เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
from the desert, with loveployapha.j
เล่าเรื่องราวของชาวเกาะเซเชลส์ผ่านเมนูอาหารกลางวัน
  • 10 June 2021

    เซเชลส์ ต้อนรับเราด้วยความชุ่มฉ่ำจากสายฝนที่ตกลงมาเป็นละอองบางเบาและสายหมอกที่ล่องลอยเอื่อยเฉื่อยอยู่เหนือภูเขาใหญ่ที่เต็มไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ ภาพตรงหน้านี้ทำให้เราผู้อยู่ในสภาพซอมบี้หลังจากอดหลับอดนอนทำงานมาทั้งคืนตื่นเต็มตาด้วยความรู้สึกสดชื่นค่ะ


    แน่ล่ะ ก็เพราะว่าการใช้ชีวิตอยู่เมืองทะเลทรายในช่วงฤดูร้อนนั้นสุดแสนจะโหดร้ายและเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง เนื่องจากอุณหภูมิในขณะนี้พุ่งทะยานไปถึง 45 องศาเซลเซียส(หรือบางวันก็มากกว่านั้น)และอากาศก็เต็มด้วยฝุ่นทรายตลอดเวลาทำให้เราไม่สามารถที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้เลยค่ะ หากจะออกไปไหนก็ต้องไปตั้งแต่รุ่งเช้าหรือรอให้พระอาทิตย์ทอแสงอ่อนลงในช่วงเย็นถึงจะออกไปใช้ชีวิตได้


    ฉะนั้นการได้ออกมาจากเมืองแห่งความมอดไหม้อันแสนจะร้อนระอุเหมือนเป็นนักเก็ตในหม้ออบลมร้อนแล้วเปลี่ยนมาอยู่ในสถานที่ที่ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้สีเขียว รับสายฝนและลมเย็นจากมหาสมุทรอินเดียนั้นเปรียบเสมือนโบนัสพ้อยท์ของชีวิตในช่วงสัปดาห์นี้เลยค่ะ



    ภูเขา Mahe ที่ปกคลุมไปด้วยหมอก
    มีเส้นทางเดินป่าเพื่อสำรวจพืชพรรณพื้นเมืองด้วย



    มาจะกล่าวถึงหมู่เกาะเซเชลส์กันเล็กน้อย ที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวในฝันของเราอีกแห่งหนึ่งเลยค่ะ เพราะเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ใจกลางของมหาสมุทรอินเดีย ประกอบด้วยเกาะทั้งหมด 115 เกาะ มี 3 เกาะหลัก คือ Mahe, Praslin และ La Dique แม้ว่าจะไม่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวฝั่งเอเชียมากเหมือนอย่างมัลดีฟส์ แต่หมู่เกาะแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในแหล่งดำน้ำที่สวยงามและมีชายหาดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชายหาดที่สวยที่สุดในโลกอีกด้วยค่ะ


    น่าเสียดายที่ในครั้งนี้เรามีเวลาอยู่ที่เซเชลส์เพียง 16 ชั่วโมงเท่านั้น จึงไม่สามารถออกไปเที่ยวข้างนอกหรือไปดำน้ำได้ ประกอบกับแม้ว่าเซเชลส์จะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเรียบร้อยหรือมีผล PCR Test ก่อนการเดินทางเป็นลบเข้ามาได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้เปิดทั้งประเทศทุกเกาะแต่มีการแบ่งเป็นโซนสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะแยกจากชุมชนค่ะ




    บรรยากาศของสนามบินที่นี่ชวนให้คิดถึงเกาะสมุยบ้านเราเลยค่ะ
    และคุณพนักงานในสนามบินน่ารักมาก มีความเป็น Islander สุดๆ น่ารักมาก





    โรงแรมที่เราพักอยู่นั้นตั้งอยู่บนเกาะ Eden Island ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจาก Mahe Island ที่เป็นเกาะหลักของที่นี่ค่ะ เราไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปนอกจากบริเวณของโรงแรมเนื่องจากเป็นมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด (แน่ล่ะ เจ้าพวกลูกเรือที่ดึ๋ง ๆ ไปมารอบโลกอาจจะมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายก็เป็นได้ แม้จะได้รับวัคซีนกันแล้วก็เถ๊อะ) เลยอดออกไปเที่ยวเล่นในเมือง Victoria เมืองหลวงของเซเชลส์ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่เล็กที่สุดในโลก แต่ก็ยังดีที่ไม่ต้องอุดอู้อยู่แต่ในห้องนอนอีกต่อไป สามารถลงมารับประทานอาหารในร้านและใช้พื้นที่ส่วนกลางได้ ฮูเร่!





