พล็อตแบบไหนดี? พล็อตแบบไหนคนจะชอบ แล้วเวลาทำงานหนนึงนี่ คนสร้างหรือเจ้าของสื่อเขามองอะไรบ้าง และมีเรื่องไหนที่คนเขียนจะต้องใส่ใจ มาฟังเลย มินิมอร์จะมาแถลงไข ฉันมุซาชิ โคจิโร่ (เดี๋ยวๆ ไม่ใช่แล้ว) เอาว่ามินิมอร์จะมาชวนอ่าน มหากาพย์แห่งการสร้างสรรค์งานเขียน เรียกได้ว่าตอนเดียวไม่จบแน่นอน!
เรียกว่าเป็น Introduction ก็ได้นะ
ทางสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ได้ให้เกียรติเชิญมินิมอร์ไปฟังเวิร์คช็อปพิเศษ สำหรับผู้ที่ส่งเรื่องเข้าประกวดโครงการ “พล็อตรักให้เป็นเรื่อง ปี2” ซึ่งเป็นการประกวดพล็อตนิยายรักเพื่อเฟ้นหาว่าเรื่องไหนดีและเหมาะสมเอาไปพัฒนาเป็นนิยายรวมเล่มจริง และพัฒนาต่อเป็นบทละครโทรทัศน์ ถ่ายทำจริง ฉายจริง!
เพื่อนๆ ที่อ่านอยู่อย่าเพิ่ง ฮื้มมม เบ้ปาก มองบน กลอกตา
เสวนานิยายรักเหรอ “เหย เขียน fiction นะ แต่ไม่เขียนนิยายรัก มันใช้กันได้เหรอ” หรืออาจจะคิดว่า “เขียนการ์ตูนอะ ให้มาฟังคนทำงานสายนิยายรักพูดเนี่ยนะ จะได้เรื่องปะแกรรร”
ได้เรื่องแน่นอน...มินิมอร์บอกเลย
เพราะก่อนมินิมอร์ไปนั่งฟัง มินิมอร์ก็คิดว่าตัวเองรู้มาเยอะแล้วนะ แต่ว่า! มันมีอะไรที่ต้องใส่ใจอีกมากมายเลย แล้วสามารถเอามาปรับใช้กับคนทำ fiction ได้หลายเรื่องด้วยแหละ เพียงแต่วิทยากรทั้งสามท่านนั้นได้ให้ความรู้ไม่กั๊กจริงๆ ยอมใจ นั่งฟังแล้วเพลินมาก ถ้าไม่มีอะไรคงไม่ต้องเหนื่อยเขียนยาวขนาดนี้
*นั่งร้องไห้เพราะรีบจดมากอ่านลายมือตัวเองไม่ออก*
ลองติดตามอ่านกันนะจ๊ะ ยาวมากจริงๆ จะร้องไห้
แม้ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตจะทำให้เราเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในตอนไหนก็ได้ (ยกเว้นเน็ตล่ม) แต่ยังมีใครที่อยากรีบกลับบ้านไปดูละครอีกไหม *มินิมอร์ยกมือ* เพราะการดูสดมันเพลินกว่านี่นา ถ้าดูย้อนหลังนี่ต้องดูบนคอมพิวเตอร์ หรือถ้าเปิดบนโทรทัศนก์ก็ขี้เกียจกดเข้าเน็ตอีก (ขี้เกียจไปมั้ย) เหตุที่ในยุคอินเทอร์เน็ตนี้ยังมีคนดูละครสดในโทรทัศน์ ก็เพราะอินเทอร์เน็ตอีกนั่นล่ะ!
ดูสดไปในโทรทัศน์ มือกดทวีต เล่น Twitter ใส่ # Hashtag ชื่อละคร แค่นี้ก็เหมือนนั่งดูละครกับเพื่อนๆ ที่รู้จักและไม่รู้จักกันอีกหลายคนแล้ว! นอกจากนี้แฮชแท็ก ของละครยังมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามเรื่องราวในละครด้วยนะ อย่างตอน ทัดดาว-บุษยา ฉาย (ช่อง 3 ปอ ทฤษฎี-พันช์) ก็มีแท็ก #ChaoHaPenGay เพราะเจ้าน้อยพระเอกหวั่นไหวกับสุทัศน์ที่เป็นผู้ชาย ตอน #สุดแค้นแสนรัก ก็ดูไปทวิตไปเสียจนกลายเป็นละครม้ามืด คนชวนดูกันปากต่อปาก
(ภาพจาก www.thaitv3.com )
ดูสิ เป็นยุคที่คนสะท้อนฟีดแบ็กได้ไวสุดๆ นี่จึงไม่ใช่ยุคมืดของละครโทรทัศน์หรอก แค่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหน่อยก็เท่านั้นเอง คือเริ่มอิงกับโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น อ๊ะ แต่อย่าคิดว่าการมาของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กจะมีผลต่อผู้บริโภคเสมอไป เพราะมันมีผลกับทั้งผู้จัดและผู้สร้างวรรณกรรมแง่ต่างๆ ด้วยนะ
แม้ของไทยจะยังเห็นไม่ชัด แต่มินิมอร์ขออนุญาตยกตัวอย่างซีรีส์จากเกาหลีใต้มาเป็นตัวอย่าง เมื่อช่วงปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการนำเอา webtoon (web+cartoon) ก็คือการ์ตูนออนไลน์ยอดฮิต อย่างเรื่อง Cheese in the Trap มาสร้างเป็นซีรีส์ทางช่อง tvN
