ได้ยินคำว่าภาษีทีไรก็อยากมุดหัวลงดิน ทำไมมันดูยุ่งยาก น่าเบื่อและไกลตัวขนาดนี้เนี่ย เคยสงสัยไหมว่าภาษีบางประเภททำไมขึ้นเอ๊าขึ้นเอา จะขึ้นทีก็ขึ้นไม่เห็นปรึกษาใครเลย ตกลงภาษีจะขึ้นไปทำไมนักหนา แล้วประเทศอื่นเขามีภาษีแปลก ๆ บ้างไหมนะ ภาษีพวกนี้เก็บไปทำไม ? เก็บไปเพื่อใคร ? มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเถอะ!
1.ภาษีความอ้วน กินตามใจปากกันดีนัก มาเสียภาษีเพิ่มซะเลย
bigthink.com
อย่าเพิ่งตกใจไปล่ะ ไม่ใช่ว่าน้ำหนักเกินแล้วต้องเสียภาษีมากกว่าคนอื่นเขาหรอกนะ (ไม่งั้นคงมีคนแถวนี้ต้องไปต่อแถวเสียภาษีเพิ่มแน่ ๆ ) แต่ภาษีความอ้วนที่ว่านี้รัฐจะเรียกเก็บจากอาหารที่มันทำให้คนอ้วนขึ้น เช่น น้ำอัดลมที่ว้านหวานเอย ลูกกวาดเอย (บางที่ก็เรียกว่าภาษีน้ำตาล ก็เก็บกับอาหารหวาน ๆ เป็นส่วนใหญ่) ไปจนถึงอาหารจังค์ฟู้ดทั้งหลายก็รวมอยู่ในโหมดภาษีความอ้วนนี่ด้วย
ประเทศที่เก็บภาษีความอ้วน หรือภาษีน้ำตาลก็มีประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส ฮังการี และแม็กซิโก (ใครอยากไปอ้วนในประเทศเหล่านี้ ก็เตรียมเงินในกระเป๋าไปเสียภาษีให้พร้อมล่ะ)
kitchenette.jezebel.com
เจ้าภาษีความอ้วนนี้คนใหญ่คนโตเขาเรียกเก็บเพราะเชื่อว่าถ้าอาหารที่ทำให้อ้วนพวกนี้แพงขึ้น ๆ คนจะซื้อน้อยลง ๆ กินน้อยลง แล้วสุขภาพก็จะดีขึ้น (ถามใจตัวเองดู ถ้าเบคอน วิปครีม ขนมแพงขึ้น จะเลิกกินไหม)(ฉันรู้ทันหรอกว่าไม่เลิก!)
แต่ที่เดนมาร์คก็มีนักวิจัยออกมาบอกว่าเก็บเพิ่มไปมันก็ไม่เห็นช่วยอะไรเลย คนกินเท่าเดิม แถมค่าครองชีพแพงขึ้น คนหันไปซื้อของจากประเทศอื่นที่ถูกกว่า ดีอย่างเดียวคือรัฐได้เงินเพิ่มขึ้นนั่นเอง (แหม่ ประชาชนไม่อ้วน แต่รัฐอ้วนเอ๊าอ้วนเอา)
2.ฮิปสเตอร์ไว้หนวดทั้งหลาย เชิญพวกนายไปจ่ายภาษีเถอะ
โธ่ ใครจะไปคิดว่า'หนวด'ซึ่งเป็นตัวแทนของความฮิปในยุคปัจจุบัน ครั้งหนึ่งมันเคยให้ความรู้สึกป่าเถื่อน ไม่เป็นอารยะจนต้องบังคับให้คนโกนหนวดด้วยการเก็บภาษีมันซะเลย! (ดีแฮะ อยากให้คนเลิกทำอะไรก็แค่เก็บเงินให้แพงเข้าไว้นี่เอง) ย้อนกลับไปที่รัสเซียช่วงศตวรรษที่ 17 การมีหนวดมันหมายถึงความป่าเถื่อน ไม่เจริญ แต่คนก็ไว้หนวดเอา ไว้หนวดเอา เขาเลยเริ่มจัดเก็บภาษี ถ้ามีหนวดก็จ่ายมา ถ้าไม่มีก็แล้วไป
ไม่น่าเชื่อว่าจำนวนคนไว้หนวดก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลยล่ะ อ้อ ภาษีนี้ยกเลิกไปแล้วเรียบร้อย
