หลบหลังเวที คุยเรื่องวงการดนตรีกับป๋าเต็ด—ยุทธนา บุญอ้อม




            ชื่อของ ป๋าเต็ด—ยุทธนา บุญอ้อม เป็นชื่อที่เราทุกคนคุ้นหูเป็นอย่างดี เมื่อพูดถึงความบันเทิงในรูปแบบคอนเสิร์ตน้อยใหญ่ทั่วประเทศชื่อของชายคนนี้มักพ่วงติดมาด้วยเสมอ ทั้งในฐานะผู้บริหารบริษัท เกเร จำกัด ผู้บริหารบริษัท คลิกเรดิโอ จำกัด และแฟตเรดิโอ ผู้ก่อตั้งนิตยสารดนตรีในตำนาน อย่าง DDT ชื่อนี้เคยเป็นเจ้าของเก้าอี้ดีเจคลื่นกรีนเวฟและฮอตเวฟด้วย แต่เราจะย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น เมื่อปี 2531 ในวันที่ชื่อนี้ติดอยู่บนบัตรนักศึกษาฝึกงานแผนกคอนเสิร์ตในบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ งานคอนเสิร์ตครั้งแรกเป็นเรื่องที่เขาไม่มีวันลืม "ตอนนั้นเราได้รับหน้าที่เขียนสคริปต์ให้พี่หนุ่ย—อำพล ลำพูน ในคอนเสิร์ต 'เอาไมโครไปเลย' เราตื่นเต้นมาก ตั้งใจทำเต็มที่ พอถึงวันจริง พบว่าทั้งคอนเสิร์ตพี่หนุ่ยพูดสิ่งที่เราเขียนไว้แค่คำเดียว คือคำว่า 'สวัสดีครับ'" ป๋าเต็ดส่งยิ้มจบประโยคมาให้เราอย่างคนอาบน้ำร้อนมาก่อนแล้วหลายกะละมัง 
    และถูกน้ำร้อนลวกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
    เพราะการจัดงานแสดงสดนั้นไม่ต่างจากการเล่นกับไฟ ในเมื่อเราต้องควบคุมสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่บนเวที ผู้คนที่ทำงาน และผู้คนที่มาชมงาน ปัจจัยทางเทคนิค มวลอารมณ์ที่แตกต่างกันไป ทุกๆ วันของป๋าเต็ดจึงอุดมด้วยเหตุการณ์เฉพาะหน้าและปัญหาน้อยใหญ่ "ทุกวันนี้เรามีประสบการณ์มากแล้ว แต่มันก็มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์ แนวดนตรี การรวบรวมให้องค์ประกอบทุกอย่างมันนำความสนุกหรือความประทับใจไปสู่คนดูมันก็เปลี่ยนไปด้วย ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป" ป๋าเต็ดเล่าถึงความผิดพลาดครั้งสำคัญที่สอนให้รู้ว่าต่อให้เตรียมตัวดีแค่ไหน ก็พลาดได้อยู่ดี ต่อให้ไม่เลวร้ายอย่างที่คิดไว้ แต่ก็อาจเป็นไปในแบบที่คาดไม่ถึง เช่น ในเทศกาลดนตรี มัน ใหญ่ มาก ครั้งที่ 4 ซึ่งเกิดฝนตกหนักกลางเดือนธันวาคมจนทำให้ทั้งงานเลื่อนและเละอย่างควบคุมไม่ได้ เพราะไม่มีใครคาดฝันว่าฝนจะตกหนักกลางฤดูหนาว ในเมื่อไม่มีวิธีแก้ทุกปัญหาให้หายขาด ทางออกก็คือจินตนาการให้มันเลวร้ายที่สุดเสมอ เพื่อหาทางกำจัดปัจจัยเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด 
    เทศกาลดนตรีมัน ใหญ่ มากฝ่าด่านพิสูจน์ตัวเองมาแล้วถึง 6 ปี ว่ามันเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเทศกาลดนตรีระดับภูมิภาค ปีนี้ป๋าเต็ดจึงลงทุนรีเซ็ตครั้งใหญ่ (มาก) ด้วยการประกาศย้ายถิ่นจากเขาใหญ่เปลี่ยนไปจัดที่แก่งกระจาน เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้าง เป็นอิสระจากข้อจำกัดเดิมและทำให้สามารถปรับปรุงสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ การจัดการผู้คนเรือนแสนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังขยับใกล้เข้ามาในอนาคต ทั้งจำนวนผู้ชมที่เพิ่มขึ้น และวัฒนธรรมการชมคอนเสิร์ตที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงแนวดนตรีกระแสรองเริ่มมีบทบาทในหมู่วัยรุ่นทำให้คนจัดคอนเสิร์ตต่างต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ 
    "ความแคบลงของโลกทำให้การแสดงระดับโลกมาแสดงที่บ้านเราเป็นว่าเล่น หรือเปิดดูในยูทูบก็เห็นหมดแล้วว่าตอนนี้ต่างชาติเขาไปถึงไหน มาตรฐานการทำคอนเสิร์ตในบ้านเรายิ่งต้องพัฒนาให้ดีพอให้คนยอมจ่ายเงินมาร่วมงาน เมื่อเรารู้ว่าเขาชอบอะไรก็ต้องพยายามออกแบบให้เขาพอใจแต่ก็ต้องตอบสนองในเชิงฟังก์ชั่นด้วย มัน ใหญ่ มากออกแบบให้มีหลายเวทีตั้งแต่ครั้งแรก ก็เพื่อให้ศิลปินทุกแนวมาแสดงที่นี่ได้หมด เพื่อเตรียมรับความหลากหลายของแนวดนตรีที่นับวันยิ่งมากขึ้นแบบนี้แหละ" 
    เป็นสัจธรรมของโลกที่ทุกอย่างย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงรูปแบบของคอนเสิร์ตเท่านั้น เพราะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวตนของชายชื่อยุทธนา บุญอ้อมด้วยเช่นกัน
            "เดิมทีผมเป็นมนุษย์วันแมนโชว์ ที่โตมากับการทำรายการวิทยุ เปิดเพลง รับโทรศัพท์ พูดคนเดียวอยู่ในห้อง เคยชินกับการควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในมือของตัวเอง แต่การทำงานเทศกาลดนตรี คอนเสิร์ตแบบนี้มันเป็นเรื่องของทีมเวิร์กล้วนๆ มันทำให้เรารับฟังความเห็นมากขึ้น พร้อมที่จะยอมรับความผิดพลาดได้มากขึ้น" 
    การเผื่อใจจึงดูเหมือนจะเป็นยาสำคัญที่ทำให้งานซึ่งผิดพลาดได้ตลอดเวลาเช่นนี้ถูกนิยามว่าเป็นความท้าทายสำหรับเขา เพราะป๋าเต็ดกล่าวว่า คอนเสิร์ตแต่ละครั้งหวังไว้ 100 ได้สัก 70 ก็ดีใจแล้ว 
"แต่เคล็ดลับของพวกเราคือ เราจะแอบหวังไว้ 120% เสมอ"