ไม่ต้องเถียงกัน คนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัด'ปลาเห็ด Vs. ทอดมัน'มาจากไหน?

ประเทศไทยไม่ได้หมายถึงแค่กรุงเทพฯ ฉันใด ผู้คนในประเทศนี้ก็มีความหลากหลายฉันนั้น (เปิดมายิ่งใหญ่มากกกก) ทั้งหมดนี้ก็แค่อยากจะบอกว่าคำบางคำที่คนในเมืองเข้าใจว่าเรียกอย่างหนึ่ง คนในอีกหลาย ๆ จังหวัดเขาอาจจะเรียกคนละอย่างก็ได้ แต่ความพีคก็คือคนในเมืองมักจะไม่รู้ว่าคนในหลาย ๆ จังหวัดเขามีคำศัพท์เป็นของตนเองจึงมักจะมีเรื่องให้ถกเถียงกันบ่อยครั้ง

ที่เถียงกันบ่อยสุดคงไม่พ้น'ปลาเห็ด' (ที่หน้าตาเหมือนทอดมันนั่นแหละ) มินิมอร์อาสาไขข้อข้องใจให้เองว่าปลาเห็ดมาจากไหน ?



อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่น ๆ เชียว กับการให้ความหมายของสิ่งของที่เวรี่จะแตกต่างกันของคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัด เพราะนี่กลายเป็นประเด็นเด็ดที่สร้างเสียงฮือฮาอย่างมากในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กเฟนเพจ  เด็กบ้านนอก ที่รวบรวมเอาคำศัพท์ที่บอกเลยว่าหลายคนถึงกับอึ้งเพราะเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกในชีวิต เช่น บอลลูนด่านในหลาย ๆ จังหวัดเรียกว่า 'เตย' / เนิน ในแต่ละจังหวัดก็เรียกต่างกันไป เช่น มอ เทิก

นี่คือเพจที่ให้ความรู้เรื่องความหลากหลายของคำศัพท์อย่างแท้จริงเลยล่ะ (ถึงจะอยู่ประเทศเดียวกัน แต่บอกเลยว่าแต่ละภูมิภาคมีลักษณะเฉพาะอันหลากหลาย ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันก็ได้เนอะ)



แต่ที่สุดแห่งการถกเถียงกันเห็นจะไม่พ้นคำว่าทอดมัน กับ ปลาเห็ด ที่พอโพสท์ปุ๊ป ก็มีคนไลค์ คนแชร์กันอย่างล้นหลาม คนที่แชร์ไปก็บอกว่า เนี่ย ๆ บ้านฉันเรียกปลาเห็ด แต่พอมีคนเข้าไปถามก็ออกอาการอึ้ง ๆ ไปนิดนึงว่า เออ ว่ะ ปลาเห็ดมาจากไหน เป็นปลาที่เอามาปั้น ๆ เหมือนเห็ดหรอ หรือว่ายังไง ? ไม่ต้องทนความสงสัยอีกต่อไป มินิมอร์เอาคำตอบมาให้แล้ว

"...จริง ๆ แล้วคำว่าปลาเห็ดควรเพี้ยนมาจากคำเขมรว่า ปรอเหิต (เขียน ปฺรหิต) หมายถึงลูกชิ้นหรืออาหารที่เอาเนื้อสับปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วทำให้สุก ไม่ได้บ่งว่าต้องจำเพาะทำจากปลา เพราะยังสามารถเรียกได้ว่า ปรอเหิตเตร็ย คือลูกชิ้นปลา (เตร็ย-ปลา) พอคนไทยเรียกตามปากเขมรโดยเข้าใจว่าอาหารชนิดนี้ทำจากปลา เลยรวมคำเรียก ปรอเหิต เป็นปลาเห็ดโดยสร้างความหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับ (ปลาปั้นเป็นก้อนเหมือนเห็ด) ..." - ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร (สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์)


ใครจะไปรู้ว่าคำว่า'ปลาเห็ด'มีที่มาจากภาษาเขมร แต่ก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่ยืมคำภาษาต่างประเทศมาปรับใช้เป็นภาษาของเราตั้งหลายคำแหนะ (โจงกระเบนก็ภาษาเขมร ราชปะแตนก็มาจากภาษาอังกฤษ raja pattern ) ซึ่งเป็นเรื่องปกตินะ ไม่ใช่แค่ไทย หลายประเทศก็มีวัฒนธรรมที่ใช้ร่วมกันแบบนี้แหละจ้ะ 

ความหลากหลายทางภาษา ประเพณี วัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เรายืมกันใช้มานานแสนนานยังรอให้เราค้นพบอีกเยอะเลย ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนในประเทศของเราเองที่ในแต่ละจังหวัดก็มีอัตลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง หลายอย่างเราก็ยังเข้าใจแบบผิด ๆ หลายอย่างเราก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะ (หรือจะเถียงว่าเคยได้ยินคำว่าเตย เทิก ปลาเห็ด กะหลุก ที่เป็นคำจากหลาย ๆ จังหวัดมาก่อน?)

อ่ะ อ่ะ ถ้าเรื่องราวว่าด้วยต่างจังหวัด ชนบทยังไม่จุใจพอ ก็แวะไปหยิบ giraffe issue 33: COUNTRYSIDE ISSUE ที่จะชวนเราตั้งคำถามกับภาพชนบทอันสวยสด ว่าสวยจริงแค่ไหน ในทุ่งหญ้าสวยจับใจจะมีแง่มุมอะไรซ่อนอยู่บ้าง? นี่คือเรื่องราววิถีชีวิตของคนในประเทศเดียวกันที่หลายคนไม่เคยตั้งคำถาม มาเริ่มหาคำตอบเรื่องชนบทพร้อมกันวันพรุ่งนี้ (จันทร์ 7 มีนาคม)   แต่ถ้าไม่รู้จะไปหยิบอ่านจากไหน คลิกดูได้ที่นี่เลย

ที่มา: facebook fanpage: เด็กบ้านนอก,สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ คอลัมน์สุวรรณภูมิสโมสร,Raj_pattern

ภาพ:ลุงตุ่ย via oknation.net