3.เจาะหูหรือเปล่า ? มีรอยสักไหม ? ถ้าใช่ เชิญเสียภาษีเพิ่มจ้ะ
รัฐ Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกามีภาษีที่ไม่ได้สนใจแค่ว่าเราทำงานอะไร ได้เงินเท่าไหร่ แต่เป็นภาษีที่เข้ามาวุ่นวายกับร่างกายของเรา (ยิ่งกว่าโดนครูสมัยมัธยมตรวจเครื่องแบบอีก) เพราะถ้าเราเจาะหู เจาะจมูก เจาะคิ้ว หรือจะเจาะอะไรก็ตามเราต้องจ่ายภาษีด้วย เท่านั้นไม่พอ ถ้าเราอยากสักเราก็ต้องจ่ายภาษีอีก (อะไรจะขนาดนั้นนน) อัตราภาษีก็จะเก็บ 6% จากค่าเจาะ ค่าสักนั่นแหละ (เจ็บตัวแล้วยังต้องเสียตังค์อีก อะไรกันเนี่ย)
giphy.com
เมื่อ 6 ปีก่อนรัฐ California ก็เกือบจะบ้าจี้เก็บภาษีรอยสักกับเขาเหมือนกัน ผู้ว่าการรัฐฯบอกว่า California มีประชากร 37 ล้านคน มีคนมีรอยสัก 25 ล้านคนแหนะ(เอ้อ เยอะเหมือนกันแฮะ) เขาบอกว่าการที่มีคนสักเยอะขนาดนี้ สงสัยจะเสพติดการสัก (เอ่อ คิดได้ไงเนี่ย) ถ้าเก็บภาษีคนมีรอยสักเป็นอัตราต่อปี ต่อหนึ่งรอยสัก คนจะได้สักน้อยลง คนที่มีรอยสักอยู่แล้วก็จะได้เอาเงินเข้ารัฐมากขึ้น (คุณพระ!)(แม่เรายังไม่วุ่นวายกับร่างกายเราขนาดนี้เลยอ่ะเธอ)
4.รถติดก็ว่าแย่แล้ว ยังต้องเสียภาษีเพิ่มอีกเหรอ ?
"ถ้ารถติด โดนเก็บตังค์" หากสโลแกนภาษีนี้ถูกนำมาใช้ในกรุงเทพมหานคร ไม่อยากจะคิดเลยว่าปี ๆ นึงจะได้ภาษีมหาศาลจนสร้างรถไฟรางเดี่ยวได้กี่สิบราง ที่ Stockholm และ Gothenburg ของสวีเดนเขามีภาษีรถติด โดยกำหนดเขตไว้ว่าตรงไหนเป็นเขตที่รถติดเป็นพิเศษ เช่น เมืองชั้นใน ย่านธุรกิจ (ถ้าเป็นในกรุงเทพก็คงต้องกำหนดทั้งเมืองเลยแหละจ้ะ) ถ้าเมื่อไหร่รถของเราต้องขับเข้าไปในย่านรถติดนั้น ก็จะมีด่านใบเสร็จออกมาให้เราไปเสียภาษีเลย
หลักการก็ง่ายแสนง่าย ถ้าเราไม่อยากไปเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มปัญหารถติดให้กับเมือง เราก็อย่าขับรถเข้าไปในเขตรถติดนั้น อาจจะใช้รถรับจ้างสาธารณะแทน หรือไปกับเพื่อนจะได้หารค่าภาษีถูกลง แต่ถ้าไม่โอเคสักอย่าง ก็เชิญเสียภาษีกันตามสะดวกจ้ะ
5. โอเค ที่บ้านเลี้ยงวัวมั้ย ? ถ้าวัวตดจ่ายภาษีด้วย
inhabitat.com
สภาวะโลกร้อน กลายเป็นประเด็นที่ใคร ๆ ก็พูดถึง นอกจากประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเยอะเป็นพิเศษ จนต้องจ่ายตังเพิ่มตามปริมาณก๊าซที่ปล่อยเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ใครจะไปคิดว่าตดของวัวนี่แหละ เป็นตัวการของก๊าซเรือนกระจกกว่า 18% ของยุโรปเลย (คุณพระ!)