ใช่ว่าจะมีแต่การ์ตูนเท่านั้นที่ถูกตาต้องใจผู้จัดจนกลายมาเป็นละครที่มีคนโลดแล่นอยู่บนจอจริงๆ ล่าสุดก็มี web novel ที่ถูกนำมาเป็นซีรีส์ฉายทางโทรทัศน์ และทำเรทติ้งพุ่งเกิน 20% ไปแล้วอย่าง Moonlight Drawn by Clouds ทำเอาพระนามติดโผยอดนิยม และยอดขายนิยาย (ฉบับที่รวมเล่มแล้ว) พุ่งขึ้น 400% เลยอะ
เห็นไหมว่าอินเทอร์เน็ตและการมาของโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้ส่งผลร้ายอย่างเดียว แต่มันเป็น "โอกาส" ที่จะเสนอผลงานของเราสู่สายตาผู้อ่านและผู้ผลิตด้วยล่ะ! แม้ในไทยสิ่งที่มินิมอร์ยกตัวอย่างมาจะยังเห็นไม่ชัดนัด เพราะยังเน้นการสร้างจากนิยายหรือวรรณกรรม แต่ว่า "แนว" ของการสร้างหลากหลายมากขึ้น
จากเดิมที่จะเป็นนิยายจากนักเขียนเก่า ก็เริ่มมีสไตล์การเอา "นิยายชุด" ร่วมสมัยมา ไม่ว่าจะเป็นชุด "สี่หัวใจแห่งขุนเขา" หรือจะเป็นนิยายวัยรุ่นอย่างเซ็ท "Ugly Duckling" ก็กลายเป็นซีรีส์ในยุคทีวีดิจิทัลเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าช่องเองก็มีการปรับตัวเพื่อที่จะได้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมหลากหลายมากขึ้นนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้จึงมีงานเสวนาครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการ "พล็อตรักให้เป็นเรื่อง" ได้ทำความเข้าใจกับหัวใจ เทคนิค รวมถึงสิ่งสำคัญในการสร้างพล็อตที่ดี สร้างงานที่มีคุณภาพ จนถูกหยิบไปทำเป็นละครได้นั่นเอง
แล้วเขาจะพูดเรื่องอะไรกันนะ?
มินิมอร์บอกตรงๆ ว่า ยาวมากกกกกกก สาระดีๆ ตั้งแต่พูดเปิดงานเลยเถอะ ลองไปอ่านกัน
คุณสมรักษ์ ณรงวิชัย (รองกรรมการผู้จัดการไทยทีวีสีช่อง 3) ได้กล่าวเปิดงานไว้ราวว่า...(ใช้ราวว่าเพราะมินิมอร์จดได้แต่หัวใจสำคัญน่ะ อย่าว่ากันเลย อ่านลายมือตัวเองไม่ออกแล้วจุดนี้)
- "ทางช่อง (3HD ช่องหลัก) เลือกเฟ้นหาบทนิยายดีๆ มาทำเป็นละคร เพราะพยายามพัฒนาสังคม จะเลือกสิ่งที่มีแง่คิดและสาระ"
คุณวรพันธ์ โลกิตสถาพร (กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด) ก็ได้พูดเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นวิสัยทัศน์คนทำหนังสือที่แตกต่างจากที่มินิมอร์เคยได้ยินพอควรเลยล่ะ ดีเยอะมากจนขอลิสต์เป็นข้อๆ ไปดีกว่า
- จัดเสวนาเพื่อยกระดับความคิด เพื่อการสร้างผลงานที่ดี ให้สมกับยุค Thailand 4.0 เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า
- ความสร้างสรรค์นั้นจะต้องมีมุมมองใหม่เติม ต้องรู้ให้มาก
- คนที่เขียนนิยายจะเพิ่ม value ให้ตัวเองได้ต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ แต่ก็อย่าละเลยตัวเอง (หมายถึงเอกลักษณ์ในงานตัวเองน่ะ)
- สื่ออื่นๆ คือสิ่งที่ คุกคามแย่งชิงเวลา คนในสายงานหนังสือต้องพัฒนาตัวเอง แม้มีมองว่าเป็นโอกาสพื้นฐานคนอ่านคนดูเป็นแฟนแล้ว แต่ก็ต้องคงความเป้นวรรณกรรมไว้ รักษาให้คนอ่านสนใจ ต้องมีความดีควบคู่ไปกับความสนุก
- เชื่อว่าเทศกาลหนังสือไม่หายไป
- มองว่า e-book เป็นโอกาสในการขาย
ส่วนคำถามที่ทำให้เกิดงานเวิร์คช็อปในวันนี้ก็คือ
พล็อตแบบไหนที่ทีวีดิจิทัลไทยต้องการ?
คำตอบคือ.....
รออ่านตอนต่อไปจ้ะ! เพราะวิทยากรผู้ร่วมเสวนาทุกท่านได้ให้คำตอบที่จริงจังมาก จนมินิมอร์จดไปหลายหน้ากระดาษ คำใบ้ที่จะให้ทิ้งไว้คือ "มนุษย์" "ความขัดแย้ง" "สร้างสรรค์สังคม" แล้วมินิมอร์จะเอามาให้เพื่อนๆ อ่านแน่นอน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in