    พื้นที่ของเกาะ Eden มีโรงแรม คาสิโน และร้านค้าเล็ก ๆ อยู่ค่ะ
    แต่ไม่มีชายหาดเนื่องจากรอบเกาะเป็นน้ำลึก เลยทำเป็นท่าเรือเทียบยอร์ชแทน








    ด้วยความที่ที่นี่เป็นเกาะกลางมหาสมุทร สภาพอากาศเลยค่อนข้างที่จะแปรปรวนค่ะ
    เดี๋ยวฝนตกปรอย ๆ เดี๋ยวแดดออกเปรี้ยง











    เราดีใจที่ในที่สุดก็ได้กลับมาอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าสีสดใสและลมทะเลเย็นสบาย ปลุกความเป็น island girl ในหัวใจมาก ๆ เลยค่ะ และแม้ว่าจะพักอยู่ที่นี่ไม่นานนัก มาถึงเช้า กลางคืนก็กลับแล้ว แต่เราก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเซเชลส์เล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านวัฒนธรรมอาหารของที่นี่ค่ะ


    ด้วยความที่เซเซลส์เป็นหมู่เกาะใจกลางมหาสมุทรอินเดียที่คั่นกลางระหว่างสองทวีปคือแอฟริกาและเอเชียเลยมีความผสมผสานกันระหว่างแอฟริกาและอินเดีย เมื่อกาลก่อนมีการค้าขายกับพ่อค้าอาหรับและโปรตุกีส ตลอดจนเคยเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส (อยู่ภายใต้การปกครองของ มอริเทียส อีกทีหนึ่ง) และต่อมาก็ตกเป็นของอังกฤษตามลำดับทำให้ที่นี่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมค่ะ


    เซเชลส์ไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองแต่มีผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่หลายชาติพันธุ์ โดยประชากรส่วนใหญ่คือชาวครีโอล นั่นก็คือคนที่ีสืบเชื้อสายจากแอฟริกัน ฝรั่งเศสและอินเดีย ซึ่งมีส่วนทำให้อาหารการกินของที่นี่มีความหลากหลายมาก หลัก ๆ แล้วจะรับประทานอาหารทะเลเป็นส่วนใหญ่ (แน่ล่ะ เพราะเป็นเกาะนี่นะ) มีข้าว และผัก เพิ่มความหอมอร่อยด้วยการใช้เครื่องเทศและสมุนไพรค่ะ

    สำหรับเมนูเด็ดดังของชาวเซเชลส์ที่แนะนำให้ลองกันไม่ใช่เมนูปลาหรือซีฟู้ดนะคะ แต่เป็น สตูว์ค้างคาว ค่ะ(!!!) เขาว่ากันว่ารสชาตินุ่มละมุนละไมเหมือนกับเนื้อวัวตุ๋นเลย น่าเสียดายที่ทางโรงแรมไม่มีเมนูนี้ให้ลิ้มลอง ไม่อย่างนั้นบันทึกด้วยรัก...จากทะเลทรายนี้ก็อาจจะได้เปิดจักรวาลรายการเปิบพิสดารของตัวเองนอกเหนือจากแนะนำร้านอาหารอร่อยหลังเที่ยงคืนแล้วค่ะ


