาให้ซื้อได้ ก็ค่อนข้างจะรับประกันยอดพิมพ์ที่สูงและรายได้ที่จะเข้ามา แต่!...ถ้าไม่หมั่นพัฒนาฝึกฝนตัวเอง คนอ่านที่เขาชอบอ่านจริงๆ และอ่านแบบพินิจพิเคราะห์ ก็จะมีการติติงมาบ้าง ว่าย่ำอยู่กับที่หรือเปล่า ไม่พัฒนาเลยเหรอ ใจคอจะเขียนชวนจิ้นชวนฟินอย่างเดียวใช่ไหม?

    ฉะนั้นแล้วคนสร้างงานต้องสมดุลตัวเองให้ดี ระหว่างงานที่มีคุณค่า งานที่มีเอกลักษณ์ และงานที่ถูกใจผู้อ่าน ถ้าถูกใจผู้อ่านแต่หาได้เรื่อยๆตามท้องตลาด เราอาจจะกลายเป็นพวกดังวูบเดียวแล้วดับ เป็น one hit wonder ก็ได้นะ

    เรามาสร้างงานที่จะทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืนและรุ่งเรืองกันเถอะ via GIPHY
  • โอย ยาวมาก เป็น 7 ข้อที่นานเหมือนเดินทางไปชมพูทวีป *เวอร์ไป๊* แต่มินิมอร์ยังมีเกร็ดเล็กๆ มาฝากอีกนะ! ลองอ่านกันเถอะ


    การหาเรื่องมาทำละคร ทางช่องต้องการอะไร 

    เพราะเจอเรื่อง 100 เนื้อทำนองเดียว เลยพยายามหาอะไรที่แตกต่าง 

    • บางทีก็เจอนิยายตัดแปะเอาหลายๆ เรื่องมายำ 
    • เรื่องย้อนยุค แต่หาหัวใจของเรื่องไม่เจอ ไม่บอกอะไรเลย จะดูความแตกต่างของคนในแต่ละยุคเหรอ หรือว่าดูเรื่อง gender equality ของผู้หญิงในอดีตและปัจจุบัน บางเรื่องแค่ย้อนไปเฉยๆ แต่ไม่ออกอะไร

    ละครที่เล่าทัศนคติ "ที่ถูกต้อง" ของคน

    • เล่าเรื่องความมานะของคน
    • เล่าเรื่องความรัก แต่มี sub-plot ที่ทำให้เรื่องแตกต่างจากนิยายรักธรรมดา

    คนดูไม่ได้รับไปตรงๆ แต่ซึมซับ

    • เพราะเหตุนี้นักเขียนเลยต้องค้นคว้าข้อเท็จจริงหรือ fact โดยเฉพาะทางการแพทย์ การปฐมพยาบาล งูกัดต้องทำยังไง?

    เรื่องที่เกี่ยวกับอาชีพช่องก็สนใจ

    • หัวข้อนี้มีส่วนช่วยให้ช่องเลือกเรื่องไปทำเป็นละคร
    • สามารถให้เรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพลงไปในเรื่องเพื่อสร้าง conflict ได้ กลโกงของธุรกิจก็เช่นกัน อย่างแอบรักออนไลน์ใส่เรื่องหุ้นเข้าไป
    • ข้อมูลที่ถูกและง่ายก็ทำให้คนสนใจ


    ทิศทางของช่อง 3

    • หาแนวเรื่องที่น่าสนใจ
    • ละครพูดถึงมนุษย์ ซึ่งเรียนรู้ประสบการณ์การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ผ่านละคร
    • ทำอะไรที่สัมผัสได้ ร่วมสมัย คนดูจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของละคร
    • ถ้าหานิยายที่น่าสนใจไม่ได้ก็ขอพล็อตเลย
    • อาจจะพูดเรื่องทั่วไป ไปใกล้ตัวเช่น เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร หรือเรื่องที่ใกล้ตัว Gen Y อย่างเรื่องโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ฐานที่เปลี่ยนไปของพ่อแม่ เรื่องเพื่อน conflict เหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามสังคม
    • หานิยายที่เขียนแล้วให้คนโบราณมีชีวิตขึ้นมาได้ สภาพแวดล้อมของข้าบดินทร์คือสิ่งที่อยากได้ หรือเรื่องชาติพยัคฆ์พูดเรื่องการเสียดินแดนในยุคล่าอาณานิคม


    ยาวมากมั้ย ถอนหายใจเฮือกใหญ่ล่ะสิ บอกเลยว่ามินิมอร์ที่เป็นคนเรียบเรียงเหนื่อยกว่า ไม่ใช่ว่าคุณสมรักษ์ท่านพูดไม่รู้เรื่องนะ ท่านพูดชัดเจนมาก เคลียร์มาก แยกย่อยง่ายสุดๆ ที่ยากคือมินิมอร์อ่านลายมือตัวเองที่จดไว้ไม่ออก *ทรุดลงไปซบหน้าร้องไห้กับหัวบันไดศิลปะโรโคโค่*

    สุดท้ายนี้ อยากจะฝาก Quote สำคัญของ คุณสมรักษ์ ณรงค์วิชัย ที่เคยได้พูดเอาไว้ในงานนั่นละ แต่แบบว่ามัน IMPACT มาก


    "ละครไม่ใช่งาน copy แต่เป็นงาน creative สร้างซ้ำคนไม่ดู"


    อ่านแล้วอาจจะเถียงในใจว่า เอ๊ะ ก็สร้างละครรีเมคๆๆ กันยันเต ไหนว่าสร้างซ้ำคนไม่ดู แต่!! ในการสร้างแต่ละครั้งก็ต้องมีการปรับให้เข้ายุคสมัยแหละเนอะ อย่างเรื่องขุนศึกที่เดิมพระเอกมีมากเมียเลื้อเกิน พอมาเป็นละครในยุคนี้ยังต้องขออนุญาตทายาทเจ้าของบทประพันธ์ในการปรับ ให้พระเอกมั่นรักแต่นางเอกเพียงคนเดียว (แถมขึ้นคำเตือนไว้ก่อนละครฉายอีก) ทั้งนี้ก็เพื่อเพื่อสร้างทัศนคติและบรรทัดฐานที่ดีให้คนดูซึมซับได้

    ตอนหน้า! (ยังจะมีอีกเหรอ! มีดิ เยอะด้วย) จากที่เหมือนได้เลคเชอร์เรื่องการตลาดไปแล้ว คราวนี้มาถึงสาย Creative ในการสร้างสรรค์งานโดยตรงกันบ้าง อาทิตย์หน้าพบกับนักเขียนบทโทรทัศน์มากฝีมือ อย่าง คุณยิ่งยศ ปัญญา ผู้ฝากฝีมือการเขียนบทโทรทัศน์เอาไว้จาก ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ทองเนื้อเก้า และล่าสุดละครม้ามืดอย่าง สุดแค้นแสนรัก ในสายตาท่าน "พล็อตที่ดี" คืออะไร และจะสร้างอย่างไร ติดตามเถอะ สนุกมากกกกกกกก 

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in