ประเทศในยุโรปทั้งหลายก็เลยตกลงกันว่าเราต้องรับผิดชอบต่อการตดของวัวที่เราเลี้ยงด้วย สำหรับประเทศที่มีอัตราภาษีวัวตดสูงที่สุดก็ต้องยกให้เดนมาร์คเขาเลย เพราะวัวหนึ่งตัวและตดของมันอาจทำให้เราต้องจ่ายภาษี 110 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,900 บาทเลยล่ะ
ุ6.ศิลปินไม่ต้องไส้แห้ง กับการเว้นภาษีเพื่อศิลปินในไอร์แลนด์
wix.com
ใคร ๆ ก็บอกว่าเป็นศิลปินต้องไส้แห้ง แต่ที่ไอร์แลนด์ใครที่เป็นศิลปินจะได้รับการยกเว้นภาษีด้วยนะ! แต่ก็ไม่ใช่อยู่ ๆ จะมาบอกว่าตัวเองเป็นศิลปินแล้วก็จบ ไม่ต้องจ่ายเงินล่ะ เราต้องมีผลงานและให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบว่าเราทำงานด้านศิลปะจริง ๆ จะเขียนหนังสือ แต่งบทกวี วาดรูป แต่งแพลง หรือสร้างสรรค์ประติมากรรม การยกเว้นภาษีให้ศิลปินแบบนี้ก็ยิ่งกระตุ้นให้คนในประเทศอยากเป็นศิลปินกันมากขึ้น ๆ (อืมม เป็นวิธีกระตุ้นที่ดี๊ดีเนอะ)
7.ภาษีหน้าต่าง ที่ยิ่งมีหลายบานก็ยิ่งเสียภาษีบาน!
ย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 18-19 ที่อังกฤษ สก็อตแลนด์เขาเรียกเก็บภาษีจากบ้านของคนที่มีหน้าต่างเยอะ (ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้คงจ่ายกันกระเป๋าฉีกเลยสินะ) ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาพยายามเก็บภาษีจากคนรวยนั่นเอง เพราะคนที่จะอยู่ในบ้านที่มีหน้าต่างเยอะ ๆหรือบ้านดี ๆ ได้ก็มีแต่คนรวยเท่านั้น เป็นการเก็บภาษีจากคนรวยอย่างแนบเนียนโดยไม่ให้คนรวยต้องโวยวายได้ดีทีเดียว
ตกลงภาษีแปลก ๆ พวกนี้มีไว้ทำไม ? มีไว้เพื่อใครกัน ?
telegraph.co.uk
ไม่ว่าภาษี 7 อย่างนี้จะแปลกจนเราอดอ้าปากค้างไม่ได้แค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือการเก็บเงินจากปัจจัยประหลาด ๆ เหล่านี้คือการที่ภาครัฐพยายามบังคับให้คนต้องลดการทำสิ่งนั้นลง
ทางหนึ่งก็เลยเหมือนจะดีที่มีมือที่มองไม่เห็นมาคอยกำกับดูแลสุขภาพ มาคอยบอกเราว่าไว้หนวดแปลว่าป่าเถื่อนนะ เลิกไว้เถอะ หรืออย่าสักเลยเดี๋ยวพวกเธอเสพติด (เป็นการเก็บภาษีเพื่อดูแลพวกเราอย่างห่วง ๆ นี่เอง)(โรแมนติกจัง)
gifsec.com
แต่อีกทางหนึ่งภาครัฐเป็นใครกัน ? เป็นเหมือนครูสมัยมัธยมหรือเปล่านะ ? หรือเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของคนทั้งประเทศ ? ถึงได้คิดแทนเราทุกคนได้ขนาดนี้เนี่ย เราอาจจะสักเพราะเราชอบสัก เราเห็นว่ามันน่ารักดี (ก็คนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันนี่นา) เราอาจจะชอบกินของอ้วน ๆ ไปบ้าง แต่เราอาจดูแลสุขภาพตัวเองอย่างหนักไปพร้อม ๆ กันก็ได้ (หรืออย่างหลาย ๆ ที่ก็เห็นว่าภาษีไม่ช่วยลดพฤติกรรมแต่อย่างใด)
peopleschoiceonline.wordpress.com
คงจะดีไม่น้อยถ้าภาษีบางประเภทที่เรียกเก็บเพราะความเป็นห่วงเป็นใยในชีวิต สุขภาพ และรสนิยมของเราทุกคนเปิดโอกาสให้เราได้แสดงความคิดเห็น ได้ถกเถียง ได้เลือกบ้าง เพื่อการรับฟังซึ่งกันและกันมากกว่าให้รัฐต้องคิดเองแบบเหงา ๆ โดยลำพัง (เป็นห๊วงเป็นห่วงกลัวจะเหงา)
ที่มา: apps.irs.gov,huffingtonpost.com,blogs.spectator.co.uk,weeklyworldnews.com,telegraph.co.uk,csmonitor.com