    ส่วนเมนูที่เราสั่งมาลองชิมในวันนี้ ก็เป็นการไล่เรียงประวัติศาสตร์ของชาวเซเชลส์ในหนึ่งมื้ออาหารค่ะ และเนื่องจากวันนี้อากาศค่อนข้างร้อนนิด ๆ เราเลยอยากเริ่มด้วยเมนูเรียกน้ำย่อยที่เข้ากับบรรยากาศ เติมความสดชื่นกันเล็กน้อยโดยเริ่มจากจานนี้





    จากที่เราเล่าให้อ่านกันไปในตอนต้นว่าชาวอาหรับและชาวโปรตุกัสเป็นชนชาติแรก ๆ ที่ล่องเรือตะล๊อกต๊อกแต๊กมาทำการค้าขายกับเซเชลส์ แน่นอนว่านักเดินเรือและพ่อค้าก็ได้นำเอาเมนูอาหารจากบ้านเกิดติดตัวมาพร้อมกันด้วย


    Gazpacho เป็นซุปมะเขือเทศเย็นที่นิยมรับประทานกันในแถบคาบสมุทรไอบีเรียซึ่งก็คือทางตอนใต้ของสเปนและโปรตุเกส ความเป็นมาของเมนูนี้นั้นก็นานโข ต้องขอย้อนกลับไปยังยุคโรมันอันรุ่งเรืองที่เหล่าทหารกล้าต้องเดินทางไปรบเพื่อขยายความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร

    ทีนี้เวลาเดินทางไกลเขาก็จะพก Romanian Starter Pack ไปด้วย ซึ่งก็คืออาหารหลักของชาวโรมันอันประกอบไปด้วยขนมปัง น้ำมันมะกอก น้ำส้มสายชู กระเทียมและเกลือ (เหมือนเวลาไปร้านอาหารอิตาเลียนแล้วเขาเสิร์ฟขนมปังมาจิ้มกับน้ำมันมะกอกผสมกับบัลซามิก แค่เพียงเท่านี้ก็อร่อยแล้ว) แต่เขาเอาทุกอย่างมาผสมตำรวมกันหมดเลย หน้าตามันก็จะคล้าย ๆ กับซุปที่กินแบบเย็น ๆ ค่ะ

    แต่ซุปเย็นที่ว่านี้ก็ไม่ได้มาจากทางโรมันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหน้าตามันไปละม้ายคล้ายกับเมนูอาหารของชาวโมร็อกโก จึงพอจะอนุมานได้ว่าเมนูนี้ก็น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรมัวร์ซึ่งเป็นอาณาจักรของชาวมุสลิมที่รุ่งเรืองในแถบคาบสมุทรนี้พ่วงเข้าไปด้วย

    ทีนี้เมื่อสเปนล่องเรือไปค้นพบทวีปอเมริกา นักเดินเรือก็ได้หยิบเอาผลไม้สีแดงฉ่ำน้ำกลับมาฝากคนที่บ้านเกิดด้วยและสิ่งนั้นก็คือมะเขือเทศนั่นเอง หลังจากนั้นมะเขือเทศก็ได้เป็นส่วนผสมหลักของอาหารในแถบนี้นั่นเองค่ะ


    วิธีการทำ Gazpacho ก็ง่ายมาก (จากการไปขอสูตรจากเพื่อนร่วมงานชาวสเปนที่นั่งกินลมชมวิวอยู่ด้วยกัน) เริ่มจากเอามะเขือเทศ กระเทียม น้ำมันมะกอก บัลซามิก หัวหอมใหญ่ แตงกวา ขนมปังกรอบมาปั่นรวมกัน ปรุงรสด้วยเกลือแล้วเอาไปแช่ตู้เย็น จบ!

    ด้วยความที่ Gazpacho นั้นนิยมในแถบคาบสมุทรไอบีเรีย จึงไม่ได้มีแค่ในเฉพาะในสเปนเท่านั้น แต่แตกแขนงแยกย่อยออกไปหลายเวอร์ชั่น เช่น ชาวโปรตุกีสเรียกอาหารหน้าตาประมาณเดียวกันนี้ว่า Arjamolho ค่ะ

    ความแตกต่างก็คือเขาไม่เอาส่วนผสมมาปั่นรวมกันแบบทางของสเปน แต่จะหั่น ๆ สับ ๆ ให้พอได้ที่แล้วเอาไปตำให้พอแหลก ส่วนขนมปังก็ฉีกเป็นชิ้น ๆ แล้วใส่ลงไปเลยแบบไม่ต้องปั่น และจะต้องใช้ขนมปังแข็งเท่านั้น (Rustic bread ไม่รู้จะแปลว่าอะไรดี แหะ) เนื่องจากหากใช้ขนมปังนิ่มๆ แล้วจะทำให้เนื้อสัมผัสยุ่ย ๆ ไม่อร่อย แม้ว่าตัวขนมปังดังกล่าวจะเก่าและแข็งโป๊กแค่ไหนก็ตาม ส่วนน้ำส้มสายชูจะใช้น้ำส้มสายชูจากไวน์ขาว ที่สำคัญคือต้องเติมออริกาโนลงไปด้วยและจะต้องกินแบบเย็นจัด ๆ เท่านั้นนะเออ (ถึงขั้นที่บางทีก็ใส่น้ำแข็งก้อนลงไปด้วย)







    มาต่อกันที่อาหารจานหลักกันบ้างค่ะ เราสั่ง Catch of the day มาลองเพราะไหน ๆ มาทะเลแล้วก็ต้องลองหน่อยล่ะ จานนี้คือปลา Jack fish ค่ะ ชื่อไทยที่ไปกูเกิลมาคือปลามง เป็นปลาขนาดกลางที่พบเห็นได้บ่อย ๆ เวลาไปดำน้ำนั่นแหละ เขาเอามาย่างกับเครื่องเทศจนหอมอร่อย เสิร์ฟพร้อมกับข้าวบาสมาติเม็ดเรียวยาว ซึ่งข้าวชนิดนี้นิยมรับประทานกันในแถบอนุทวีปอินเดียและเข้าสู่โลกตะวันออกกลางผ่านพ่อค้าชาวอาหรับ โดยในเมืองทะเลทรายนิยมเอามาหุงกับหญ้าฝรั่นเพื่อเพิ่มความหอมค่ะ

    สำหรับตัวซอสสีเหลืองนั้นคือ mango chutney หรือที่เราเรียกของเราเองว่ามันคือแยมมะม่วงที่มีความเผ็ดเล็กน้อยพอซู่ซ่า เป็นเครื่องปรุงรสที่มีต้นกำเนิดจากอินเดียตะวันออก โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าจิ้มกับอะไรก็อร่อย

    ส่วนซอสสีส้ม ๆ แดง ๆ นั้นเป็นซอสสูตรพิเศษของชาวครีโอลในเซเชลส์โดยเฉพาะ เรียกว่า Lasos Kreol ซึ่งทำมาจากมะเขือเทศ พริกหยวก หัวหอมใหญ่ และกระเทียม ปรุงรสด้วยเครื่องเทศและพริก เป็นซอสที่เอาไว้รับประทานคู่กับปลาย่าง พอเอาทุกอย่างบนจานมารวมกันมารับประทานในคำเดียวก็คือ Perfect bite เลยค่ะ






    และแล้วก็มาถึงเมนูของหวานกันบ้างค่ะ ด้วยความที่พืชพรรณที่ขึ้นในเซเชลส์นั้นล้วนแต่เป็นพันธุ์ไม้เขตร้อนทั้งนั้นเลย ฉะนั้นของหวานที่ฮอตฮิตของที่นี่ก็ทำมาจากกล้วยและมะพร้าวเป็นหลัก จานนี้คือ Banana Flambé Fritters ที่เสิร์ฟพร้อมกับไอศกรีมมะพร้าวแสนอร่อยค่ะ


    แม้จะชื่อกล้วย แต่ผลไม้ชนิดนี้มีความเป็นมาไม่ง่าย ๆ กล้วย ๆ อย่างชื่อนะคะ คำว่า Banana นี้มาจากภาษาโปรตุกีส ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า Banan ในภาษาอารบิก แปลว่านิ้ว มนุษยชาติฝั่งตะวันออกอย่างเรา ๆ นั้นบริโภคผลไม้ชนิดนี้กันมาน๊านแสนนานแล้ว มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ด้วยนะเออ จนกระทั่งอเล็กซานเดอร์มหาราชยกกองกำลังมาถึงอินเดียก็มาจ๊ะเอ๋กับผลไม้ชนิดนี้ ทดลองชิมดูก็ว่าอร่อยดี ว่าแล้วก็หยิบกลับไปยังโลกตะวันตกเพื่อเป็นของฝากจากต่างแดนด้วย

    แน่นอนว่าพ่อค้าชาวอาหรับ(อีกแล้ว พี่ไปทุกที่เลยวู้ย)รับกล้วยมาแล้วส่งต่อเข้าสู่ทวีปแอฟริกาผ่านทางการค้า จนกระทั่งในสมัยล่าอาณานิคม กองทัพสเปนก็เอากล้วยติดไม้ติดมือไปยังดินแดนอเมริกาที่เพิ่งค้นพบค่ะ เหตุนี้เราจึงพบการปลูกกล้วยในหลายพื้นที่นอกจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อเอากล้วยไปปลูกเยอะแยะรอบโลกเลยทำให้มีสายพันธุ์กล้วยแตกย่อยออกมากหลากหลายมากกว่า 100 สายพันธุ์เลยทีเดียว


    ในเซเชลส์นี้ แม้จะเป็นหมู่เกาะที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เยอะมากก็มีกล้วยอยู่ประมาณ 20 สายพันธุ์ ผลไม้ชนิดนี้จึีงเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร โดยเฉพาะการทำขนม อย่าง Banana Flambé Fritters จานนี้นี่แหละค่ะ โดยนำวิธีการประกอบอาหารด้วยการทอดด้วยน้ำมันเดือดจัดๆ (fritter) มาจากทางแอฟริกาตะวันตกที่เป็นต้นตำรับ แต่ก็ได้นำมาพลิกแพลงเป็นสูตรของชาวเซเชลส์โดยเฉพาะ ไม่เหมือนกับเมนูนี้ที่สามารถหารับประทานกันได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกา กล่าวคือ หลังจากทำกล้วยชุบแป้งทอดในน้ำมันเดือดจัดเรียบร้อยแล้วจะตักขึ้นมาพักไว้บนจานเแก้วทนไฟ จากนั้นตั้งเตาไฟใหม่อีกรอบเพื่ออุ่น Takamaka rum เหล้ารัมประจำชาติของที่นี่ เมื่อเหล้าเริ่มอุ่น ๆ ก็ยกขึ้นมาราดลงบนกล้วยชุบแป้งทอดที่เตรียมไว้แล้วจุดไฟพรึบขึ้นมา พอไฟดับแล้วจึงยกเสิร์ฟพร้อมกับไอศกรีมมะพร้าวค่ะ บอกเลยว่าอร่อยมากกกกกกกกกกดาวล้านดวง!




    อิ่มอร่อย แฮปปี้ มีความสุข เอนจอยอากาศบริสุทธิ์ บรรยากาศดี
    ได้ออกมาใช้ชีวิตนอกห้องสี่เหลี่ยมแล้ว ยู้ฮู้วววว








    ต้อนรับวันใหม่ด้วยความสดใสกับเซอร์วิสอาหารเช้าก่อนแลนด์ดิ่ง




    และทั้งหมดนี้คือทริปเซเชลส์สั้น ๆ ที่น้อยกว่า 16 ชั่วโมงของเราค่ะ น่าเสียดายที่ครั้งนี้ยังไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหนเลย ทำได้แค่กิน ๆ นอน ๆ ปิ้งแดด แช่น้ำอยู่ในโรงแรมวนไปเท่านั้น หวังว่าโอกาสหน้าเราจะได้กลับมาเที่ยวและดำน้ำที่นี่อย่างจุใจ มั่นใจว่าจะต้องมีเรื่องราวของเซเชลส์ในมุมอื่น ๆ มาเล่าให้อ่านกันอย่างแน่นอนค่ะ



    ด้วยรัก…จากทะเลทราย


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in